วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริหาร Berkshire Hathaway ด้วยพนักงานแค่ 26 คน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริหาร Berkshire Hathaway ด้วยพนักงานแค่ 26 คน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริหาร Berkshire Hathaway ด้วยพนักงานแค่ 26 คน /โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่นานนี้ Berkshire Hathaway ของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์
กลายเป็น 1 ใน 8 บริษัทของโลก ที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34 ล้านล้านบาท
ทั้งที่บริษัทนี้มีพนักงานส่วนกลางแค่ 26 คน
แต่มีพนักงานในบริษัทลูก ที่ Berkshire Hathaway เข้าไปลงทุน รวมกว่า 396,440 คน
เพราะ Berkshire Hathaway เป็นบริษัทโฮลดิง ที่มีบริษัทในเครือมากมาย จึงไม่จำเป็นต้องมีพนักงานส่วนกลางมากมายขนาดนั้น
แต่การมีพนักงานแค่ 26 คน ดูแลเรื่องการจัดสรรเงินทุนในหลายสิบบริษัท ที่มีพนักงานรวมกันเกือบ 400,000 คน
เมื่อเทียบอัตราส่วนแล้ว ก็ไม่ธรรมดามาก ๆ
แล้ว Berkshire Hathaway ทำอย่างไร
ถึงใช้คนน้อย บริหารอาณาจักรธุรกิจขนาดนี้ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จริง ๆ แล้วเดิมที Berkshire Hathaway เป็นแค่โรงงาน
ทอผ้าที่แสนธรรมดา แต่ประสบปัญหาหนัก จากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
จนในปี ค.ศ. 1962 ชายหนุ่มจากโอมาฮาที่ชื่อว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ได้เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทแห่งนี้ ด้วยเหตุผลคือ ราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่
คุณบัฟเฟตต์ซื้อหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นเจ้าของเต็มตัวและควบคุมทิศทางบริษัทได้ในอีก 3 ปีถัดมา
พร้อมกับหันหัวเรือ เน้นถือหุ้นในบริษัทอื่นแทน เพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมทอผ้ากำลังตกต่ำ
โดยในปี ค.ศ. 1967 ได้เข้าซื้อบริษัทประกันภัย National Indemnity Company
หลังจากนั้น ก็ไล่ซื้อหุ้นบริษัทประกันภัยชื่อ GEICO ที่กำลังเจอปัญหาการเงิน จนในที่สุดก็กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทนี้อย่างสมบูรณ์
ซึ่งธุรกิจประกันภัย เป็นสิ่งที่คุณบัฟเฟตต์ชื่นชอบอยู่แล้ว
และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Berkshire Hathaway
เพราะธุรกิจประกันภัย มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “Float” หรือเบี้ยประกันจากลูกค้า ที่ยังไม่มีการเคลมเกิดขึ้น และเป็นเงินที่ได้ต่อเนื่องจากลูกค้าในทุกปี
เงินที่ได้รับจากเบี้ยประกันภัยตรงนี้ สามารถนำไปลงทุนต่อยอดได้ โดยไม่ต้องจ่ายคืนในทันที
การต่อยอดที่ว่านี้ คุณบัฟเฟตต์ ก็เอาเงินไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะถือหุ้นบางส่วน ถือหุ้นส่วนใหญ่ หรือในบางครั้ง ก็จะไล่ซื้อหุ้นทั้งหมด จนกลายมาเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ก็มี
ตัวอย่างเช่น
- BNSF ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟใหญ่สุด ในสหรัฐอเมริกา
- Dairy Queen เจ้าของไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟชื่อดัง
ส่วนธุรกิจทอผ้าเดิม คุณบัฟเฟตต์ ได้ยื้อมาเรื่อย ๆ เพื่อให้กระทบกับคนงานให้น้อยที่สุด แต่สุดท้ายก็ไปไม่ไหว จึงตัดสินใจปิดตัวในปี ค.ศ. 1985
ทั้งที่เป็นธุรกิจที่ทำมากว่า 146 ปีก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การซื้อธุรกิจเข้ามามากมาย
อาจทำให้เกิดปัญหาการบริหาร ทั้งวัฒนธรรมองค์กร สไตล์การทำงาน และค่านิยมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่คนละอุตสาหกรรมกัน
แล้วคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารงาน เกิดขึ้น ?
อย่างแรกเลยคือ
“เป็นเจ้าของในกิจการ ที่ดีตั้งแต่แรก”
หลักการของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในการลงทุน คือธุรกิจนั้นจะต้องยอดเยี่ยม มีป้อมปราการสูง ที่คอยป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ง่าย
ตัวอย่างเช่น BNSF ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ที่ดูจะเป็นธุรกิจตะวันตกดินไปแล้ว แต่คุณบัฟเฟตต์กลับใช้เงินมากถึง 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้เป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์
หลายคนคงมองว่า คุณบัฟเฟตต์บ้าไปแล้ว แต่สายตาของเขาเฉียบแหลมอยู่เสมอ เพราะกลับมองว่า ธุรกิจขนส่งทางรถไฟ ยังอยู่ได้อีกนาน
และมีการประหยัดต่อขนาดที่สูง ยิ่งมีการขนส่งมากเท่าไร ต้นทุนคงที่อย่างโครงสร้างพื้นฐานก็ลดลงตามไปด้วย แถมยากที่คู่แข่งจะเข้ามา เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก
หรือจะเป็นการถือหุ้นในธุรกิจน้ำอัดลมอย่าง Coca-Cola มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เพราะมองว่าแบรนด์แข็งแกร่ง มีเครือข่ายกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วโลก
ถึงคู่แข่งจะมีเงินทุนมากแค่ไหน ก็ทำน้ำดำมาแข่งด้วยยาก
นอกจากตัวธุรกิจแล้ว คุณบัฟเฟตต์ ยังให้ความสำคัญกับตัวผู้บริหาร หรือเจ้าของเดิม ที่ต้องมีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส และธรรมาภิบาล
เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาใด ๆ ตามมา หรือแอบซ่อนอยู่..
ดังนั้น ถ้าได้ลงทุนในธุรกิจที่ดี พ่วงมาด้วยผู้บริหารที่มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์
ก็จะทำให้การลงทุนนั้นราบรื่น มีเรื่องน่าปวดหัวน้อยลง และสบายใจมากขึ้น
แต่หากบริษัทใดที่เขาเคยมองว่าดี แต่มีปัญหาในภายหลัง เช่น กรณีธนาคาร Wells Fargo ที่ Berkshire Hathaway ลงทุนในปี ค.ศ. 1989 กว่า 430,000 ล้านบาท
แต่พอปี ค.ศ. 2016 ธนาคารแห่งนี้โดนปรับเงินจากการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย คุณบัฟเฟตต์ก็ตัดสินใจเด็ดขาด ถอนการลงทุนจาก Wells Fargo ทั้งหมดทันที..
หลักการต่อมาคือ
“เชื่อมั่นและให้อิสระ กับผู้บริหาร”
ในบรรดาบริษัทที่คุณบัฟเฟตต์ ตัดสินใจเป็นเจ้าของกิจการอย่างสมบูรณ์ เขาก็ยังให้ผู้บริหารชุดเดิม หรือเจ้าของเดิม ยังคงบริหารธุรกิจของตัวเองต่อไปได้อย่างอิสระเต็มที่
เพราะมองว่า คนที่รู้และตัดสินใจเรื่องธุรกิจได้ดีที่สุด คือคนที่คลุกคลีหรือปั้นธุรกิจนั้น ๆ มา
ถึงแม้คุณบัฟเฟตต์ จะกลายเป็นเจ้านายคนใหม่แล้ว แต่เขาก็ต้องการให้อำนาจและอิสระแก่คนที่จะดูแลธุรกิจได้จริง ๆ โดยคุณบัฟเฟตต์จะไม่เข้าไปยุ่มย่ามใด ๆ ถ้าไม่เกิดเรื่องจำเป็นจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจลงทุนใน NFM ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านในอเมริกาเหนือ คุณบัฟเฟตต์ลงทุน เพราะชื่นชมการทำงานหนักของเหล่าผู้บริหาร
แถมยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ผู้บริหารของ NFM ยังคงหลงใหลกับการทำงานธุรกิจ แม้ตัวเองจะสูญเสียสัดส่วนความเป็นเจ้าของไปแล้วก็ตาม
นอกจากความเชื่อใจในผู้บริหารองค์กรเดิม
จะทำให้คุณบัฟเฟตต์ ได้รับความไว้วางใจและเคารพจากผู้บริหารบริษัทในเครือแล้ว
การให้อิสระในการทำงานของธุรกิจในเครือ แทนที่จะรวมศูนย์ทุกการตัดสินใจมาที่บริษัทแม่ ยังก่อให้เกิดความคล่องตัว และสร้างนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
และหลักการสุดท้ายคือ
“บริษัทแม่ ดูแลแค่เรื่องสำคัญบางเรื่องเท่านั้น”
หน้าที่หลัก ๆ ของ Berkshire Hathaway คือ การจัดสรรเงินทุน
รวมถึงเรื่องกฎหมาย และธรรมาภิบาล
โดยปัจจุบัน Berkshire Hathaway กำหนดให้บริษัทในเครือ
ส่งแค่งบการเงินและกระแสเงินสดอิสระที่ได้จาก
การดำเนินงานรายเดือน ให้กับบริษัทแม่เท่านั้น
ทำให้ Berkshire Hathaway รับรู้แค่ผลประกอบการของบริษัทในเครือที่เกิดขึ้น และรู้ว่าเงินสดอิสระของบริษัทในเครือที่สามารถนำไปใช้อะไรก็ได้ เหลือมากน้อยแค่ไหน จะได้ตัดสินใจนำเงินสดส่วนเกินนี้ ไปบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุด
ส่วนทิศทาง กลยุทธ์ การบริหารจัดการ ก็ปล่อยให้ผู้บริหารของบริษัทในเครือทำงานได้เต็มที่
พอเป็นแบบนี้ ทำให้คุณบัฟเฟตต์ สามารถไปโฟกัสกับการลงทุน หาและวิเคราะห์การลงทุนที่มีศักยภาพ ในบริษัทอื่น ๆ เพิ่มเติม แทนที่จะห่วงหน้าพะวงหลังกับการปฏิบัติงานประจำวันของบริษัทในเครือตัวเอง
ถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า นอกจากคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ จะเป็นนักลงทุนที่มีฝีมือสูงแล้ว เขายังเป็นนักบริหารบริษัทที่มีความสามารถไม่แพ้ CEO ชื่อดังคนอื่นเลย
แม้เขาเองอาจไม่ใช่นักนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลก แต่หลักการบริหารของคุณบัฟเฟตต์ ก็เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานได้มีอิสระทางความคิดอยู่เสมอ และเจริญเติบโตใน Way ของตัวเอง
ซึ่งเมื่อรวมทั้งทักษะการลงทุนและการบริหารของเขา เข้าด้วยกัน
ก็ได้ทำให้อาณาจักร Berkshire Hathaway เติบโตอย่างมั่นคงเรื่อยมา จนกลายเป็นบริษัทด้านการลงทุน ที่ขึ้นทำเนียบ Trillion-Dollar Company และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-Berkshire Hathaway Annual Report 2023
-https://www.gsb.stanford.edu/faculty-research/case-studies/management-berkshire-hathaway
-https://markdalefinancialmanagement.com/warren-buffett-berkshire-hathaway/
-https://www.investopedia.com/ask/answers/052615/why-did-warren-buffett-invest-heavily-cocacola-ko-late-1980s
-https://medium.com/featured-leaders/warren-buffett-leadership-traits-unveiled-5ab60923afe1
-https://www.investopedia.com/articles/markets/041714/how-warren-buffett-made-berkshire-hathaway-worldbeater.asp
-https://hbr.org/1996/01/what-i-learned-from-warren-buffett
-https://www.databahn.com/pages/berkshire-hathaway-organizational-structure

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon