รู้จัก เจอโรม พาวเวลล์ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อ มูลค่าสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกนี้

รู้จัก เจอโรม พาวเวลล์ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อ มูลค่าสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกนี้

รู้จัก เจอโรม พาวเวลล์ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อ มูลค่าสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกนี้ /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะมีชายอีกคนหนึ่ง ที่เวลาออกมาพูดเพียงไม่กี่ประโยค
ก็ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์ทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น พันธบัตร ทองคำ ไปจนถึงคริปโทเคอร์เรนซี ได้ในทันที..
ซึ่งในทุก ๆ 6 สัปดาห์ นักลงทุนทั่วโลก จะตั้งตารอฟังชายคนนี้ ว่าจะพูดอะไร
และพยายามตีความ ทุกคำ ทุกประโยคที่เขาพูดออกมา..
เพราะคำพูดของเขา เสมือนวาจาศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้ตลาดหุ้นทั้งโลก ปรับตัวขึ้น จนสดใส หรือ หดหู่ จากการถูกเทขายได้ ภายหลังจากที่เขาออกมาแถลงการณ์ หรือตอบคำถามเพียงไม่กี่นาทีกับสื่อมวลชน
ชายคนนี้ก็คือ “คุณเจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ FED
แล้วเส้นทางของเขา เป็นมาอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณพาวเวลล์เกิดและเติบโตในรัฐวอชิงตัน โดยคุณพ่อของเขาก็ชื่อ คุณเจอโรม พาวเวลล์ เหมือนกัน และมีอาชีพเป็นทนายความ

เมื่อเติบโตขึ้น เขาก็ได้เข้าศึกษาต่อในสาขาการเมืองที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน พอจบการศึกษาก็ออกมาเป็นผู้ช่วยให้กับวุฒิสมาชิกจากรัฐเพนซิลเวเนีย อยู่ 1 ปี
ก่อนที่จะกลับไปศึกษาต่อ และเดินตามรอยคุณพ่อ คว้าปริญญาด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ มาอีกใบ
เส้นทางสายอาชีพของคุณพาวเวลล์ เริ่มขึ้นจากการเป็นผู้ช่วยให้กับผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ก่อนที่จะย้ายมาเป็นทนายอาชีพให้กับสำนักงานกฎหมาย 2 ถึง 3 แห่ง
จนกระทั่งเมื่อเขาอายุได้ 31 ปี คุณพาวเวลล์ได้เข้าไปทำงานให้กับวาณิชธนกิจ ที่ชื่อ Dillon, Read & Co. ในนิวยอร์ก
ที่นี่เอง ที่คุณพาวเวลล์ได้เริ่มเข้าไปทำงานด้านการเงินอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุน หรือการควบรวมกิจการ
ต่อมาเมื่อเจ้านายเก่าของคุณพาวเวลล์ ที่ Dillon, Read & Co. หรือคุณนิโคลัส เบรดี ได้ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
คุณพาวเวลล์ก็ได้กลายมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในยุคของคุณจอร์จ บุช ผู้พ่อนั่นเอง
ในขณะนั้นคุณพาวเวลล์ อายุได้ 39 ปี
แต่ผ่านไปได้เพียงปีเดียว เมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อได้หมดวาระลง
คุณพาวเวลล์จึงได้กลับไปทำงานในแวดวงการเงินฝั่งเอกชนต่อ ทั้งที่ Bankers Trust และ Carlyle Group
จนมาในยุคของคุณบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต คุณพาวเวลล์ก็ได้ถูกเสนอชื่อให้เข้ามาเป็นกรรมการของทางธนาคารกลางสหรัฐฯ แม้ว่าคุณพาวเวลล์จะมาจากพรรคริพับลิกัน
ผลงานของคุณพาวเวลล์ในช่วงนี้ คือการสนับสนุนให้มีระเบียบในการควบคุมอุตสาหกรรมทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น หลังจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือ Hamburger Crisis
พอมาถึงยุคของคุณดอนัลด์ ทรัมป์ คุณพาวเวลล์ก็ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนที่ 16 ต่อจากคุณเจเน็ต เยลเลน
หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน คุณพาวเวลล์ ก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลง โดยการลดสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน ทำให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกต่างปรับตัวลดลง
นั่นทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคุณดอนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้ตลาดการเงินดูดีในยุคของตนเอง และกล่าวหาคุณพาวเวลล์ว่าเป็นศัตรูที่ร้ายกาจต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าการเติบโตของประเทศจีนเสียอีก
ซึ่งในที่สุด คุณพาวเวลล์ก็ยอม และกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
หนึ่งในความท้าทายครั้งใหญ่ที่คุณพาวเวลล์ต้องเจอในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็คือ วิกฤติโควิด 19 ที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2020 และยืดเยื้อยาวข้ามปี
ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการสูบฉีดเงินเข้ามาในระบบอย่างมหาศาล เพื่อพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ แต่นั่นก็แลกมากับผลลัพธ์ที่เราเห็นคือ ตัวเลขเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก
อย่างในสหรัฐฯ เอง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ได้พุ่งเป็น
4.7% ในปี 2021
8.0% ในปี 2022
ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนถึงระดับ 5.25-5.50% รวมถึงลดสภาพคล่องในระบบลงอีกรอบ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
จนในที่สุด เงินเฟ้อก็ค่อย ๆ ลดลงเหลือ 4.1% ในปี 2023
และล่าสุดเดือน ก.พ. 2024 อยู่ในระดับ 3.2%
เมื่อควบคุมเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับตอนนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาอีกอย่างแทน คือเจอสัญญาณการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน
ทำให้คุณพาวเวลล์ ออกแถลงในการประชุม FED เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ถ้าควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายได้ที่ 2%
แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และตัวเลขทางเศรษฐกิจในเวลานั้นด้วย
สำหรับวาระของคุณพาวเวลล์ ในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้น
เดิมทีหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ในปี 2022
แต่เขาก็ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และได้คะแนนเสียงถล่มทลายจากวุฒิสภา จึงได้เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่ออีกสมัย จนถึงปี 2026
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของชายที่ชื่อว่า “เจอโรม พาวเวลล์”
คนที่ถูกสายตาของนักลงทุนทั่วโลก จับจ้อง และจะถูกจับตาไปอีกอย่างน้อย 2 ปี
เพราะเป็นหนึ่งในคนที่ “มีพลังมากที่สุด” ที่จะเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์ทุกอย่างบนโลกนี้นั่นเอง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon