สรุป การซื้อ DRx คุ้มค่าแค่ไหน เมื่อเทียบกับซื้อหุ้นนอกตรง โดยใช้หุ้น Berkshire Hataway เป็นตัวอย่าง

สรุป การซื้อ DRx คุ้มค่าแค่ไหน เมื่อเทียบกับซื้อหุ้นนอกตรง โดยใช้หุ้น Berkshire Hataway เป็นตัวอย่าง

สรุป การซื้อ DRx คุ้มค่าแค่ไหน เมื่อเทียบกับซื้อหุ้นนอกตรง โดยใช้หุ้น Berkshire Hataway เป็นตัวอย่าง /โดย ลงทุนแมน
วันนี้เป็นวันแรกที่เราสามารถซื้อหุ้น Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้บน Streaming ตลาดหลักทรัพย์ไทย ผ่าน DRx ชื่อ BRKB80X ลงทุนแมนจะมาคำนวณให้ดูว่าหลักคิดของ DRx เป็นอย่างไร และซื้อแล้วมันมีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่มากน้อยขนาดไหน
ถ้าพร้อมแล้วเริ่มเลย
DRx เป็นตราสารการเงินรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ในการที่ทำให้ซื้อหลักทรัพย์ไทย โดยอ้างอิงกับหุ้นนอกได้
อย่างกรณีนี้ผู้ออกหลักทรัพย์ คือ ธนาคารกรุงไทย
ใครจะไปคิดว่าผู้ออกหลักทรัพย์จะเป็นธนาคาร ทั้งที่เราคุ้นเคยกันว่าผู้ออกหลักทรัพย์ทั่วไปจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์
และธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ออก DR DRx มากที่สุดในประเทศไทย
แปลว่าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของธนาคารกรุงไทยค่อนข้างล้ำหน้ากว่าคู่แข่งอยู่พอสมควร
สาเหตุที่ลงทุนแมนคาดเดาก็คงเป็นเพราะว่า ธนาคารมีความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาก เพราะมีหน่วยงาน Treasury ในตัวเอง ซึ่งจะทำให้มี Spread ที่บางเฉียบในเรื่องนี้ แตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปที่จะมีต้นทุนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่
BRKB80X คือตราสารใหม่ล่าสุด และลงทุนแมนขอถือโอกาสนี้ใช้เป็นตัวอธิบาย ว่าทำไมเราถึงสามารถถือหุ้น Berkshire Hataway ผ่าน BRKB80X ได้
คำตอบก็คือ ธนาคารกรุงไทยกำหนดให้ หุ้น Berkshire Hathaway Class B (BRK B 1 หุ้น มีมูลค่า BRKB80X 10,000 หน่วย)
วิธีการ ของการบริหารมูลค่านี้คือ ธนาคารกรุงไทยจะทำหน้าที่เป็น Market Maker โดยหากมีความต้องการซื้อหุ้นนี้ ธนาคารกรุงไทยก็จะไปซื้อหุ้น BRK B ต่อในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา และเอามา Offer ขายให้กับในตลาดหลักทรัพย์ไทย
ในตรงกันข้ามถ้ามีคนต้องการขาย ธนาคารกรุงไทยก็จะไปขายหุ้น BRK B เพื่อเอาเงินมา Bid รับซื้อในตลาดหลักทรัพย์ไทย
แล้วธนาคารกรุงไทยทำไปแล้วได้อะไร
คำตอบก็คือ “ส่วนต่าง” จากราคาซื้อขายจากการทำหน้าที่เป็น Market Maker
เมื่อดูตัวอย่างจากในรูปนี้ คนตั้งที่ซื้อที่ Bid 1.49 บาท กับคนตั้งขาย Offer ที่ 1.50 บาท จะมีส่วนต่างประมาณ 0.7%
ถึงแม้ว่าจะดูไม่มาก แต่ถ้าคนซื้อขายเป็นจำนวนเยอะ ๆ ก็อาจทำให้มีกำไรจากตรงนี้มาก แต่จะคุ้มค่าพนักงาน ค่าการตลาด หรือเปล่า ก็อาจต้องขึ้นอยู่กับความนิยมใน DRx ตัวนั้น
ทีนี้ถ้าเทียบกับ การซื้อหุ้นโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ทางเลือกไหนดีกว่า ?
คำตอบก็อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่ง 4 ปัจจัยหลัก ที่ลงทุนแมนจะกล่าวถึงนี้ จะเป็นตัวชี้วัดอันดับต้น ๆ
1. ความน่าเชื่อถือของผู้ออก DRx เมื่อเทียบกับ บริษัทหลักทรัพย์ที่เราซื้อหุ้นนอก
ถ้าเทียบกันแล้ว ผู้ออกเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีกำไรสม่ำเสมอ ความน่าเชื่อถือก็จะมากตามว่าเกิดอะไรขึ้น ธนาคารน่าจะยังรับผิดชอบในตราสารนั้น
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ที่เราซื้อหุ้นนอก ก็ขึ้นอยู่กับฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผลการดำเนินของบริษัทหลักทรัพย์นั้น รวมไปถึงตัวกลางที่บริษัทหลักทรัพย์นั้นไปต่อเชื่อมอีกทีว่าตัวกลางนั้นมีความมั่นคงแค่ไหน (ซึ่งในเคสของธนาคารก็จะใช้ตัวกลางต่างประเทศในการซื้อหุ้นนอกเช่นกัน)
2. สภาพคล่องของหลักทรัพย์
ในกรณีนี้การซื้อหุ้นนอกตรงจะมีสภาพคล่องที่สูงกว่ามากในการ เข้า-ออก เพราะซื้อขายจากตลาดโดยตรง
ยกตัวอย่างในภาพนี้ ถ้าเราอยากซื้อ หรือขายหุ้น BRK B ระดับ 10 ล้านบาท เราจะไม่สามารถเข้าหรือออกได้ผ่าน BRKB80X ภายในไม้เดียว
รวมไปถึงในบางช่วงหากราคามีความผันผวน ราคา DRx ก็อาจซื้อขายกันที่ราคาต่างจากตัวแม่ได้ เพราะมีสภาพคล่องที่น้อย ไม่เพียงพอต่อรายใหญ่ในการซื้อขาย
แต่จริง ๆ หลังบ้านมี Block Trade อยู่ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่อาจต้องใช้วิธีโทรคุยกับทางหลังบ้านเอง
ดังนั้นถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยคงไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการการันตีเรื่องสภาพคล่องในวันที่เลวร้าย ก็คงต้องแนะนำบริษัทหลักทรัพย์ที่ต่อกับตลาดนอกโดยตรง โดยมีตัวกลางให้น้อยที่สุด
3. ค่าธรรมเนียม และอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างกรณี BRKB80X ถ้าให้คำนวณเมื่อเทียบกับการซื้อหุ้น BRK B ตรงที่ราคาตัวแม่ 404.48 ดอลลาร์ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 36.8 บาท เราจะต้องใช้เงิน 14,884 บาท ซึ่งถ้าเราหาร 10,000 หน่วยก็จะได้ 1.4884 บาท ซึ่งคำนวณดูแล้วจะต่างจากราคา Offer ที่ 1.5 บาท อยู่ประมาณ 0.77%
ดังนั้นถ้าบริษัทหลักทรัพย์มีค่าคอมมิชชันบวกกับส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ที่น้อยกว่า 0.77% ก็อาจแปลได้ว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อหลักทรัพย์จะน้อยกว่า
ซึ่งในความเห็นลงทุนแมน อัตรานี้ถือเป็นอัตราที่รับได้ เพราะในบางบริษัทหลักทรัพย์ แค่แลกเงินไปดอลลาร์ก็เสีย Spread ไป 0.5% แล้ว ไหนจะต้องเสียค่า Remittance ในการโอนเงินออกอีก
เรียกได้ว่าการซื้อ DRx ของกรุงไทยก็เสมือนการพึ่งธนาคารขนาดใหญ่ให้เป็นตัวแทนในการทำธุรกรรมต่างประเทศในราคาขายส่ง แทนที่จะแยกทำเดี่ยว ๆ แล้วมีต้นทุนสูงแบบซื้อตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ไหนที่บอกค่าธรรมเนียมต่ำ ขอให้รู้ไว้ว่าบริษัทนั้น แบกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้อยู่ ซึ่งน่าจะรอวันปรับให้สู่ความจริงในตอนสุดท้ายอยู่ดี
4. ภาษีจากกำไรหุ้นนอก
การลงทุนผ่าน DRx ถือเป็นหลักทรัพย์ไทย ซึ่งถ้ามีกำไร ในกฎหมายตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้แต่อย่างใด
ต่างจากการลงทุนนอกตรงผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ตามกฎหมายแล้ว ถ้าเรามีกำไรและโอนกลับมาเป็นเงินบาท เรามีหน้าที่ที่จะต้องนำไปรวมยื่นภาษีเงินได้
จุดนี้เอง ที่ทำให้หลายคนกังวล ถึงแม้ว่าตอนนี้บางคนอาจจะมีเงินได้ไม่มาก ไม่มีภาระจะต้องโยกเงินกลับ แต่ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตเราอาจมีเงินได้ที่เสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 35% หรือชีวิตเราจะเกิดเหตุการณ์ที่จะต้องใช้เงินเมื่อไร
ดังนั้นด้วยข้อจำกัดนี้ ถ้าหุ้นที่เราอยากลงทุนมีอยู่ใน DRx มันจะมีเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่มากที่เราจะซื้อผ่านช่องทางนี้
สรุปแล้ว DRx ณ ปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายในอัตราที่รับได้ แข่งขันได้กับบริษัทหลักทรัพย์เลย และมีข้อดีคือถ้ากำไรแล้วไม่มีภาระภาษีใด ๆ ติดอย่างเดียวคือถ้านักลงทุนรายใหญ่ต้องการซื้อขายเป็น 10 ล้าน อาจต้องดูเรื่องสภาพคล่อง และเหมาะกว่าที่จะทำ Block Trade
ล่าสุดทราบมาว่ายอด DR ในตลาดหุ้นไทยก้าวขึ้นถึงหลัก 20,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ก็มีหุ้นนอกให้ลงทุนอยู่เหมือนกัน ใครจะไปรู้ในอนาคตตลาดนี้อาจมีมูลค่าเทียบเท่ากับมูลค่าหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นไทยก็อาจเป็นไปได้..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon