สรุปวิกฤติ เจ้าของ GUCCI มูลค่าบริษัทหายไป 60% ใน 3 ปี

สรุปวิกฤติ เจ้าของ GUCCI มูลค่าบริษัทหายไป 60% ใน 3 ปี

สรุปวิกฤติ เจ้าของ GUCCI มูลค่าบริษัทหายไป 60% ใน 3 ปี /โดย ลงทุนแมน
Kering บริษัทแม่ของ GUCCI, Saint Laurent, Bottega Veneta และ Balenciaga
เคยมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท ในปี 2021
แต่มาวันนี้ กลับเหลือเพียง 1.6 ล้านล้านบาท
หายไป 2.6 ล้านล้านบาท
หรือ -60% ในเวลาเพียง 3 ปี..
เกิดอะไรขึ้นกับ Kering เจ้าของ GUCCI ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Kering ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1962 หรือ 62 ปีก่อน แรกเริ่มทำธุรกิจค้าไม้และวัสดุก่อสร้าง
ก่อนขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดสินค้าหรู โดยเข้าซื้อกิจการของแบรนด์ดังหลายแบรนด์ เช่น เข้าซื้อหุ้น GUCCI ในปี 1999
ตามมาด้วยการซื้อแบรนด์หรูอื่น ๆ ทั้ง Saint Laurent, Bottega Veneta, Balenciaga, Alexander McQueen และ Brioni
Kering เลยถือเป็นหนึ่งในอาณาจักรแบรนด์หรูรายใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับ LVMH, Hermès และ Richemont
รู้ไหมว่า ราคาหุ้นของ Kering ในช่วงปี 2016-2021 ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหุ้น 5 เด้ง
แต่ในช่วง 3 ปีหลังจากนั้น กลับเป็นหนังคนละม้วน ราคาหุ้นร่วงลงเรื่อย ๆ จนมูลค่าบริษัทของ Kering หายไปเกินครึ่ง..
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Kering ?
ก่อนอื่นเรามาดูผลประกอบการของ Kering กัน
ปี 2020
รายได้ 520,900 ล้านบาท กำไร 85,500 ล้านบาท
ปี 2021
รายได้ 701,700 ล้านบาท กำไร 126,300 ล้านบาท
ปี 2022
รายได้ 809,300 ล้านบาท กำไร 143,700 ล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 778,000 ล้านบาท กำไร 118,600 ล้านบาท
รายได้และกำไรของ Kering เติบโตมาตลอดจนถึงปี 2022 ก่อนจะมาสะดุดในปี 2023
ซึ่งถ้าเราไปดูสัดส่วนรายได้ของ Kering
- GUCCI สัดส่วน 46%
- Saint Laurent สัดส่วน 16%
- Bottega Veneta สัดส่วน 9%
ที่เหลือจะเป็นแบรนด์อื่น ๆ เช่น Balenciaga, Alexander McQueen, Brioni รวมไปถึง Kering Eyewear ที่ผลิตแว่นตาให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ
สาเหตุที่ผลประกอบการออกมาไม่ค่อยดี เป็นเพราะแบรนด์หลักที่ครองสัดส่วนรายได้เกือบครึ่ง อย่าง GUCCI ขายได้น้อยลง..
ทั้งปี 2023 รายได้ของ GUCCI ลดลง 6% จากปีก่อนหน้า หรือหายไป 24,300 ล้านบาท
และล่าสุดดูเหมือนว่า จะแย่กว่าเดิม เพราะในไตรมาสแรกของปี 2024
รายได้ของ GUCCI ก็ลดลง 21% หรือหายไปถึง 21,300 ล้านบาท
ซึ่งนี่เฉพาะแค่ 3 เดือนแรกของปีนี้เท่านั้น
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์ GUCCI ?
ต้องบอกว่า ในช่วงปี 2020-2022 เรียกได้ว่าเป็นยุคของแฟชั่นแบบแม็กซิมัลและโอเวอร์ดีเทล
ทำให้เรามักจะเห็นชื่อ GUCCI ติดลิสต์แบรนด์มาแรงสุดในโลก ไม่อันดับ 1 หรือ 2 ของ The Lyst อยู่ตลอด
และ GUCCI ยังมีอีกกุญแจสำคัญก็คือ คุณ Alessandro Michele ครีเอทิฟไดเรกเตอร์ ที่ทำให้ GUCCI กลับมาผงาดในวงการแฟชั่นอีกครั้ง
แต่แล้วในปี 2023 เทรนด์แฟชั่นก็เปลี่ยนไป..
จากแม็กซิมัลมาสู่แบบ Quiet Luxury ที่เน้นความเรียบและคลาสสิก ซึ่งตรงข้ามกับภาพลักษณ์ของ GUCCI
แม้ GUCCI จะเปลี่ยนครีเอทิฟไดเรกเตอร์คนใหม่ในช่วงนั้น เป็นคุณ Sabato De Sarno ที่ถนัดสไตล์เรียบโก้ และเคยทำงานที่ Prada และ Valentino มาก่อน
แต่ก็ดูเหมือนว่า ดิไซน์ของ GUCCI ก็ยังไม่ถูกใจลูกค้า และยังกลับมาไม่ได้
ทำให้ตอนนี้ลิสต์แบรนด์มาแรงสุดของ The Lyst นั้น GUCCI ยังไม่ติด Top 10 เลยด้วยซ้ำ
สวนทางกับ​ผลประกอบการของแบรนด์ที่ตอบโจทย์ Quiet Luxury อย่างเช่น Brunello Cucinelli, Hermès และ Prada ในปี 2023 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อีกเรื่องก็คือ ลูกค้าหลักของ GUCCI อยู่ในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในประเทศจีน
หลายคนน่าจะคิดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ไม่น่าส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่ซื้อของแบรนด์เนม
ต้องบอกว่า ลูกค้าหลักของ GUCCI ในจีน ไม่ใช่กลุ่มคนที่รวยมาก ๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นชื่นชอบแบรนด์ที่ดูเรียบง่าย อย่างกระเป๋า Birkin ของ Hermès
แต่ลูกค้าหลักของ GUCCI คือ กลุ่มชนชั้นกลางในจีน ที่อยากใช้ของแบรนด์เนมเพื่อแสดงฐานะ
และกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไปเต็ม ๆ จึงรัดเข็มขัดลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ในขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่างเช่น LVMH ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Louis Vuitton, Dior และอีกมากมาย
ก็รุกหนัก พยายามทำการตลาด และมีคอลเลกชันใหม่ ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่
ซึ่งก็สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปจาก GUCCI ได้พอสมควร
เรียกได้ว่า GUCCI เจอทั้งเทรนด์แฟชั่นและรสนิยมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป
ภาพลักษณ์และดิไซน์ใหม่ ที่ยังไม่สามารถดึงคนกลับมาได้
กลุ่มลูกค้าหลักในจีน ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ
รวมถึงการแข่งขันในตลาดแบรนด์หรู ที่ดุเดือด มีหลาย ๆ แบรนด์ขึ้นมาเฉิดฉายในสายตาผู้บริโภคมากขึ้น และแย่งฐานลูกค้าไปจาก GUCCI
เลยทำให้รายได้ของ GUCCI ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทแม่อย่าง Kering นั่นเอง
ในขณะที่แบรนด์อื่นในเครือ Kering ก็ยอดขายหดทุกแบรนด์
ไม่ว่าจะเป็น Saint Laurent, Bottega Veneta และ Balenciaga
โดยมีแค่กลุ่มแว่นตา ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น
จะบอกว่า Kering กำลังเจอมรสุมรอบด้าน ก็คงไม่ผิดนัก
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า Kering เจ้าของ GUCCI จะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป และกลับมาผงาดในวงการแฟชั่น ได้อีกครั้งหรือไม่ ?
เพราะในประวัติศาสตร์ GUCCI ก็เคยประสบวิกฤติการณ์มาแล้วหลายครั้ง
ทั้งถูกมองว่า แบรนด์ล้าสมัย ตามคู่แข่งไม่ทัน
ถูกปลอมแปลงสินค้า จนภาพลักษณ์ของแบรนด์เสียหาย
หรือแม้แต่ เจอความขัดแย้งภายในครอบครัว GUCCI จนส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน
แต่สุดท้าย แบรนด์ GUCCI ก็สามารถผ่านมันมาได้
ซึ่งตอนนี้ ก็คงเป็นอีกบทพิสูจน์สำคัญ
ว่า Kering จะพา GUCCI ฟื้นตัวจากวิกฤติ ได้เหมือนอย่างทุกครั้ง
หรือว่า จะเหลือเป็นเพียงแค่ตำนาน ที่ไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.kering.com/en/finance/publications/
-https://companiesmarketcap.com/kering/marketcap/
-https://www.lyst.com/data/the-lyst-index/
-https://www.businessinsider.com/GUCCI-sales-profit-reputation-falling-luxury-kering-michele-china-2024-5
-https://www.forbes.com/sites/hyunsoorim/2024/04/23/GUCCI-sales-drop-18-in-q1-amid-chinas-slowdown-and-demand-for-quiet-luxury/?sh=514bb47a720b
Tag: Gucci

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon