Lazada กำลังเจอ ความท้าทายรอบทิศ

Lazada กำลังเจอ ความท้าทายรอบทิศ

Lazada กำลังเจอ ความท้าทายรอบทิศ /โดย ลงทุนแมน
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่ของวงการ E-commerce จนเป็นกระแสให้ใคร ๆ ต่างพูดถึง เมื่อ Lazada ปลดพนักงานในภูมิภาคอาเซียน 30%
โดยเป็นการปลดครั้งที่ 2 ในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมา
หลายคนอาจคิดว่า Lazada กำลังเผชิญกับปัญหา “วิกฤติทางการเงิน” จนความจริงมาถูกเฉลย เมื่อบริษัท Lazada ออกมาชี้แจงว่า การลดจำนวนพนักงานเป็นการ “ปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มความคล่องตัว” เพื่อสู้ศึกในตลาด E-commerce ที่ยังคงแข่งขันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร
ไม่ว่าจะเป็น การเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ อย่าง TikTok Shop หรือคู่แข่งเดิม อย่าง Shopee ที่เติบโตอย่างร้อนแรง โดย “Ecommerce in Southeast Asia 2023” รายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมา Shopee เป็น E-commerce ที่มียอดขายอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งการเดินเกมในสงครามนี้ Lazada จึงมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ
หนึ่ง คือ อยู่เฉย ๆ ให้ TikTok และ Shopee รวมถึงคู่แข่งรายอื่น ๆ แย่งชิงฐานลูกค้าไป
อีกวิธี คือ ปรับตัว เพื่อสู้กับศึก E-commerce ที่ยังไม่รู้ว่า บทสรุป จะลงเอยแบบไหน
เมื่อกลับไปดูวิธีการปรับโครงสร้างของ Lazada
คำตอบก็น่าจะเป็น ข้อ 2 ที่บริษัทกำลังปรับตัวเพื่อแข่งขัน
แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อบริษัท ยังมีสารพัดปัญหา ที่ต้องแก้ไข..
แล้วปัญหาที่ว่าคืออะไร ?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นับตั้งแต่ Alibaba Group บริษัทแม่ของ Lazada มีปัญหากับทางรัฐบาลจีน เสมือนเกิดพายุลูกใหญ่ที่บริษัทต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งถูกรัฐบาลจีนสั่งปรับ 18,230 ล้านหยวน หรือราว 8.8 หมื่นล้านบาท ในข้อหาผูกขาดตลาด E-commerce ด้วยนโยบาย “Choose One” ทำให้ร้านค้าไม่มีทางเลือก ต้องขายในแพลตฟอร์มของ Alibaba อย่างเดียว
โดยรัฐบาลจีนมองว่านี่คือ การผูกขาด พร้อมมีข่าวว่าทางรัฐบาลจีน ได้ส่งตัวแทนเข้าไปควบคุมทิศทางธุรกิจ E-commerce ของทาง Alibaba Group
พอบริษัทแม่เจอสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้
บริษัทลูกอย่าง Lazada ในภูมิภาคอาเซียน ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในขณะที่ธุรกิจ E-commerce มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาตั้งแต่เริ่มต้น จนมาถึงในช่วงหลังที่หมดเวลาของ Money Game เพื่อพลิกเข้าสู่โหมดทำกำไร..
ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ ปี 2565 ทั้ง 2 รายต่างก็เริ่มมีกำไรกันแล้ว
Lazada มีกำไร 413 ล้านบาท เติบโต 82.06%
Shopee มีกำไร 2,380 ล้านบาท เติบโตถึง 147.46%
เมื่อตัวเลขชี้วัดการแข่งขันคือเรื่องของผลกำไร อีกทั้งยังมีผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นมาอย่าง TikTok
วิธีที่จะทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้นมา และเป็นยาแรงเห็นผลทันที นอกเหนือจากการใช้เงินด้านการตลาดน้อยลง ก็คือ การลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน..
ตรงนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ Lazada บอกว่าทำเพื่อปรับโครงสร้าง
นั่นก็คือ การปลดพนักงานในภูมิภาคอาเซียน ราว 1 ใน 3 ครอบคลุมพนักงานตั้งแต่ผู้บริหารระดับซีอีโอจนถึงพนักงานทั่วไป ทั้งในไทยและหลายประเทศ..
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การสร้างจุดเปลี่ยนของทั้ง Lazada และ Shopee ที่ต้องการเป็นมากกว่า E-commerce ด้วยการข้ามกำแพงไปยังธุรกิจอื่น ๆ
นอกจากทั้ง 2 รายจะมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ จนถึง Ecosystem ครบวงจรในอุตสาหกรรม E-commerce ก็ยังข้ามมาสู่ธุรกิจการเงินอย่าง ธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ ให้แก่ร้านค้าต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มตัวเอง
และธุรกิจ Buy Now Pay Later หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งเป็นสินเชื่อบุคคลประเภทหนึ่งที่ให้ผู้ซื้อนำสินค้าไปใช้ก่อนแล้วค่อยมาผ่อนจ่ายทีหลัง
จนถึงธุรกิจที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ว่าเจ้าของธุรกิจ E-commerce จะทำ แต่ Shopee เลือกที่จะทำคือ การก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจ Food Delivery ภายใต้แบรนด์ ShopeeFood..

จะเห็นว่าอุตสาหกรรม E-commerce มาไกลกว่าที่คิด และมีความเร็วในการแย่งชิงความได้เปรียบ
ขณะที่ Lazada มองว่า หากต้องการให้ธุรกิจของตัวเองแข็งแกร่ง และมีกำไรต่อเนื่อง พร้อมกับชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Shopee
Lazada ต้องลดขนาดองค์กร และมีความยืดหยุ่น คล่องตัวให้สูงกว่าเดิม
การลดจำนวนพนักงาน 30% ในภูมิภาคอาเซียน
เสมือนเป็นการส่งสัญญาณไปถึง Shopee ว่า
ต่อจากนี้ไป Lazada จะทำทุกวิถีทาง เพื่อแข่งขัน ท้าชิงกับ Shopee ต่อไปในระยะยาว
แต่จะทำได้หรือเปล่า เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
ต้องยอมรับว่า Shopee ที่อยู่ภายใต้บริษัท Sea Group มีนโยบายที่เป็นจุดแข็งคือ ความคล่องตัว และสามารถยืดหยุ่นธุรกิจได้ดีเช่นกัน
ประเด็นที่น่าสนใจถัดไปก็คือ ใน Lazada นั้นมีสินค้าจากจีนจำนวนมาก และสิ่งนี้หลายคนอาจยังไม่ทันเห็น
หลายคนอาจไม่รู้ว่า Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group บริษัทแม่ของ Lazada มีเป้าหมายวันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ E-commerce คือ ต้องการเห็นสินค้าจีนครองตลาดออนไลน์ทั่วโลก
ดังนั้น เราน่าจะได้เริ่มเห็น Lazada ใช้โมเดลธุรกิจที่ให้ซัปพลายเออร์จีนมาขายในแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ เพื่อ “เพิ่มโอกาส” ให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน และในบ้านเรา
ข้อดีคือ ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ส่วนข้อเสียก็น่าจะรุนแรงมากเลยทีเดียว
เพราะนี่คือวิธีกลืนกินกลุ่มร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายบนแพลตฟอร์ม Lazada
อธิบายง่าย ๆ สมมติว่าเราเป็นเจ้าของร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากจีน หากเจอโมเดลธุรกิจนี้คงเป็นประตูปิดตาย เพราะไม่มีทางที่จะสู้ราคาขายได้เลย
เลวร้ายกว่านั้นคือ ธุรกิจ SMEs ในท้องถิ่นต่าง ๆ จะต้องแข่งขันกับสารพัดสินค้าจากจีน
SMEs ไทยที่จะอยู่รอด คงต้องแข็งแกร่งทั้งเรื่องคุณภาพสินค้า และราคาขาย
คงต้องจับตาดูว่าเมื่อ Lazada ปลดพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในธุรกิจ E-commerce จะทำได้ดีแค่ไหน แล้วใครจะได้ประโยชน์สูงสุด
แต่ดูเหมือนว่า นอกจากพนักงานที่ถูกเชิญให้ออกจะเป็นคนเสียประโยชน์แล้ว ร้านค้าไทยบน Lazada ก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.prachachat.net/ict/news-1477531
-https://www.ryt9.com/s/iq29/3483183
-https://www.cnbc.com/2021/04/09/china-fines-alibaba-in-anti-monopoly-probe.html
-https://www.bangkokpost.com/business/general/2727337/lazada-chief-set-for-exit
-https://www.finnomena.com/bottomliner/alibaba-jack-ma/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon