BDMS เครือโรงพยาบาลไทย 4 แสนล้าน ที่เกิดจากดีล ทางการเงิน

BDMS เครือโรงพยาบาลไทย 4 แสนล้าน ที่เกิดจากดีล ทางการเงิน

BDMS เครือโรงพยาบาลไทย 4 แสนล้าน ที่เกิดจากดีล ทางการเงิน /โดย ลงทุนแมน
โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
รู้หรือไม่ว่า โรงพยาบาลชื่อดังเหล่านี้ ล้วนมีเจ้าของเดียวกัน นั่นก็คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS
ที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
ได้ใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลอื่น ๆ จนเติบโตต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในดีล ที่เรียกได้ว่าเป็นดีลใหญ่ และเป็นส่วนสำคัญที่ดันให้ BDMS กลายเป็นเครือโรงพยาบาลใหญ่สุดในไทย ก็คือ การเข้าซื้อกิจการ โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล
ซึ่งดีลนี้ ได้มีตัวละครสำคัญ นั่นคือ คุณวิชัย ทองแตง ซึ่งยังเป็นอดีตทนายความมือหนึ่งของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยอีกด้วย
แล้วดีลดังกล่าว เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
คุณวิชัยมีอาชีพเป็นทนายความ แต่จุดที่ทำให้คุณวิชัย เริ่มหันมาสนใจโลกของการเงินแบบจริงจัง เกิดขึ้นในปี 2522
ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มรับหน้าที่ เป็นทนายความให้กับบริษัท ราชาเงินทุน
ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยล้มละลาย จากการปล่อยสินเชื่อ ให้กับคนทั่วไปแบบหละหลวม
เพราะคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น นำเงินกู้ไปเล่นหุ้น เพื่อเก็งกำไร จนไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ให้กับบริษัท ทำให้บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง และปิดตัวลงในที่สุด
ซึ่งคุณวิชัย ทองแตง ก็มารับหน้าที่เป็นทนายให้กับบริษัท
เพื่อเรียกร้องให้นักลงทุน หาเงินมาจ่ายหนี้คืนให้กับบริษัท
จากจุดนี้เอง ที่คุณวิชัยได้เริ่มสัมผัสกับโลกการเงิน จนเรื่องราวดำเนินมาถึงดีลใหญ่ ที่เราอาจพูดได้ว่า ใหญ่สุดสำหรับประเทศไทยในตอนนั้นเลยก็ว่าได้
ดีลดังกล่าว เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ พากันร่วงลงมาอย่างหนัก
คุณวิชัยก็ได้ลงทุน โดยการทยอยซื้อหุ้นโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น
- ซื้อหุ้นโรงพยาบาลศิครินทร์ ในปี 2542
- ซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล ในปี 2543
- ซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไท (บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา) ในปี 2544
ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้ กำลังมีปัญหา จากวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่คุณวิชัยและทีมงานของเขา ก็เข้าไปบริหาร ให้โรงพยาบาลเหล่านี้ สามารถรอดพ้นจากวิกฤติได้
ต่อมาในปี 2548 คุณวิชัยก็ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และก็ยังเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเปาโล 100%
เพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร และการเติบโต คุณวิชัยจึงได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิง ขึ้นมาถือหุ้นของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล อีกทีหนึ่ง..
โดยใช้ชื่อว่า บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค
จากการรวมกันของ 2 โรงพยาบาลใหญ่ ทำให้ในเวลานั้น บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค ถือเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
จะมีเพียงเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่นับเป็นคู่แข่งที่ใหญ่กว่า บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค
ซึ่งในเวลานั้น กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ยังใช้ชื่อย่อหุ้นว่า BGH
โดยกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีโรงพยาบาลในเครือ คือ
- โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรงพยาบาลสมิติเวช
- โรงพยาบาล BNH
ซึ่งในปี 2553 คุณวิชัยก็ได้พบกับนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
โดยนายแพทย์ปราเสริฐ เป็นผู้เสนอข้อตกลงให้คุณวิชัย
นำกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เข้ามารวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้เครือข่ายโรงพยาบาล มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ซึ่งคุณวิชัยก็ตกลงรับดีลนี้ โดยใช้เวลาในการตัดสินใจเพียง 50 วันเท่านั้น
จึงทำให้ในปี 2554 กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ทำการควบรวมกิจการ กับ บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค ด้วยมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เงินทุนที่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพนำมาซื้อกิจการส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และเงินสดที่มีอยู่
แต่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ จะใช้วิธีการแลกหุ้น กับเจ้าของโรงพยาบาลที่จะซื้อ ด้วยการออกหุ้นของบริษัทตัวเองเพิ่ม แล้วนำไปให้กับกลุ่มของคุณวิชัย ทองแตง
เจ้าของโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล
โดยมูลค่าหุ้นที่ถูกคิดในตอนนั้น คือหุ้นละ 37.75 บาท (ในขณะนั้นหุ้น BDMS ยังไม่แตกพาร์)
ซึ่งหุ้นที่ออกเพิ่ม ก็จะแบ่งให้
- คุณวิชัย ทองแตง ทั้งหมด 4 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 151 ล้านบาท
- บมจ.เฮลท์แคร์ เน็ตเวิร์ค ซึ่งมีคุณวิชัย ทองแตง และครอบครัว เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งหมด 231 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 8,720 ล้านบาท
ผลจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทำให้จำนวนหุ้นของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เพิ่มขึ้นจากเดิม 1,246 ล้านหุ้น กลายเป็น 1,481 ล้านหุ้น (มีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมา 235 ล้านหุ้น)
เมื่อมีการเพิ่มทุน ผลที่ตามมาก็คือ “Dilution Effect” หรือก็คือ จะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิม ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
มีสัดส่วนการถือหุ้น หรือมีความเป็นเจ้าของลดน้อยลง
สำหรับดีลนี้ ก็คือราว 16% เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของ โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล
แค่นั้นยังไม่พอ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็ยังใช้เงินกู้อีกกว่า 2,724 ล้านบาท เสนอซื้อหุ้น หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นรายย่อย ในกลุ่มโรงพยาบาลพญาไททั้งหมด
เพื่อต้องการควบรวมกิจการแบบเบ็ดเสร็จ
เมื่อรวมกันแล้ว ดีลนี้คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11,595 ล้านบาท
ผลจากการรวมกลุ่มโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน ทำให้ในปี 2555 คุณวิชัย ทองแตง ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโรงพยาบาลกรุงเทพ ในสัดส่วน 12%
ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพอีกด้วย
แล้วผลจากการควบรวมในครั้งนี้ เป็นอย่างไร ?
จากการควบรวมในครั้งนี้ ทำให้โรงพยาบาล ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เพิ่มขึ้นจาก 19 แห่ง กลายมาเป็น 27 แห่ง และจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นจาก 2,992 เตียง มาเป็น 4,639 เตียง
พอรวมกันสำเร็จ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีผลประกอบการในปี 2554 รายได้เติบโตจากปี 2553 ถึง 50% และมีกำไรเติบโตจากปี 2553 มากถึง 91% เลยทีเดียว
นอกจากนั้น หลังจากที่รวมกลุ่มโรงพยาบาลกัน ก็ทำให้ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีอัตรากำไรสูงขึ้นมากขึ้นด้วย โดย
- ปี 2553 มีอัตรากำไร 9.6%
- ปี 2554 มีอัตรากำไร 11.9%
- ปี 2555 มีอัตรากำไร 17.3%
และหลังจากปี 2555 กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็มีอัตรากำไร สูงมากกว่า 10% ทุก ๆ ปี
ซึ่งหลังจากที่ควบรวมกิจการแล้ว มีอัตรากำไรเพิ่มมากขึ้น นั่นก็เพราะว่า
- การบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่
ซึ่งโดยปกติแล้ว ก็ต้องบอกว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้น
จะต้องลงทุน และติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีราคาที่สูงมาก
ดังนั้น การมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ จะทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ในทุกโรงพยาบาล เพียงแค่ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในเครือ ก็เพียงพอแล้ว
- นอกจากนี้ ก็ต้องบอกว่า เครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ ก็ยังสามารถสั่งซื้อยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ในราคาถูก เพราะด้วยอำนาจการต่อรองที่สูงขึ้น และมีคำสั่งซื้อที่เยอะ
จนทำให้เกิด Economies of Scale ขึ้นนั่นเอง
ในเวลาต่อมา หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BGH) ก็ได้เปลี่ยนเป็น BDMS ในปี 2558
ในวันนี้ คุณวิชัย ทองแตง และครอบครัว ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง จนไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ BDMS แล้ว
ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของคนเดิม ถือหุ้นอยู่ 12.9%
ปัจจุบัน BDMS เป็นเจ้าของโรงพยาบาลกว่า 57 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนเตียงกว่า 8,434 เตียง มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 441,000 ล้านบาท เป็นเครือโรงพยาบาลที่มีมูลค่ามากสุดในประเทศไทย
ด้วยมูลค่าขนาดนี้ BDMS ก็ยังถือเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-http://www.efinancethai.com/hotnews/hot/h_151210h.asp
-รายงานประจำปี บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (ปี 2553, ปี 2554, ปี 2555 และปี 2565)
-รายงาน หุ้นเพิ่มทุนของ BGH เริ่มซื้อขายวันที่ 7 เมษายน 2554
-https://www.posttoday.com/business/82936
-https://mgronline.com/management/detail/9560000060507
-https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/BDMS/major-shareholders
-https://investor.bangkokhospital.com/th/general/company-background
-https://www.longtunman.com/41923
-https://www.billionmoney.com/9127
-https://www.gotoknow.org/posts/546958
-คำเสนอซื้อหลักทรัพย์ บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา โดย คุณวิชัย ทองแตง
-https://www.posttoday.com/business/687459
-https://companiesmarketcap.com/medical-care-facilities/largest-companies-by-market-cap/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon