ทำไม บางธุรกิจ ถึงเผาเงิน และยอมทนขาดทุนหนัก ทุกปี ?

ทำไม บางธุรกิจ ถึงเผาเงิน และยอมทนขาดทุนหนัก ทุกปี ?

ทำไม บางธุรกิจ ถึงเผาเงิน และยอมทนขาดทุนหนัก ทุกปี ? /โดย ลงทุนแมน
จากเหตุการณ์ที่ SCBX ได้ประกาศปิดตัวแอป Robinhood ที่มีการขาดทุนสะสม 3 ปีย้อนหลัง กว่า 5,500 ล้านบาท
หลายคนอาจสงสัยว่า อะไรทำให้ธุรกิจขาดทุนมากขนาดนั้น และทำไมถึงยอมทนขาดทุนมาหลายปี
แม้ Robinhood จะเริ่มมาจากโปรเจกต์ CSR ที่ไม่เก็บค่า GP กับร้านค้า (ซึ่งต่อมาก็เริ่มเก็บบ้าง แต่ก็เก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย)
แต่เหตุผลที่ขาดทุนก็ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะธรรมชาติของธุรกิจแพลตฟอร์ม มักแข่งขันกันด้วยการเผาเงินในช่วงแรก เพื่อกอบโกยลูกค้า จนเมื่อถึงจุดที่ครองตลาด หรือมีฐานลูกค้ามั่นคงแล้ว จึงค่อย ๆ รีดกำไรออกมาทีหลัง
อย่างเช่น Grab ในบ้านเรา ที่แรก ๆ ก็ขาดทุนหนักเหมือนกัน แต่ตอนนี้สามารถทำกำไรได้แล้ว
ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ธุรกิจดิลิเวอรีเท่านั้น เพราะยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีกมากที่เคยขาดทุน แล้วพลิกกลับมามีกำไร
ธุรกิจไหนบ้าง ที่เผาเงินเพื่อหาลูกค้า
และนานแค่ไหน กว่าจะมีกำไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าเป็นธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการดีจริง เป็นที่ต้องการอย่างมาก กิจการอาจไม่ต้องทำอะไรมาก ก็มีความต้องการซื้อเข้ามาตลอด
เช่น นาฬิกา Rolex หรือ ชิป AI จาก NVIDIA ที่มีลูกค้าแย่งกันซื้อ ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาขายได้ตามใจ จนปีที่ผ่านมา NVIDIA มีอัตรากำไรสุทธิกว่า 50%
แต่สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่สินค้าสามารถทดแทนกันได้ง่าย หรือแข่งขันกันดุเดือด โดยเฉพาะธุรกิจประเภทแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่างเช่น แพลต์ฟอร์มโซเชียลมีเดีย, สตรีมมิง, แอปเรียกรถหรือสั่งอาหารแล้ว
ก็ต้องแย่งกันสร้างฐานลูกค้าให้เร็วและมากที่สุด เพื่อครองตำแหน่งผู้นำ จะได้อยู่รอดในตลาดได้
ธุรกิจประเภทนี้ จึงไม่สามารถนั่งรอลูกค้าเดินเข้ามาหาได้ และต้องออกไปใช้วิธีเผาเงิน เพื่อตักตวงลูกค้า เข้ามาให้ได้มากที่สุด แล้วหวังว่า ลูกค้าที่ได้มาอยู่ในมือ จะทำให้ธุรกิจมีกำไรได้ในอนาคต
โดยจะมีอยู่ 2 ทาง คือ ไม่ไปแย่งลูกค้า มาจากคู่แข่ง
ก็ต้องหาวิธีสร้างฐานลูกค้าใหม่ ขึ้นมาเอง
เริ่มกันที่แบบแรกคือ เผาเงินเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง
ธุรกิจที่เลือกกลยุทธ์นี้ส่วนใหญ่แล้ว จะอยู่ในทะเลเลือด ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่รุนแรง มีคู่แข่งที่พร้อมเข้ามาแย่งลูกค้าไปจากมืออยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ก็เป็นตลาดอิ่มตัว มีการเติบโตน้อย และมีแต่ลูกค้าหน้าเดิม ๆ ที่ย้ายฝั่งกันไปมา
การแข่งขันแย่งลูกค้า จึงเต็มไปด้วยการอัดโปรโมชัน โคดส่วนลด ให้ใช้ฟรี หรือทำทุกอย่าง เพื่อให้คนเข้ามาใช้งานให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจดิลิเวอรี ซึ่งในไทยก็มีทั้ง Grab, LINE MAN, foodpanda, Robinhood ฯลฯ โดยบางรายก็ยกธงขาว ออกจากตลาดไป
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย
มีเพียงแค่ Grab รายเดียวที่ทำกำไรได้ ซึ่งกว่าจะมีกำไร Grab ประเทศไทย ก็เคยประสบปัญหาขาดทุนปีละหลักพันล้านบาท มาก่อนเช่นกัน
ในขณะที่เจ้าอื่นอย่าง LINE MAN, foodpanda ก็ยังขาดทุนอยู่
หรือจะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องให้คนเข้ามาซื้อขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการขายที่เพิ่มขึ้น
โดยตอนปี 2020 Shopee และ Lazada ในไทย ขาดทุนรายละราว ๆ 4,000 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้น ทั้งคู่ก็เริ่มทำกำไรได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Shopee มีกำไร 2,166 ล้านบาท ส่วน Lazada มีกำไร 605 ล้านบาท
แต่เนื่องจากตลาดของทั้งคู่ ก็คือ ประเทศไทย ที่มีกำลังซื้อและจำนวนลูกค้าจำกัด แถมสินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มแทบไม่ต่างกัน
ฐานลูกค้าของทั้ง 2 เจ้า จึงเรียกได้ว่าซ้อนทับกันแบบแนบสนิท
ทั้งคู่จึงเลือกขยายการเติบโต โดยการไปจับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องคือ การทำขนส่งของตัวเอง ทั้ง SPX Express และ Lazada Express เพื่อส่งสินค้าให้คนสั่งซื้อ โดยไม่ต้องพึ่งพาขนส่งรายอื่น
โดยธุรกิจนี้แทบไม่ต้องทำการตลาด เพราะเป็นธุรกิจที่รับส่งของให้กับธุรกิจในเครือ ทำให้ธุรกิจขนส่งของตัวเอง กลายเป็นอีกแหล่งรายได้ใหม่ไปทันที
ที่พูดไป คือตัวอย่างธุรกิจ ที่ช่วงแรกเผาเงินอย่างหนักเพื่อสร้างฐานลูกค้า จนขาดทุนมหาศาล แล้วพอเป็นผู้นำตลาดได้แล้ว และคู่แข่งเริ่มล้มหายตายจากไป
เจ้าตลาดที่เหลือรอด ก็จะค่อย ๆ ลดการขาดทุนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ลดการแจกโคดส่วนลด หรือโปรโมชันลง จนกำไรเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น
รวมถึงต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สร้างเป็น Ecosystem
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกธุรกิจ ที่จะขยายการเติบโตจากธุรกิจได้อย่างราบรื่น และการันตีว่า เมื่อเป็นเจ้าตลาดแล้ว จะทำกำไรได้
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสตรีมมิงเพลง ซึ่ง Spotify ก็ยังไม่เคยทำกำไรได้เลยตั้งแต่ก่อตั้งมา..
เพราะโมเดลของธุรกิจนี้ มีต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะค่า Royalty Fee ที่เป็นค่าลิขสิทธิ์เพลง-พอดแคสต์ ซึ่งต้องจ่ายให้กับเจ้าของผลงาน หรือเจ้าของลิขสิทธิ์
และยิ่งมีคนฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ มากเท่าไร Spotify ก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของผลงาน มากขึ้นเท่านั้น
แถมในตลาดสตรีมมิงเพลง มีแต่ยักษ์ใหญ่เงินทุนหนา ร่วมลงสนาม ไม่ว่าจะเป็น Apple Music, YouTube และอื่น ๆ อีกหลายรายที่พร้อมเข้ามาแบ่งรายได้กับ Spotify อยู่ตลอดเวลา
จึงบีบให้ Spotify อัดงบค่าโฆษณาและการตลาด เพื่อแย่งชิงลูกค้ากับคู่แข่ง
ซึ่งปัจจุบัน รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของ Spotify จะขาดทุน 4 บาท
และก็เกิดเป็นคำถามว่า โมเดลของ Spotify จะยั่งยืน และมีวันที่ทำกำไรได้จริงหรือไม่..
ส่วนอีกแนวทางก็คือ การเผาเงินเพื่อ “สร้างลูกค้าใหม่”
ธุรกิจที่ใช้แนวทางนี้ มักเป็นธุรกิจที่มีโมเดลหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ฐานลูกค้าในช่วงแรก อาจมีจำนวนน้อย และจำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะธุรกิจกำลังสร้างตลาดขึ้นมาใหม่
ตัวอย่างเช่น Tesla ของคุณ Elon Musk ที่ยอมขาดทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรก และขาดทุนมาตลอด โดยปี 2018 ขาดทุน 36,000 ล้านบาท และปี 2019 ขาดทุน 31,800 ล้านบาท
ซึ่งนอกจากการเผาเงินไปกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างโรงงานใหม่แล้ว Tesla ยังทุ่มเงินไปกับการสร้างแบรนด์
จนเมื่อแบรนด์ติดตลาดมากขึ้น Tesla ก็สามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าไปได้ทั่วโลก และพลิกมามีกำไรได้สำเร็จในปี 2020 เป็นต้นมา
ส่วนเงินที่นำมาเผา ก็มาจากหลากหลายช่องทาง เช่น เงินทุนที่ระดมทุน การออกหุ้นกู้ และเงินสนับสนุนอื่น ๆ ที่ Tesla ได้รับ
รวมถึงเงินหมุนเวียนที่ Tesla หามาเอง จากการให้ลูกค้าจ่ายมัดจำสั่งจองรถก่อนผลิตจริง เพื่อให้บริษัทได้เงินมาเป็นทุนในการผลิตรถ
นอกจาก Tesla แล้ว ก็ยังมีธุรกิจที่เผาเงินเพื่อหาลูกค้าใหม่อีกมาก เช่น
- Netflix ซึ่งเดิมทีทำธุรกิจให้เช่าวิดีโอทางไปรษณีย์ ก่อนจะหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิง ในปี 2007
โดย Netflix ต้องทุ่มเงินจำนวนมาก ในการขยายฐานคนดูและหาลูกค้าใหม่ ทั้งจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม การซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์มาฉาย รวมถึงการทุ่มเงินพัฒนาออริจินัลคอนเทนต์เป็นของตัวเอง
- Amazon เริ่มธุรกิจขายของออนไลน์ จากการขายหนังสือ ก่อนจะมีสินค้าอื่นตามมา ซึ่ง Amazon ก็ขาดทุนตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1994 และกว่าจะมีกำไรเป็นครั้งแรก ก็เผาเงินไปกับการลงทุนพัฒนาระบบและบริการ กว่า 7 ปี
- Airbnb ที่มีไอเดียให้คนนำบ้าน ที่พัก มาแบ่งปล่อยเช่ารายวัน ก็เริ่มต้นด้วยการขาดทุนตั้งแต่ปี 2007 และเผาเงินไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมถึงสร้างเครือข่ายที่พักและผู้ใช้งานทั่วโลก โดยใช้เวลาถึง 9 ปี กว่าจะมีกำไร
สุดท้ายแล้ว แนวคิดธุรกิจเผาเงิน ก่อนทำกำไร ก็ดูเป็นท่าประจำของธุรกิจที่กำลังอยู่ในทะเลเลือด ธุรกิจสตาร์ตอัป หรือยังเป็นนวัตกรรมเกิดใหม่ ที่ผู้คนยังไม่รู้จัก
แต่คำถามสำคัญ ที่เป็นหัวใจของการใช้กลยุทธ์เผาเงิน คือ ธุรกิจนั้นมีเงินมากแค่ไหนให้เผา และมากพอ ที่จะอยู่รอดจนถึงวันที่มีกำไรได้หรือไม่..
เพราะจากตัวเลขของแต่ละบริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้สำเร็จ ก็อย่างน้อย ๆ 5 ถึง 10 ปี
หากรู้ว่าเงินทุนที่เหลือมีไม่มากพอที่จะต่อชีวิตกิจการไปจนถึงวันที่มีกำไร
หรือเงินที่ต้องใช้เติมเข้าไป เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ อาจมากเกินไปจนไม่คุ้มค่า
การตัดสินใจแบบ SCBX ที่ตัดจบ Robinhood ไปหลังจากเปิดให้บริการมาได้เพียง 3 ปีกว่า ๆ
ก็เป็นอีกวิธีที่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon