ทำไม นักร้องระดับโลก จัดคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ มากกว่าไทย

ทำไม นักร้องระดับโลก จัดคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ มากกว่าไทย

ทำไม นักร้องระดับโลก จัดคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ มากกว่าไทย /โดย ลงทุนแมน
จากข่าวที่มีแฟนคลับตั้งใจไปดูคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ Taylor Swift ที่สิงคโปร์ แล้วถูกโกงบัตรคอนเสิร์ตมูลค่าหลายหมื่นบาท ผ่านการซื้อตั๋วที่ถูกนำมาขายต่อ ซึ่งมีเคสการโกงแบบนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก
นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับแฟน ๆ ที่ตั้งตารอชมคอนเสิร์ตนี้อย่างมาก เพราะการที่ Taylor Swift จะมาจัดคอนเสิร์ตในอาเซียน ไม่ได้มีโอกาสให้เห็นบ่อย ๆ
และนอกจากประเด็นเรื่องของการถูกโกงแล้ว อีกอย่างที่เราได้เห็นจากเรื่องนี้ ก็คือกระแสความนิยมในตัวคอนเสิร์ตของ Taylor Swift
ซึ่งความต้องการเข้าชมคอนเสิร์ตของ Taylor Swift มีมากถึงขนาดที่ว่ามีการจัดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์ มากถึง 6 รอบ
และมีการประเมินไว้ว่าการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ ทำให้สิงคโปร์มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 14,000 ล้านบาท
คำถามคือ ทำไมถึงเลือกสิงคโปร์ เป็นที่จัดคอนเสิร์ต
และทำไมถึงไม่มีคอนเสิร์ต Taylor Swift ในประเทศไทย แม้แต่รอบเดียว ?
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง ไทย และ สิงคโปร์
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
แต่เดิมคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ Taylor Swift จะมีการจัดแสดงที่สิงคโปร์ 3 รอบ แต่ด้วยกระแสตอบรับอย่างถล่มทลาย ทำให้ต้องเพิ่มรอบการแสดงอีก 3 รอบ รวมเป็น 6 รอบ คิดเป็น 300,000 ที่นั่ง โดยมีผู้เข้ามาลงชื่อรอซื้อในระบบจองตั๋วกว่า 8 ล้านคน..
เช่นเดียวกับ Coldplay วงดนตรีชื่อดังจากอังกฤษ จัดแสดงทัวร์คอนเสิร์ต 4 รอบ ที่สิงคโปร์ วางจำหน่ายบัตร 200,000 ใบ แต่ขายหมดภายในวันเดียว จนต้องเปิดรอบเพิ่มอีก 2 รอบ รวม 6 รอบ แต่จัดแสดงที่ไทยเพียง 2 รอบเท่านั้น
จากจุดนี้ จะเห็นได้ว่าผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินดังเหล่านี้ จะชื่นชอบสิงคโปร์ มากกว่าไทย
แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ในด้านการจัดแสดงงานคอนเสิร์ต ?
เรื่องแรกเลยก็คือ
- สิงคโปร์ มีความได้เปรียบด้านที่ตั้ง ซึ่งจัดเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
จริงอยู่ที่ว่า ไทยก็เป็นศูนย์กลางเหมือนกัน แต่ประเทศที่อยู่รอบไทยนั้น คือ พม่า, ลาว, เวียดนาม ซึ่งไม่ใช่ตลาดหลักที่มีฐานแฟนเพลงหนาแน่นอย่าง ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งต่างก็มีสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง
และเมื่อเทียบกับฐานแฟนเพลงภายในประเทศเอง
สิงคโปร์ ก็มีกำลังจ่ายมากกว่า
โดยหากวัดกันที่ รายได้ต่อหัวในปี 2023 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประมาณ 277,000 บาทต่อคนต่อปี
ในขณะที่สิงคโปร์ มีรายได้ต่อหัว 3,285,000 บาทต่อคนต่อปี มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค และมากกว่าไทย 10 เท่า
ซึ่งในมุมของผู้จัดแล้ว การมีดีมานด์จากภายในประเทศที่พร้อมจ่ายรองรับตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็แทบจะการันตีได้ว่าจะไม่ขาดทุน อีกทั้งยังช่วยให้ตั้งราคาค่าตั๋วได้สูงกว่า เพราะฐานผู้ชมในประเทศมีกำลังซื้อสูง
- การเดินทางที่สะดวก ครอบคลุม และทันสมัย
สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชีย เพราะเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องบินของหลายสายการบินทั่วโลก จึงมีสายการบินหรู และสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการจำนวนมาก
อีกทั้งยังมีสนามบินชางงี ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ติดต่อกันถึง 8 ปีซ้อน สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 135 ล้านคนต่อปี
ส่วนระบบการขนส่งภายในประเทศเองก็มีความทันสมัย ซึ่งนอกจากสะอาดแล้ว ยังมาตรงเวลา และเข้าถึงสถานที่สำคัญได้ทั่วทั้งเมือง
ในขณะที่ประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีสนามบินสุวรรณภูมิที่มีขนาดใหญ่ และมีสายการบินจากทั่วโลกเช่นเดียวกับสิงคโปร์
แต่ระบบการขนส่งภายในตัวเมืองนั้น ถือว่ายังไม่ครอบคลุม และรองรับคนเดินทางจำนวนหลายหมื่นคน ในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ไม่ดี โดยเฉพาะสถานที่จัดแสดงหลาย ๆ แห่ง
อย่างเช่น สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่สุดท้ายแล้วก็ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ หรือเดินเข้าไปยังสนามกีฬา และก็มักจะได้เห็นข่าว นักท่องเที่ยวเจอการโก่งราคาค่าโดยสาร ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสื่อมเสียอย่างมาก
- สถานที่จัดแสดงที่ใหม่กว่า และพร้อมกว่า
สำหรับสถานที่จัดแสดงในสิงคโปร์นั้น จะอยู่ใน Singapore Sports Hub ซึ่งเป็นศูนย์รวมสนามแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่
และบริหารงานโดยหน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ โดย Singapore Sports Hub เพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี 2014
โดยมีสนามหลักอย่าง National Stadium สนามกีฬาที่มีหลังคาโดมเปิดปิดได้ใหญ่สุดในโลก ซึ่งจุผู้คนได้มากกว่า 55,000 คน และมีระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมถึงโดยตรง
รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย ซึ่งสิงคโปร์ดูจะเป็นประเทศที่มีความสงบทางการเมืองมากกว่า
ต่างจากประเทศไทยที่ในอดีต คอนเสิร์ตของ Taylor Swift ที่วางแผนจะมาเปิดการแสดงที่ไทยเป็นครั้งแรก ก็ต้องยกเลิกการจัดแสดงไป เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2014
- การผลักดันและสนับสนุน
การท่องเที่ยวสิงคโปร์ หรือ STB คือหน่วยงานหลักที่เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการเป็น Entertainment Hub ของสิงคโปร์
โดยนอกจากเงินทุนที่สนับสนุนภาคเอกชน เพื่อให้มีความพร้อมในการจัดงานใหญ่ ๆ ระดับโลกแล้ว
STB ยังคอยช่วยอำนวยความสะดวก และติดต่อประสานงานในด้านต่าง ๆ กับผู้จัดคอนเสิร์ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงยังช่วยวางแผนการตลาด การโปรโมต และติดต่อศิลปินหรือค่ายเพลงให้เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดงานอีกด้วย
อย่างในเคสของคอนเสิร์ต Taylor Swift ก็มีการประเมินว่า STB จ่ายเงินสนับสนุนมากกว่า 100 ล้านบาท ต่อรอบการแสดง รวม 6 รอบกว่า 600 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดแสดงเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค
ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ ก็คุ้มค่าอย่างมาก เพราะด้วยจำนวนบัตรคอนเสิร์ตรวมกว่า 300,000 ใบ
ทำให้ยอดจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พักทั่วสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงของการจัดแสดง
และคาดการณ์ว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้ ทำให้สิงคโปร์มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 14,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
จะเห็นว่า ศิลปินดัง หรืออิเวนต์ใหญ่ ๆ เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่จัดแสดง ไม่ได้มาจากการรอให้เป็นผู้ถูกเลือก
แต่ทั้งหมดมาจากนโยบาย แผนการที่ชัดเจน และความร่วมมือของทุกฝ่ายในการที่จะเป็น Entertainment Hub
เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากการจัดงาน และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่จะกระจายสู่ธุรกิจท้องถิ่น
เพราะอย่าลืมว่า สิงคโปร์ คือเกาะที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
การดิ้นรนสร้างแม่เหล็กดึงดูดเงินเป็นของตัวเอง จึงกลายเป็นแรงผลักสำคัญ ให้สิงคโปร์ดันตัวเองไปเป็น Entertainment Hub ของภูมิภาค
และเพื่อช่วยเร่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศสิงคโปร์จากการล็อกดาวน์ ที่ในปี 2022 มีนักท่องเที่ยว 6.3 ล้านคน และรายได้เหลือเพียง 370,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยวกว่า 19 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 730,000 ล้านบาทในปี 2019
ซึ่งผลลัพธ์ก็เริ่มแสดงออกมาชัดขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างที่เห็นได้จากรอบการแสดงของศิลปินดังอย่าง Coldplay และ Taylor Swift ที่ต่างก็เลือกสิงคโปร์เป็นสถานที่หลักในการจัดแสดง..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon