สรุปเศรษฐกิจอิหร่าน 3,000 ปี

สรุปเศรษฐกิจอิหร่าน 3,000 ปี

สรุปเศรษฐกิจอิหร่าน 3,000 ปี /โดย ลงทุนแมน
ดินแดนแห่งนี้คือศูนย์กลางของอาณาจักร ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณที่เราคุ้นหูกันว่า
“อาณาจักรเปอร์เซีย”
มรดกของอาณาจักรแห่งนี้ ตกทอดมาให้เห็นในยุคปัจจุบัน
และใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด
เงินที่เราต้องจ่ายให้รัฐที่เรียกว่า "ภาษี"
คำที่ใช้เรียกดอกไม้ที่งดงามแต่มีหนามว่า "กุหลาบ"
ทั้งหมดล้วนมีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย หรือภาษาฟาร์ซี
แล้วเปอร์เซีย ฟาร์ซี กับอิหร่าน มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ทำไมประเทศนี้ ถึงใช้ชื่อว่า “อิหร่าน” ไม่ใช่ “เปอร์เซีย”
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
จุดเริ่มต้น ต้องย้อนไปราว 550 ปีก่อนคริสตกาล
สมัยที่อาณาจักรเปอร์เซียยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ครอบครองพื้นที่ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ มาจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุของอินเดีย
เมืองหลวงของเปอร์เซียในขณะนั้นคือ กรุงเพอร์เซโปลิส (Persepolis)
อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน
อาณาจักรเปอร์เซียรุ่งเรืองเป็นเวลาหลายร้อยปี ดินแดนทางตะวันตกขยายไปจนถึงกรีก
แต่ท้ายที่สุด กองทัพของชาวกรีก ทำลายกรุงเพอร์เซโปลิสจนย่อยยับ
ภายใต้การนำทัพของกษัตริย์หนุ่มพระนามว่า อเล็กซานเดอร์มหาราช..
ชื่อเปอร์เซีย มาจากภาษากรีกว่า “Persis” ซึ่งเรียกตามชื่อเมืองหลวงของอาณาจักรแห่งนี้
ชาวตะวันตกจึงเรียกอาณาจักรแห่งนี้ว่าเปอร์เซีย ตามชาวกรีกนับแต่นั้นมา
ปัจจุบันกรุงเพอร์เซโปลิส เหลือเพียงซากปรักหักพัง ตั้งอยู่ในจังหวัดฟาร์ซ (Fars) ทางตอนใต้ของอิหร่าน
และทำให้ภาษาของชาวอิหร่านซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาโบราณถูกเรียกว่า ภาษาฟาร์ซี (Farsi)
ส่วนคำว่า อิหร่าน เป็นคำที่ชาวอิหร่านใช้เรียกตัวเอง มาจากคำว่า “Ērānšahr”
ซึ่งใช้เรียกจักรวรรดิภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ
คำว่า Ērānšahr มีความหมายว่า “อารยัน”
แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวอิหร่าน ที่มีความเชื่อมโยงกับชาวอารยันทางตอนเหนือของอินเดีย
ภาษาฟาร์ซี จึงมีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับภาษาฮินดีของอินเดีย มากกว่าภาษาอาหรับ
แต่ภาษาฟาร์ซีจะใช้ตัวอักษรอาหรับ เนื่องมาจากอิทธิพลทางศาสนา
เมื่อศาสนาอิสลามเผยแผ่จากตะวันออกกลาง
ดินแดนของอิหร่าน ก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมุสลิม
มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมมุสลิม
จนเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่าง และแยกชาวอิหร่านออกจากชาวอาหรับในตะวันออกกลาง
แม้อิหร่านจะแห้งแล้ง ไม่มีลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่
แต่ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ทั้งทองคำ เหล็ก ทองแดง
และเครื่องเทศราคาแพงอย่าง หญ้าฝรั่น
ทางตอนเหนือมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และทะเลสาบแคสเปียนเป็นแหล่งประมงที่สำคัญ
เป็นที่อยู่ของปลาสเตอร์เจียน ซึ่งไข่ของปลาชนิดนี้มีราคาแพง เรียกว่า “คาเวียร์”
และด้วยทำเลที่เชื่อมระหว่างตะวันออกกลางกับอินเดีย ทำให้เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญ
ดินแดนแห่งนี้จึงเป็นที่หมายปองของอาณาจักรต่าง ๆ
อิหร่านเคยถูกปกครองโดยจักรวรรดิมองโกล
ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ (Safavid) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1501
ภายใต้อาณาจักรซาฟาวิยะห์
พระเจ้าชาห์ได้ส่งเสริมให้ศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กลายเป็นศาสนาประจำชาติ
โดยมีกรุงอีสฟาฮานตั้งอยู่ใจกลางประเทศเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ
เชื่อมระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย
โดยสินค้าหัตถกรรมอย่างพรมเปอร์เซีย ได้ถูกผลักดันให้แพร่หลายไปทั่วโลก
พ่อค้าชาวอิหร่านเดินทางไปค้าขายทั่วยุโรปและเอเชีย
หนึ่งในนั้นคือ “เฉกอะหมัด”
เฉกอะหมัดได้นำคณะเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1602 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ภายหลังเข้ารับราชการจนได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นผู้นำชาวมุสลิมในสยาม
เฉกอะหมัดผู้นี้เอง เป็นต้นตระกูล “บุนนาค”
ตระกูลขุนนางที่สำคัญของทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
วัฒนธรรมของชาวอิหร่าน โดยเฉพาะคำศัพท์ในภาษาฟาร์ซี เช่น ภาษี กุหลาบ และองุ่น
จึงได้เข้ามาปะปนกับภาษาไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา..
หลังจากราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ล่มสลาย
ผู้ปกครองดินแดนนี้ต่อมาคือ ราชวงศ์กอญัร (Qajar) ในปี ค.ศ. 1781
ได้ย้ายเมืองหลวงจากอีสฟาฮาน มายังกรุงเตหะราน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ
ซึ่งเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยราชวงศ์กอญัรนี้เอง
จักรวรรดิรัสเซียเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ทางตอนเหนือได้แผ่ขยายดินแดนมาถึงชายแดนของอิหร่าน ทำให้เกิดสงครามอิหร่าน-รัสเซีย ถึง 2 ครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1804 - ค.ศ. 1828
ผลลงเอยด้วยความพ่ายแพ้
อิหร่านต้องเสียดินแดนแถบเทือกเขาทางตอนเหนือให้แก่รัสเซีย
ความอ่อนแอของราชวงศ์กอญัร
ทำให้มหาอำนาจของโลกในช่วงเวลานั้นอย่าง จักรวรรดิอังกฤษ
ถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน
เวลานี้ อิหร่านถูกรายล้อมไปด้วยอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตก..
ปี ค.ศ. 1908 อังกฤษค้นพบน้ำมันดิบในอิหร่าน และเริ่มมีการขุดเจาะเพื่อส่งออกนับตั้งแต่นั้น
รายได้มหาศาลจากน้ำมัน ทำให้อิหร่านเริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามแบบอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการพัฒนากลับไปตกอยู่ในมือของผู้นำและคนกลุ่มเล็ก ๆ
ความเหลื่อมล้ำของรายได้นำมาสู่การปฏิวัติโค่นบัลลังก์ราชวงศ์กอญัร
ผู้นำการปฏิวัติได้ตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าชาห์ เรซา
และก่อตั้งราชวงศ์ปาห์ลาวี (Pahlawi) ปกครองอิหร่านในปี ค.ศ. 1925
ก่อนหน้านั้นไม่นาน จักรวรรดิรัสเซีย เพื่อนบ้านทางตอนเหนือ
ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้ชื่อ สหภาพโซเวียต
ความหวาดกลัวระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้พระเจ้าชาห์ของอิหร่าน
หันมาคบค้ากับโลกทุนนิยมเสรี ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอย่างเต็มที่
รายได้มหาศาลจากน้ำมัน ทำให้อิหร่านมีเงินมาใช้ในการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงขยายอุตสาหกรรม จนเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งสิ่งทอ เหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์
อิหร่านยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันโลกหรือโอเปกในปี ค.ศ. 1960
ในช่วงทศวรรษ 1970s ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง
GDP ต่อหัวของชาวอิหร่านในปี ค.ศ. 1977 อยู่ที่ราว 47,400 บาท
ซึ่งมากกว่า GDP ต่อหัวของชาวเกาหลีใต้ ในช่วงเวลานั้นถึง 2 เท่า
และมากกว่า GDP ต่อหัวของชาวไทยถึง 5 เท่า
แต่บทละครฉากเดิมก็วกกลับมาอีกครั้ง
รายได้ที่ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย ความฟุ่มเฟือยของสมาชิกในราชวงศ์ปาห์ลาวี
และปัญหาเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันพุ่งสูง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจ
พ่วงด้วยการนิยมวัฒนธรรมตะวันตก จนเกินพอดี
ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลาม
ในที่สุด ราชวงศ์ปาห์ลาวี ก็ถูกปฏิวัติอีกครั้งในปี ค.ศ. 1979
คราวนี้อิหร่านเปลี่ยนประเทศแบบสุดขั้ว กลายเป็นรัฐทางศาสนาที่เคร่งครัด
ทิ้งกรอบความคิดแบบตะวันตก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จากเดิมหญิงสาวอิหร่านแต่งกายตามแบบตะวันตก กลายเป็นต้องมีผ้าคลุมหัวมิดชิด
พร้อมเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”
ภายใต้การนำของผู้นำศาสนา อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี
พระเจ้าชาห์หนีไปรักษาตัวจากโรคมะเร็งที่สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะส่งตัวพระเจ้าชาห์ตามคำขอของรัฐบาล สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลอิหร่าน
รัฐบาลอิหร่านจึงได้สนับสนุนให้ประชาชนบุกยึดสถานทูตสหรัฐอเมริกา และจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน
การกระทำที่อุกอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกาสั่นคลอน
สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่านในทันที
ในขณะที่รัฐบาลอิหร่านก็ยึดสัมปทานบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกามาเป็นของรัฐบาล
ความวุ่นวายทางการเมืองในอิหร่าน ทำให้ “อิรัก” ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก
ภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ได้ทีเข้ามาก่อสงครามกับอิหร่าน
จนกลายเป็นสงครามอิรัก-อิหร่าน ที่ยาวนานกว่า 8 ปี
สงครามจบลงในปี ค.ศ. 1988 โดยที่ไม่มีฝ่ายไหนได้รับชัยชนะ
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสูญเสียชีวิตผู้คนไปกว่า 500,000 คน
การพัฒนาต่าง ๆ ของอิหร่านหยุดชะงักไปในช่วงทศวรรษ 1990
เพื่อทำการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายในช่วงสงคราม
มีเพียงน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมด
ผลักดันให้อิหร่านกลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 4 ของโลกในช่วงทศวรรษนั้น
แต่แล้วโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการสะสมแร่ยูเรเนียม
ก็ทำให้อิหร่าน ถูกนานาชาติคว่ำบาตรในปี ค.ศ. 2006
ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันและเศรษฐกิจของอิหร่านหยุดชะงัก
จนในปี ค.ศ. 2015 อิหร่านได้ทำ “ข้อตกลงนิวเคลียร์”
กับสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี
โดยอิหร่านจะลดการถือครองแร่ยูเรเนียมบริสุทธิ์ แลกกับการที่นานาชาติจะเลิกคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนของอิหร่านกลับมาฟื้นตัว
แต่ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ก็ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2019
เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว
เพราะเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่อิหร่าน ได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว..
ทั้งหมดคือเรื่องราวประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่างคร่าวๆ ของประเทศที่ชื่อว่า “อิหร่าน”
ท่ามกลางสายลมแห่งประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี
เป็นที่น่าติดตามว่า ชะตากรรมของดินแดนแห่งนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป
ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล จะลุกลามจนบานปลายเป็นสงครามหรือไม่ ?
แต่สำหรับอิหร่าน ที่ผ่านสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน
และได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านชื่อ อิรักและซีเรีย
อิหร่าน ก็คงรู้ดีว่าตอนจบของสงครามนั้นไม่มีอะไร นอกจากซากปรักหักพัง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon