เจาะลึกเทรนด์ AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคต จากงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future

เจาะลึกเทรนด์ AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคต จากงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future

KBTG x ลงทุนแมน
“AI จะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติ ทั้งในด้านการใช้ชีวิตและการทำงาน มากกว่าไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ต”
นี่คือคำพูดของ คุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG ในงาน KBTG Techtopia ที่กลับมาจัดเต็มอีกครั้งในธีม A Blast From the Future
ภายในงานมี 3 เวที จัดเต็มเกือบ 40 Session ตลอดทั้งวัน ให้ผู้เข้าร่วมงานเลือกรับชมรับฟังหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับโลก AI จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วน
เริ่มจากเวทีแรก Humanizing AI ที่จะพูดคุยถึงบทบาทของ AI และความสำคัญในชีวิตเรามากขึ้น โอกาสในการลงทุน และการดึงศักยภาพของ AI มาใช้งานอย่างถูกต้อง
เวทีที่ 2 Exploring Horizon ร่วมแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยี และกรณีศึกษาธุรกิจที่น่าจับตามองของไทย
เวทีที่ 3 Inspiring Case ที่รวม Speaker จากไทย เวียดนาม จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ มาผลัดกันเล่าถึงโปรเจกต์ที่ทำ บทเรียนที่ได้ ไปจนถึงเคล็ดลับสำหรับภาคธุรกิจ
ความน่าสนใจของงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เริ่มต้นด้วยคุณ Andrew Ng ผู้ก่อตั้ง DeepLearning.AI และยังเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้าน AI ของโลก ใน Session: The Opportunities and Risks in AI
300 ปีก่อน มนุษย์เริ่มใช้เครื่องจักรไอน้ำ
100 ปีก่อน มนุษย์เริ่มใช้ไฟฟ้า
80 ปีก่อน มนุษย์เริ่มใช้คอมพิวเตอร์
40 ปีก่อน มนุษย์เริ่มใช้อินเทอร์เน็ต
30 ปีก่อน มนุษย์เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น General Purpose Technology หรือเทคโนโลยีอเนกประสงค์ ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และยกระดับวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก
ปัจจุบัน AI ก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็น General Purpose Technology ในยุคนี้ เราจึงควรมอง AI เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น
ในอดีต หรือยุคแห่งการเทรน AI ยิ่งเรามีข้อมูลและโมเดลขนาดใหญ่เท่าไร ประสิทธิภาพก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น
แต่ปัจจุบัน เราอยู่ในยุค Generative AI ที่โมเดลสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งภาษา รูปภาพ เสียง วิดีโอ ไปจนถึงการเขียนโคด
ตัวอย่าง Generative AI ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่น ChatGPT, Gemini, Midjourney
จากเดิมที่เคยต้องเขียนโคดจำนวนมาก ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก และโมเดลขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนเป็นการเขียน Prompt หรือ คำสั่งในรูปของข้อความหรือคำถาม เพื่อสื่อสารให้ AI รู้ว่าคุณต้องการอะไร และ AI จะสร้างคำตอบที่เหมาะสมกลับมา
ซึ่งการเขียน Prompt ช่วยลดเวลาในการพัฒนา Software Applications ต่าง ๆ จากเวลาหลายเดือนเหลือแค่ไม่กี่วัน หรืออาจจะชั่วโมง
ตัวอย่างสิ่งที่เราสามารถทำได้แล้ววันนี้ เช่น การถามตอบคำถามต่าง ๆ การใช้ AI เป็นตัวช่วยเขียน Copywriter เขียนสรุปงานต่าง ๆ และเป็นผู้ช่วยคิด Co-Intelligence
เรียกได้ว่าอยู่ในยุคที่ Democratizing AI หรือยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ AI ได้แล้วอย่างแท้จริง นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะใช้ AI ยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งต่าง ๆ ที่ AI สามารถทำได้ดูจะเป็นโอกาส แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้
อาจทำให้หลายคนรู้สึกกังวลว่า AI จะเป็นอุปสรรค ที่จะมาแทนที่มนุษย์ไหม ?
เราจะตกงานเพราะ AI หรือเปล่า ?
ก็ต้องบอกว่า จากสถิติแล้ว มีเพียง 20-30% ของงานที่เราทำในปัจจุบันที่จะถูก AI มาแทนที่ แต่ส่วนที่เหลือมนุษย์ยังต้องรับผิดชอบต่อไป
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ AI จะเข้ามาแทนที่งานส่วนน้อยเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้ามาแย่งอาชีพของมนุษย์ ฉะนั้นเราไม่ต้องเป็นกังวลไปในส่วนนี้
ทีนี้เราคงพอเห็นภาพรวม โอกาส และความเสี่ยงของ AI จากมุมมองผู้เชี่ยวชาญกันบ้างแล้ว
ต่อไปเราลองมาดู AI จากมุมมองของภาคธุรกิจและองค์กรจาก Session อื่น ๆ ภายในงานกันบ้าง
เพื่อให้เข้าใจภาพของ AI ในเชิงเทคโนโลยี และในเชิงธุรกิจให้ลึกมากยิ่งขึ้น
ใน Session ที่ชื่อว่า Scaling AI: Beyond Demystification to Practical Application โดย
- คุณเชาวลิต รัตนกรไกรศรี จาก Microsoft Thailand
- คุณอาภาพร สกุลกิตติยุต จาก Microsoft Thailand
2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่โลกได้รู้จักกับ ChatGPT หรือ AI Chatbot ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ซึ่งเป็น Generative AI ชนิดหนึ่ง โลกใบนี้ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่ง AI ที่แท้จริง เพราะคนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้งาน AI ได้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ที่น่าสนใจคือ บริษัทระดับโลกหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยตรง ก็หันมาใช้ประโยชน์จาก AI เช่นกัน
เช่นการใช้ Azure AI Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการเครื่องมือและทรัพยากรของ Microsoft Azure อย่าง GPT-4 และโมเดลอัตโนมัติต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มประสบการณ์ของผู้ใช้
ยกตัวอย่างเช่น
- Coca-Cola, Unilever, Mercedes-Benz ใช้เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่
- Volvo, Unity Gaming, Rockwell Automation ใช้เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ
- PwC, KPMG, Heineken ใช้เพื่อเพิ่ม Productivity ให้พนักงาน
- H&M, NBA, ASOS ใช้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า
เท่ากับว่า AI เริ่มเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของผู้คนจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี
และหลังจากนี้ AI จะยิ่งทวีความสำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ต่อมาใน Session: Unlocking Efficiency and Agility: Maximizing Business Potential with AI Observability โดยคุณกวินธร ภู่ตระกูล จาก Dynatrace
รู้หรือไม่ว่า ? ในแต่ละวัน KBTG จะได้รับแจ้งเตือนจากระบบ Observability กว่า 1,200 เหตุการณ์ หรือราว 440,000 เหตุการณ์ใน 1 ปี จากปัญหาการใช้งาน Internet Banking, Mobile Banking, QR Payment, Payment Gateway
แต่มีเพียง 0.01% ของปัญหาเท่านั้น ที่ต้องการการแก้ไขเชิงรุก
ส่วนอีก 99.99% ของปัญหานั้น ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างปกติ
เพราะมี Robot ที่ทำการแก้ไขปัญหาอัตโนมัติ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีโซลูชัน Observability ซึ่งเป็นระบบที่ KBTG ทำร่วมกับ Dynatrace
นอกจากจะเห็นข้อมูลที่จำเป็นภายในซอฟต์แวร์หรือระบบต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมและสถานะได้อย่างต่อเนื่อง และเห็นต้นตอของปัญหาแล้ว
โซลูชัน Observability ยังสามารถทำนายปัญหาล่วงหน้าได้อีกด้วย เปรียบเสมือนนักสืบที่ช่วยแก้ปัญหาที่ KBTG ต้องเจอ โดยไม่จำเป็นต้องไปหาเอง
ยิ่งไปกว่านั้น การหยุดชะงักของบริการ ยังทำให้เกิดต้นทุนมหาศาลต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว การทำงานช้าเท่ากับการหยุดทำงาน
การใช้โซลูชัน Observability จะช่วยให้เราสามารถหารากของปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และยิ่งเราตรวจเจอปัญหาเร็วเท่าไร เราก็ยิ่งแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นเท่านั้น
นอกจากจะช่วยให้ KBTG สามารถนำเข้า วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลในปริมาณมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งการเติบโตของธุรกิจและพนักงานได้แล้ว ยังช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าธนาคารที่มาใช้บริการอีกด้วย
ต่อมาใน Session: How to Implement AI in Your Business โดย
- คุณภาณุเมธ เชษฐ์ประยูร จาก KBTG Labs
- คุณตติยวัสน์ กังสุกุล จาก KX
ผลสำรวจความเห็นของ CEO ทั่วโลกโดย PwC พบว่า 85% ของผู้บริหารเชื่อมั่นว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
คำถามต่อมาคือ ในเมื่อเรารู้แล้วว่า AI จะส่งผลต่อการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในไม่ช้า แล้วเราต้องนำมาใช้อย่างไร ? เริ่มจากตรงไหน ? หรือมีความท้าทายอะไรที่เราควรรู้บ้าง หากจะนำ AI ไปใช้ในธุรกิจ ?
มาลองฟังประสบการณ์ในมุมผู้พัฒนาและผู้ใช้งานในธุรกิจจริงกันเลย..
เราจะสามารถนำ AI มาใช้ได้อย่างไร ?
ต้องเริ่มจากหาผู้สนับสนุน AI ในองค์กรก่อน เพราะหากขาดการสนับสนุน AI ก็มักจะไม่ได้ไปต่อ จากนั้นค่อยหาวิธีการใช้งานที่ชัดเจน และนำไปใส่แผนการพัฒนาบริษัท เพราะ AI เป็นเรื่องของทุกคนในองค์กร
ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องของการ Synergy สำคัญมาก เพราะ AI ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เราต้องมี Tools อื่นเข้าไปร่วมด้วย
แล้วเราควรเริ่มจากตรงไหน ?
สำหรับธุรกิจในระดับองค์กรแล้ว อย่างแรกเลยคือ เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า
1. Core Business ของเราคืออะไร ?
2. ทรัพยากรในบริษัทที่เรามี พร้อมสำหรับการสร้าง AI หรือไม่ ?
เช่น ถ้าเราเป็น Netflix ก็เหมาะสม เพราะการใช้ AI แนะนำคอนเทนต์นำมาซึ่งรายได้หลัก
หรือถ้าทำธุรกิจประกันรถยนต์ แล้วนำ AI มาใช้ เพื่อช่วยในการประเมินร่องรอยการชน เพื่อพิจารณาการเคลม ก็เหมาะสม
ถ้า AI ไม่ได้มีส่วนช่วยสำคัญใน Core Business การสร้าง AI ขึ้นมาก็ไม่มีความหมาย
เพราะการสร้าง AI ต้องพร้อมไปด้วยเงินทุน และบุคลากรที่มีความชำนาญ ซึ่งเราต้องพิจารณาส่วนนี้ด้วย
เมื่อตอบคำถาม 2 ข้อนี้ได้แล้ว จะเข้าใจว่า เราควรจะซื้อ หรือสร้าง AI เอง เพราะ 2 อย่างนี้ต่างกันมาก
แล้วความท้าทายอะไรที่เราควรรู้บ้าง หากนำ AI ไปใช้ในธุรกิจ ?
1. เก็บข้อมูลไม่ครบ ข้อมูลไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มีการคัดกรอง หรือการจัดการในระบบเดียวกัน เช่น ยังจดข้อความบางอย่างบนกระดาษ
2. ทีมงานขาดองค์ความรู้ในเรื่องเฉพาะทางที่จำเป็น เช่น คำศัพท์เฉพาะทางในวงการนั้น ๆ
3. AI ใช้งบประมาณเยอะ ต้องมีการเตรียมตัวและความเข้าใจที่ดี
4. AI ไม่ได้แม่นยำ 100% เราจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตัวเลขนั้นใกล้เคียง 100% มากที่สุด
แล้วคำถามสุดท้ายคือ ถ้าเราต้องการพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้ในองค์กรจริง ๆ จะมีขั้นตอนอะไรบ้าง ?

1. ดูคุณภาพของข้อมูลที่เรามี เพราะข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในโลกของ AI
2. ตรวจสอบ Scope และความเป็นไปได้ในการพัฒนา
3. ลองพัฒนาและวัดผล เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุด
4. นำมาใช้จริงและดูแลรักษา
สุดท้ายนี้ เราต้องไม่ลืมว่า AI ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง ให้เอา AI มาใช้เป็นเพื่อนร่วมงาน AI และความรับผิดชอบต้องมาด้วยกันเสมอ เป็นเรื่องของทุกคนทุกแผนก โดยมีมนุษย์อยู่ที่จุดศูนย์กลาง
หลังจากได้ฟังมุมมองการประยุกต์ใช้ AI ของภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ จากหลากหลาย Session ข้างต้นไปแล้ว
ต่อมาเราลองมาดูภาพอนาคตของ AI กันบ้าง..
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ ปี 2030 โลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เพราะจะเกิดเหตุการณ์ Overhaul of World Economy หรือ การยกเครื่องใหม่ในทุกอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งจะทำให้ทุกอุตสาหกรรมถูกขับเคลื่อนโดย AI และในปีนั้น จะมี Domain-Specific AI (Vertical AI) หรือ AI ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น ด้วยคุณสมบัติเด่น เช่น
- Deep Domain Knowledge
- Industry Focus
- Better Price & Performance
- Faster Development
- Higher Accuracy
สำหรับประเทศไทย ถ้าเราดูจากแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับหน่วยงานพันธมิตร
จะพบว่ามี 10 จุดที่เน้นพัฒนา AI ใน 9 ภาคอุตสาหกรรม และ 1 ภาครัฐของไทย ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้เราวางแผนและเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
1. อุตสาหกรรมการผลิต ใช้ควบคุมการผลิต ประเมินอุตสาหกรรม และทดสอบ
2. อุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ใช้บริหารจัดการการใช้พลังงาน และวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
3. อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ ใช้เป็นผู้ช่วยแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้
4. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ใช้ทำให้ฟาร์มมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น และเพิ่มคุณภาพของอาหาร
5. อุตสาหกรรมการศึกษา ใช้พัฒนาให้กลายเป็น Smart Education และกระจายโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
6. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ใช้วางแผนการท่องเที่ยว เพิ่มคุณภาพการบริการ และเพิ่มคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว
7. อุตสาหกรรมระบบความปลอดภัย ใช้สร้างแพลตฟอร์มความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน เพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์
8. อุตสาหกรรมการขนส่ง ใช้ส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ รวมทั้งช่วยออกแบบแผนที่สำหรับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
9. อุตสาหกรรมการเงิน ใช้พัฒนาระบบ Credit Scoring และป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
10. ภาครัฐบาล ใช้ในการบริหารงานราชการ และงานบริการจากภาครัฐ
นอกจากนี้ คุณ Andrew Ng ยังมองว่า ประเทศไทยมีโอกาสด้าน AI อีกมาก
โดยเฉพาะ AI Application ที่มีโอกาสเติบโตและพลิกโฉมประเทศไทยในอนาคต คือ Healthcare, Tourism และ Agriculture
สิ่งที่เราควรทำคือ การโฟกัสที่จุดแข็งของประเทศ และทำให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI
สำหรับ KBTG เอง ก็มีการเตรียมพร้อมสำหรับยุคแห่ง AI ที่กำลังจะมาถึงเช่นกัน
ทั้งการตั้งกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร และการทำผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่าน KBTG Labs
ในด้านกลยุทธ์ KBTG ได้ตั้งกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ระดับโลก ภายใน 3 ปี
โดยกลยุทธ์นี้มีชื่อว่า Human-First x AI-First Transformation ซึ่งมีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ขยายขีดความสามารถด้านไอทีและเทคโนโลยีสู่ระดับโลก
2. เดินหน้าสู่การเป็น AI-First Organization ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI รวมถึงปรับกระบวนการทำงานภายในองค์กร
3. ขับเคลื่อนความสามารถในการผลิตด้วย M.A.D. โดยตั้งเป้าหมายที่ 1 แสน Mandays และทำงานเร็วขึ้น 2 เท่า ภายใน 3 ปี
4. เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถด้าน AI ให้กับพนักงาน KBTG รวมไปถึงบุคคลทั่วไป
5. ทรานส์ฟอร์มสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาคแบบเต็มตัว
6. พัฒนา KBTG ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีฝีมือ และใฝ่ฝันที่จะเติบโตในสายงานเทคโนโลยี
แล้วตัวอย่างผลิตภัณฑ์และบริการที่ทาง KBTG ได้จัดแสดงในงาน น่าสนใจอย่างไร ?
1. Orbix
กระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดดเด่นด้วยระบบความปลอดภัยสูง ใช้งานง่าย มีเหรียญคุณภาพให้เลือกหลากหลาย พร้อมเครื่องมือช่วยตัดสินใจลงทุน
ตอบโจทย์ทางเลือกการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ชูจุดเด่น มีฟีเชอร์ เครื่องมือ และข้อมูลที่ช่วยในเรื่องการลงทุน มาพร้อม 3 จุดเด่นหลัก ได้แก่
1) Wallet Lock ที่มีระบบการล็อกกระเป๋าสองชั้น ลูกค้าสามารถตั้งค่าเปิด-ปิด Wallet Lock ได้ด้วยตนเอง 
2) Price Alert ตั้งเตือนราคาได้ ไม่ต้องเฝ้าจอ
3) orbix Balance ระบบช่วยคำนวณต้นทุนเหรียญแบบอัตโนมัติ ทำให้รู้กำไรขาดทุนทุกเหรียญ โดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ยังมี Orbix INVEST ผู้ให้บริการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกลยุทธ์จัดการเงินทุน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง
มีทีมผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบริหารเงินลงทุน คัดกรองสินทรัพย์ บริหารกลยุทธ์จัดการเงินทุน ทั้งสินทรัพย์พื้นฐานและสินทรัพย์ดิจิทัลรวมกว่า 20 ปี
พร้อมทีมช่วยเหลือและให้ความรู้นักลงทุน หรือ Customer Support ที่คอยตอบคำถามและแนะนำการใช้บริการแก่นักลงทุน
โดยให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน Orbix INVEST ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้ลงทุนใช้งานง่าย ติดตามการลงทุนได้สะดวก ครบ จบในแอปเดียว
2. Kubix
ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ชั้นนำของไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ซึ่งมีแพลตฟอร์มและบริการแบบครบวงจรในการทำ Asset Tokenization
ตอบสนองทุกความต้องการในการระดมทุนของธุรกิจ ทั้งการระดมทุนแบบ Private Placement และ Public Offering พร้อมแอปพลิเคชัน Kubix ที่ออกแบบมาเพื่อนักลงทุนทุกประเภท
ตั้งแต่นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนรายใหญ่ ไปจนถึงนักลงทุนสถาบัน และในปีนี้ Kubix มุ่งส่งเสริม Green Tokenization เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน ปลดล็อกขีดจำกัดการระดมทุนแบบเดิม และต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน
3. Car AI
เทคโนโลยี AI ตรวจสภาพรถยนต์อัตโนมัติจาก KX ที่ช่วยประเมินความเสียหายจากภาพถ่ายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ด้วยเทคโนโลยี Computer Vision และ Machine Learning สามารถระบุตำแหน่งและความรุนแรงของความเสียหายได้อย่างแม่นยำ
เหมาะสำหรับธุรกิจประกันภัย ซื้อขายรถยนต์มือสอง และอื่น ๆ
แพลตฟอร์ม AI เพื่อสุขภาพทางการเงิน ช่วยบุคคลทั่วไปวางแผนการเงิน
และบริษัทจัดทำประมาณการทางการเงิน (Financial Projection) ปรับแต่งได้ตามความต้องการของธุรกิจ
5. Luna
แพลตฟอร์ม AI จาก KBTG Labs ช่วยธุรกิจปรับใช้ Large Language Model (LLM) ในงานประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP)
เช่น สร้างแช็ตบอต วิเคราะห์ความคิดเห็นลูกค้า สรุปข้อมูล และแปลภาษา
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่จากงาน KBTG Techtopia: A Blast From the Future
ที่แสดงให้เห็นว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกธุรกิจและชีวิตประจำวันของเราอย่างรวดเร็ว
สำหรับคนไทยแล้ว นี่คือโอกาสที่เราไม่ควรมองข้าม
เพราะการทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี AI
คือ กุญแจสำคัญ ในการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เลยทีเดียว..
Reference
- สัมมนา KBTG Techtopia: A Blast From the Future
#KBTG #KBTGTechtopia #KBTGTechtopia2024 #ABlastFromtheFuture

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon