เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย กำลังเจอ วิกฤติรอบด้าน..

เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย กำลังเจอ วิกฤติรอบด้าน..

เศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย กำลังเจอ วิกฤติรอบด้าน..
“ไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่เป็นตะวันตกดิน
มีแค่ธุรกิจที่เป็นตะวันตกดิน”
นี่คือคำพูดของคุณขัตติยา อินทรวิชัย CEO ธนาคารกสิกรไทย ที่กล่าวเมื่อวานนี้ในงาน The Secret Sauce Summit 2024
ซึ่งพูดถึงปัญหาที่เศรษฐกิจไทย และผู้ประกอบการ SMEs ไทย กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้..
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลก โตเฉลี่ย 3% เพราะมีหลายปัจจัยมากระทบ เช่น ความขัดแย้งของสงครามการค้า, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ที่กำลังเจอกับวิกฤติรอบด้าน และรู้สึกว่ามืดแปดด้าน..
แต่ธุรกิจไทย ก็สามารถโฟกัสกับบางเรื่อง เพื่อทำให้ธุรกิจของตัวเองสามารถอยู่รอดได้เช่นกัน
แล้ววิกฤติรอบด้านที่ว่านี้ มีอะไรบ้าง
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟังจากในงานนี้กัน
ปัจจุบันธุรกิจไทย กำลังเจอวิกฤติรอบด้าน
ไล่ตั้งแต่
- การแข่งขันที่รุนแรงจากต่างชาติมากขึ้น
ในปี 2552 มีสัดส่วนมูลค่าสินค้า ที่ผลิตจากธุรกิจในประเทศ มากถึง 80% ส่วนมูลค่าสินค้าที่นำเข้าจากจีน 15% และชาติอื่น ๆ อีก 5%
มาตอนนี้ สัดส่วนมูลค่าสินค้าที่ผลิตจากธุรกิจในประเทศ เหลือแค่ 71% สวนทางกับมูลค่าสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่เพิ่มเป็น 17% และชาติอื่น ๆ อีก 12%
โดยเฉพาะทุนจีน ที่เข้ามาลงทุนเพิ่มแบบก้าวกระโดด
เฉลี่ยในปี 2561-2566 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีน ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI เติบโตกว่า 4 เท่า เทียบกับช่วงปี 2558-2560
- ธุรกิจไทย เริ่มมีการผลิตน้อยลง ความเสี่ยงปิดโรงงานเพิ่มขึ้น
เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตถดถอยในหลายรายการ โดยภาพรวมในเดือนมกราคมถึง กรกฎาคมในปี 2567 อัตราการใช้กำลังการผลิตเหลือ 59% จากในปี 2564 ที่ 64%
ทำให้สถานการณ์ปิดโรงงานอาจรุนแรงมากขึ้นไปอีก โดยธุรกิจที่แข่งขันได้ยากขึ้น ก็มีตั้งแต่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น
ซึ่งธุรกิจที่ว่ามานี้ คิดเป็น 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจ..
- ต้นทุนแรงงาน และพลังงานสูงขึ้น
ปัจจุบัน ธุรกิจไทย มีต้นทุนหลัก 65% เป็นวัตถุดิบ
รองลงมาเป็นแรงงาน พลังงาน การเงิน ตามลำดับ
แต่แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรง ก็จะกระทบกับต้นทุนแรงงานที่คิดเป็น 10-15% ของต้นทุนทั้งหมด
และต้นทุนพลังงาน เช่น น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า ที่คิดเป็น 6-8% ของต้นทุนทั้งหมด ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- เศรษฐกิจใหม่ ยังมีสัดส่วนน้อย
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย 18 ล้านล้านบาท มาจากเศรษฐกิจเก่า 87% และอีก 13% มาจากเศรษฐกิจใหม่ หรือ Digital Economy
ซึ่งในช่วงปี 2560-2566 ที่ผ่านมา ขนาดเศรษฐกิจใหม่ เติบโตขึ้น 8.5% ในขณะที่เศรษฐกิจเก่า โตเพียง 1.8% เท่านั้น..
- นโยบายสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวดมากขึ้น
ปัจจุบัน มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในไทยและต่างชาติ เช่น กฎหมาย EU Deforestation ห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2568
มาตรการ CBAM หรือการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้าที่นำเข้าไปยังยุโรปในปี 2569
ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทยโดยตรง ทั้งธุรกิจสินค้าเกษตร อย่างปาล์มน้ำมัน หรือสินค้าที่มีคาร์บอนสูง อย่างซีเมนต์
- คนแก่มากขึ้น กำลังซื้อหด แรงงานหาย
จากในปี 2548 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมด แค่ 10% แต่ตอนนี้ขยับมาเป็น 20% หรือประมาณ 13 ล้านคนแล้ว
ทำให้อนาคต จะมี 3 ผลกระทบหลักที่ตามมา นั่นคือ การขาดแคลนแรงงาน การบริโภคในประเทศที่เติบโตช้า และภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น
- SMEs ไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ด้วยความไม่พร้อม
ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เพราะจากกิจการทั้งหมด 3.2 ล้านแห่ง เป็น SMEs ไปแล้ว 99% และอีก 1% เป็นกิจการขนาดใหญ่
โดย SMEs ส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก 1.3 ล้านแห่ง รองลงมาเป็น โรงแรมและร้านอาหาร 0.4 ล้านแห่ง และกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 0.2 ล้านแห่ง
แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจ SMEs ในไทย ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับทุกความท้าทายที่เกิดขึ้น ทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สุดท้าย เมื่อเศรษฐกิจและ SMEs ไทย เจอปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย
ดังนั้น สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือเราต้องโฟกัสกับสิ่งที่สามารถควบคุมได้
เข้าใจจุดแข็งของธุรกิจตัวเองมากขึ้น
โดยเลือกที่จะ “ทำอะไร” หรือ “ไม่ทำอะไร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจให้ Lean มากขึ้น
และที่สำคัญ ต้องตระหนักว่า การทำธุรกิจก็เหมือนกับการวิ่ง บางครั้งอาจจะมีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อากาศไม่เป็นใจ ฝนตก
แต่เรื่องที่ควบคุมได้ คือ การหารองเท้าวิ่งของตัวเองให้เหมาะสม พัฒนาร่างกายตัวเองให้พร้อม และปรับเปลี่ยนแผนการวิ่งได้เสมอ
เพราะการวิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง
คือเกมระยะยาว ที่ไม่เคยมีเส้นชัยที่สิ้นสุด..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon