รู้จัก ACPG หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

รู้จัก ACPG หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ACPG x ลงทุนแมน
หากพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทย สิ่งที่น่ากังวลตามมาก็คือเรื่อง ‘หนี้เสีย’ หรือ NPL (Non-performing Loan) จากทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วันขึ้นไป นับแต่วันครบกำหนด
เมื่อมีหนี้เสียเป็นจำนวนมาก หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
ซึ่งสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองเงินสำหรับหนี้เสียเหล่านี้ โดยไม่สามารถนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ นอกจากจะขายหนี้เสียเหล่านี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์นำไปบริหารจัดการต่อไป
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) มูลค่า 497,952 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) มูลค่า 132,236 ล้านบาท
บมจ.อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป หรือ ACPG เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์จากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 (ไม่รวมบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นบริษัทในเครือของสถาบันการเงิน) จากรายงานการประเมินอุตสาหกรรมบริษัทบริหารสินทรัพย์ ณ เดือนสิงหาคม 2566 จัดทำโดยบริษัท อิปซอสส์ จำกัด และมีทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และมากด้วยประสบการณ์ในธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี พร้อมที่จะปลดล็อกศักยภาพของหนี้เสียเหล่านี้ผ่านการให้บริการบริหารสินทรัพย์แบบครบวงจร เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
หลายคนอาจสงสัยว่า ACPG มีการบริหารหนี้เสียเหล่านี้อย่างไร?
แล้วทำไมธุรกิจนี้ถึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ACPG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย โดยปัจจุบัน ACPG ถือหุ้นร้อยละ 100 ในบริษัท บริหารสินทรัพย์อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC) ซึ่งดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธุรกิจของ ACPG สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

1) ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) โดย ACPG มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่มีความหลากหลายทั้งประเภทของทรัพย์สินและที่ตั้ง เช่น บ้าน ที่ดิน หรืออาคารต่างๆ โดยทำการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายอื่นในประเทศไทยมาบริหารจัดการผ่านการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้
2) ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยทรัพย์สินรอการขายของ ACPG ส่วนใหญ่มาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทจากการขายทอดตลาด การตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้ และบางส่วนมาจากการเข้าประมูล หรือเข้าซื้อโดยตรงตามเงื่อนใขที่กำหนดโดยผู้ขาย โดยบริษัทจะคำนึงถึงคุณภาพของทรัพย์สินและความต้องการของตลาดเพื่อให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ในราคาที่เหมาะสม
อธิบายง่ายๆ คือ ทั้ง 2 ธุรกิจนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ยกตัวอย่าง นาย A กู้ซื้อบ้านกับธนาคาร โดยมีบ้านเป็นหลักประกัน แต่ไม่ได้ชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน นับแต่วันครบกำหนด ธนาคารจะถือว่าหนี้นั้นกลายเป็น สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ NPL ต่อมาธนาคารอาจจะมีการจำหน่าย NPL ดังกล่าว และ ACPG อาจจะเข้าประมูลเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) จากธนาคารเพื่อนำมาบริหารจัดการผ่านการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับนาย A โดยภายหลังจากการเจรจาหากนาย A ตกลงที่จะตีทรัพย์ชำระหนี้ ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) นั้นก็จะกลายเป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ซึ่ง ACPG จะนำทรัพย์สินดังกล่าวไปปรับปรุงหรือซ่อมแซมเพื่อให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและพร้อมขายต่อไป
ทีนี้ลองมาดูว่าจากธุรกิจ ACPG มีความน่าสนใจอย่างไรในเชิงธุรกิจและสังคมบ้าง
เริ่มจากการที่ ACPG เป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และ ACPG เชื่อว่ารูปแบบธุรกิจของบริษัทจะทำให้บริษัทสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ทุกสภาวะเศรษฐกิจ โดยในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น (Economic Expansion) บริษัทคาดว่าลูกหนี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น รวมถึงบริษัทอาจจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ได้ในราคาที่ดีขึ้นด้วย ส่งผลให้ ACPG มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Economic Recession) อุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในราคาที่เหมาะสมและอาจส่งผลให้บริษัทได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกระบวนการทำงานของ ACPG ก็เป็นระบบและมีประสิทธิภาพทั้งในการจัดหา การบริหารจัดการ ไปจนถึงการสร้างกระแสเงินสดจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขาย นอกจากนี้บริษัทยังมีกลยุทธ์การปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้
โดย ACPG มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งบริษัทสามารถที่จะติดตามหนี้จากลูกหนี้ได้โดยการรับชำระเป็นเงิน หรือรับชำระหนี้ที่คงเหลือผ่านกระบวนการทางศาลด้วยการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและนำไปขายทอดตลาดได้ หรือการตีทรัพย์ชำระหนี้ โดยหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายของบริษัทมีความหลากหลายทั้งประเภททรัพย์สินและที่ตั้ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการด้อยมูลค่า (Impairment Risk) จากการลดการกระจุกตัวของประเภทและที่ตั้งของทรัพย์สิน
อีกหนึ่งความโดดเด่นของ ACPG ที่เป็นจุดแข็งคือมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกว่า 20 ปี ทำให้มีความเข้าใจในกระบวนการทำงานและอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี โดยเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ วิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Crisis) (ปี 2551) วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป (ปี 2553) และวิกฤตโควิด-19 (ปี 2563) ส่งผลให้บริษัทสามารถเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
รวมถึงฝ่ายกฎหมายที่มีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย อีกทั้งกระบวนการทำงานภายในของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้รับการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและสภาวะอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ACPG ยังมีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ (Lean Structure) เหมาะสมกับขนาดและลักษณะการดำเนินงานของบริษัท ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานต่อสภาวะอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
สำหรับรายได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ของ ACPG มีดังนี้
ปี 2563 รายได้ 381.3 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 475.0 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 728.0 ล้านบาท
6 เดือนแรกของปี 2566 รายได้ 311.1 ล้านบาท
แน่นอนว่าการบริหารจัดการหนี้เสียของ ACPG มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีผลดีโดยตรงดังนี้
- ลูกหนี้ สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
- สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะสามารถลดหนี้เสียลงและสามารถนำเงินไปขับเคลื่อนธุรกิจในส่วนอื่นๆ ได้ต่อไปซึ่ง ACPG เชื่อว่าบริษัทเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบให้แก่ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทยไทยจากการมีส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน
โดย ACPG เชื่อมั่นว่าจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้หลักการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม…

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon