Toys“R”Us เคยช่วย Amazon ให้อยู่รอด แต่ตัวเองล้มละลาย

Toys“R”Us เคยช่วย Amazon ให้อยู่รอด แต่ตัวเองล้มละลาย

Toys“R”Us เคยช่วย Amazon ให้อยู่รอด แต่ตัวเองล้มละลาย /โดย ลงทุนแมน
ในโลกธุรกิจ ไม่มีเพื่อนหรือพันธมิตรที่แท้จริง
เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องแสวงหาผลประโยชน์
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
กรณีของ Toys“R”Us และ Amazon ก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งคู่เคยเป็นพันธมิตรช่วยเหลือกัน แต่กลับเกิดเรื่องขัดแย้ง จนสุดท้ายกลายเป็นคู่แข่งกัน
ปัจจุบัน Amazon เป็นบริษัทมูลค่ามากสุด อันดับ 5 ของโลก ผิดกับ Toys“R”Us ที่ล้มละลาย..
เรื่องราวของทั้งคู่เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
Toys“R”Us ถูกปั้นขึ้นมาโดยคุณ Charles Lazarus ในปี 1948 หรือเมื่อ 75 ปีก่อน
ที่วอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยเริ่มแรกเขาเปิดร้านขายอุปกรณ์สำหรับเด็กทารก เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราการเกิดของเด็กในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงมาก
หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายไปยังธุรกิจของเล่น และตัดสินใจขายธุรกิจอุปกรณ์สำหรับเด็กทารก เพื่อหันมาโฟกัสกับธุรกิจร้านขายของเล่นอย่างเดียว
โดยใช้ชื่อว่า Toys“R”Us เป็นครั้งแรกในปี 1957 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการเป็นผู้นำตลาดของเล่นเด็กในตอนนั้น
เพราะกลยุทธ์ที่สำคัญ นั่นคือ ขายในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น 20% ถึง 50% ซึ่งความสามารถในการทำให้ต้นทุนต่ำได้ขนาดนี้ มาจากการสั่งของครั้งละมาก ๆ จากจำนวนสาขาที่เยอะนั่นเอง
และการขายได้ราคาถูกขนาดนี้ ทำให้คู่แข่งของเล่นเจ้าอื่น เช่น Child World และ Lionel ต้องล้มละลาย เพราะ Toys“R”Us แย่งส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1
กลยุทธ์การขายราคาถูก ยังทำให้บริษัทประสบความสำเร็จจนสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ และนำเงินจากการระดมทุนไปขยายตลาดต่างประเทศได้อีกมากมาย
ตอนนี้ อนาคตของร้านขายของเล่นก็ดูเหมือนจะสดใสดี และสามารถครองตลาดอย่างนี้ไปได้เรื่อย ๆ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ กลับตรงกันข้าม
เพราะในช่วงปี 1990 คู่แข่งของ Toys“R”Us เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด เช่น Walmart ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ที่มีจำนวนสาขามากกว่าเยอะมาก
ผ่านไปเพียง 8 ปี Walmart สามารถขายของเล่นได้มากกว่า Toys“R”Us แล้ว
นอกจากนี้ Toys“R”Us ยังโดนคดีจากคณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ FTC ในข้อหาบังคับให้ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ ขายให้กับตัวเองแค่คนเดียว
เมื่อมรสุมสองด้านเข้ามาพร้อมกัน ทำให้ Toys“R”Us เจอช่วงเวลาที่ยากลำบากในสหรัฐฯ แต่ยอดขายนอกประเทศก็ยังเติบโต และขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง
และ Toys“R”Us เองก็ยังปรับตัวตามกระแสเว็บไซต์ดอตคอมในช่วงปี 1998 ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อนำสินค้าของตัวเองไปขายบนนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้ว Toys“R”Us ไปเกี่ยวข้องกับ Amazon ในตอนไหน ?
ก็ต้องบอกว่า Amazon ก่อตั้งขึ้นมาจากการเปิดขายหนังสือบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อปี 1994 ก่อนจะมีเพลง วิดีโอ และสินค้าอื่น ๆ ตามมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2000 วิกฤติฟองสบู่ดอตคอมได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ของหุ้นที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และใช้คำว่าดอตคอมต่อท้าย ถูกปั่นราคาสูงเกินไป
ในที่สุดแล้ว ก็ได้เกิดการเทขายอย่างหนัก ซึ่งทำให้ Amazon ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ราคาหุ้นตกลงถึง 94%
ในตอนนั้น คนก็มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ Amazon น้อยลง ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก และยิ่งทำให้สถานการณ์ของบริษัทย่ำแย่ลงไปอีก
จนกระทั่ง Amazon ตัดสินใจดีลธุรกิจกับ Toys“R”Us ซึ่งถือว่าเป็นร้านขายของเล่นรายใหญ่สุดในตอนนั้น
โดยข้อตกลงคือ Amazon จะได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของเล่นยอดนิยมของ Toys“R”Us
แลกกับการที่ Toys“R”Us ได้ผูกขาดเป็นผู้ขายของเล่น และสินค้าสำหรับเด็กแต่เพียงผู้เดียวบน Amazon
จากดีลนี้ Toys“R”Us ต้องจ่ายเงินให้กับ Amazon ราว 1,838 ล้านบาทต่อปี เป็นค่าบริหาร บวกกับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ยอดขายบนเว็บไซต์ Amazon
เรื่องนี้ก็เป็นดีลที่วิน-วินทั้งคู่ เพราะแทนที่ Toys“R”Us จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อทำเว็บไซต์ขายทางออนไลน์ และงานหลังบ้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ช่องทางของ Amazon ที่ดีอยู่แล้ว เป็นช่องทางขายออนไลน์ช่องทางหลัก ส่วน Amazon ก็ได้ทั้งเงิน และแบรนด์ร้านค้ารายใหญ่มาดึงดูดลูกค้า
แม้ทั้งคู่จะเซ็นสัญญาดีลนี้ไว้ 10 ปี แต่แค่ 2 ปีถัดมา หลังจากที่ Amazon เริ่มฟื้นตัว ก็เริ่มนำร้านต่าง ๆ รวมไปถึงของเล่นเจ้าอื่นเข้ามาขายในเว็บไซต์
Toys“R”Us ไม่พอใจเป็นอย่างมาก และฟ้องร้อง Amazon ที่ละเมิดสัญญา ซึ่งสุดท้าย Amazon ก็แพ้คดี และต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับ Toys“R”Us กว่า 1,875 ล้านบาท
หลังจากที่ทั้งคู่แยกทางกัน Toys“R”Us ก็ไม่ได้พัฒนาระบบขายออนไลน์ของตัวเองมากนัก จนมาเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือ บริษัทเริ่มมีหนี้สินจำนวนมาก
สาเหตุหลักก็มาจากการเข้าซื้อกิจการ Toys“R”Us ของกลุ่ม Bain Capital Partners LLC, Kohlberg Kravis Roberts และ Vornado Realty Trust เมื่อปี 2005
ตอนนั้น คนซื้อกิจการได้ใช้เงินตัวเองซื้อเพียงส่วนน้อย แต่เงินส่วนใหญ่มาจากการใช้สินทรัพย์ของบริษัท Toys“R”Us ไปกู้มาเพิ่ม (Leveraged Buyout) ทำให้ Toys“R”Us มีหนี้สินจำนวนมาก
เมื่อมีหนี้มาก สิ่งที่ตามมาคือ แต่ละปี Toys“R”Us ต้องจ่ายดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
บวกกับเมื่อมีการแข่งขันในตลาดซื้อขายออนไลน์ และค้าปลีกเพิ่มมากขึ้น ทั้งจาก Amazon, Walmart ก็ยิ่งทำให้ Toys“R”Us ปรับตัวไม่ทัน
เพราะเงินที่ควรนำไปสร้างระบบ หรือปรับปรุงการขายออนไลน์ กลับต้องนำมาจ่ายดอกเบี้ยนั่นเอง
จนในที่สุด Toys“R”Us ก็ปิดฉากร้านขายของเด็กเล่นที่ใหญ่สุดในโลก
ด้วยการขอยื่นล้มละลาย และเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
โดยหากไปดูผลประกอบการในช่วง 3 ปีย้อนหลังก่อนยื่นล้มละลาย จะพบว่า
ปี 2015 รายได้ 451,504 ล้านบาท
ขาดทุน 10,665 ล้านบาท

ปี 2016 รายได้ 431,085 ล้านบาท
ขาดทุน 4,748 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 421,515 ล้านบาท
ขาดทุน 1,314 ล้านบาท
เห็นได้ว่าบริษัทขาดทุน และรายได้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีหนี้สินระยะยาวถึง 169,556 ล้านบาท แต่มีเงินสดเพียง 20,673 ล้านบาทเท่านั้น
ตัดภาพไปที่ Amazon หลังจากที่แยกทางกับ Toys“R”Us และมีสินค้าของเล่นคู่แข่งวางขายอยู่บนเว็บไซต์ Amazon จำนวนมากแล้ว บริษัทก็ยังได้ขยายบริการขายออนไลน์ไปต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี
และยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ระบบคลาวด์ชื่อว่า AWS ซึ่งเป็นระบบจัดการข้อมูลที่ใช้กันไปทั่วโลกในตอนนี้ จนกลายเป็นอีกแหล่งรายได้ นอกจากระบบซื้อขายออนไลน์อย่างเดียวอีกด้วย
บทสรุปของเรื่องนี้ ทำให้เห็นเรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จ และผู้ล้มเหลวพร้อมกัน
ฝั่ง Toys“R”Us ก็พลาด เพราะกู้หนี้ยืมสินเกินตัว รวมถึงการที่นำงานขายออนไลน์ทั้งหมด ไปฝากไว้กับ Amazon และเชื่อใจว่าดีล 10 ปี จะอยู่ถึง 10 ปี ตามสัญญาจริง ๆ
ขณะที่ในฝั่งของ Amazon ที่เปลี่ยนจากการขายหนังสืออย่างเดียว มาเป็นขายสินค้าหลากหลายชนิด ก็คงคิดว่าในเมื่อ Amazon คือแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์
การวางขายสินค้าจากผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียวเป็นการลดความหลากหลาย และตัดทางเลือกของลูกค้าออกไป
Amazon จึงเลือกที่จะละเมิดข้อตกลง โดยการนำสินค้าหลากหลายแบรนด์เข้ามาขายมากขึ้น และยอมจ่ายค่าปรับ
หลังจากนั้น Amazon ก็ฟื้นจากวิกฤติ และเติบโตต่อมาได้ จนกลายมาเป็น 1 ใน 5 บริษัทมูลค่ามากสุดในโลก
ในขณะที่ Toys“R”Us ก็ต้องปิดร้านตัดขาดทุน และสุดท้าย ก็ได้ล้มละลายลง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-หนังสือ Your Next Five Moves ของ Patrick Bet-David with Greg Dinkin
-https://www.zippia.com/toys-r-us-careers-42082/history/
-https://www.failory.com/cemetery/toys-r-us
-https://www.dcwgrp.com/blog/how-amazon-took-down-toysrus-and-what-it-means-for-your-benefit
-https://brand-minds.medium.com/the-downfall-of-toys-r-us-dont-blame-amazon-c8885651638
-https://www.zippia.com/toys-r-us-careers-42082/competitors/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Toys_%22R%22_Us

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon