สรุป ขั้นตอนก่อนจะมาเป็น หุ้น IPO

สรุป ขั้นตอนก่อนจะมาเป็น หุ้น IPO

สรุป ขั้นตอนก่อนจะมาเป็น หุ้น IPO
ก.ล.ต. X ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า IPO คืออะไร
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก
ซึ่งนับเป็นกลไกหนึ่งในการระดมทุนของภาคธุรกิจจากประชาชน
เพื่อนำทุนไปใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายกิจการต่าง ๆ
รู้หรือไม่ว่า ไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบริษัทเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 12 บริษัท
รวมมูลค่าเสนอขาย 11.5 พันล้านบาท
(มูลค่ารวมของการเสนอขายหุ้น IPO และหุ้นเดิมที่เสนอขายในคราวเดียวกัน)
ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการเสนอขาย 8.44 พันล้านบาท
ตัวเลขนี้สะท้อนได้ดีทีเดียว ทั้งความเชื่อมั่นของคนไทยในฝั่งผู้ประกอบการ และฝั่งนักลงทุน
แต่โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะตลาดทุนไทยมีความน่าเชื่อถือ มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล
รวมถึงมีการเปิดเผยที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ
แล้วเบื้องหลังกระบวนการก่อนจะมาเป็นหุ้น IPO เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญด้านตลาดทุนของไทย
ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุนในทุกแง่มุม
ไม่เว้นแม้แต่การระดมทุน IPO ของบริษัทต่าง ๆ
โดยเริ่มต้นตั้งแต่ กระบวนการคัดกรองคุณภาพ ของบริษัทที่จะ IPO
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าหน้าที่ของ ก.ล.ต. คือ การกำหนดบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพ
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อผู้ลงทุน
ก.ล.ต. จึงมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายส่วนที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ว่าจะเป็น
- ที่ปรึกษาทางการเงิน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัท
ในบางกรณีอาจจัดให้มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อให้ความเห็นประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญด้วย
- ผู้สอบบัญชี ทำหน้าที่ตรวจสอบ และรับรองงบการเงินของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี
- ผู้ตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการดำเนินงานของบริษัท
- คณะกรรมการตรวจสอบ ดูแลรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายใน กฎระเบียบต่าง ๆ
รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำที่อาจมิชอบ หรือรายการที่มีความเกี่ยวโยงกันของกรรมการ และ/หรือผู้บริหารระดับสูง
ซึ่งบุคคลเหล่านี้ มีบทบาทในการให้ความเห็น และตรวจเช็กความพร้อมของบริษัทต่าง ๆ ที่จะเสนอขายหุ้น IPO ต่อประชาชน นั่นเอง
ทีนี้ เมื่อบริษัทต่าง ๆ อยู่ภายใต้กระบวนการคัดกรองคุณภาพที่ถูกต้องแล้ว
กระบวนการของ ก.ล.ต. ต่อมาก็คือ การพิจารณาอนุญาตการเสนอขายหุ้น IPO
ตัวอย่างเกณฑ์เชิงคุณภาพที่ใช้พิจารณา ก็เช่น
- โครงสร้างการถือหุ้น มีความชัดเจน เป็นธรรม
- กลไกการบริหารจัดการ สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น
- กรรมการและผู้บริหาร มีคุณสมบัติเหมาะสมและไว้วางใจได้
- งบการเงิน จัดทำถูกต้องตามมาตรฐาน และน่าเชื่อถือ
- ระบบควบคุมภายใน มีความเหมาะสม
ข้อมูลทั้งหมดนี้ ยังถูกเปิดเผยต่อสาธารณะที่เรียกว่า การเปิดเผยข้อมูลในแบบ Filing
เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์ และตัดสินใจลงทุนหุ้น IPO
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ในขั้นตอนการยื่นคำขอเสนอขายหุ้น IPO ด้วย เนื่องจากภายหลังจากที่บริษัทดำเนินการเสนอขายหุ้น IPO ไปแล้ว บริษัทก็จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานและการกระจายการถือหุ้นเป็นไปตามเกณฑ์อีกด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญคือ การจัดสรรหุ้น IPO
โดยปกติแล้วการจัดสรรหุ้น IPO จะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ
1. Issuer หรือ บริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการออกและเสนอขายหุ้น IPO เป็นผู้จัดสรร
ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย
และเมื่อรวมกับกรรมการ, พนักงาน และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ (Related Persons หรือ RP) จะต้องไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย
เพื่อให้เกิดการกระจายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ
2. Underwriter หรือ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่รับจองและจัดสรรหุ้น IPO เป็นผู้จัดสรร
ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรหุ้นของ Underwriter มักจะให้แก่ลูกค้าของ Underwriter เป็นหลัก
อย่างไรก็ตามต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดไว้
ที่สำคัญคือ ข้อมูลการจัดสรรหุ้น IPO ทั้งหมดนี้ ต้องอยู่ในหนังสือชี้ชวนอย่างชัดเจน
เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากขายหุ้น IPO ไปแล้ว..
บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ จะมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูล และนำส่งงบการเงิน หรือรายงานต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ส่วนในการดำเนินกิจการ กรรมการ และผู้บริหารต้องทำหน้าที่บริหารกิจการ ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด
ส่วนเราที่เป็นนักลงทุนเอง หน้าที่สำคัญเลยก็คือ การติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
เพราะผู้ถือหุ้นมีสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วม จึงต้องไม่ลืมที่จะดูแลสิทธิของตนเองด้วย
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าเส้นทางของหุ้น IPO ก่อนจะถูกเสนอขายแก่นักลงทุน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
และต้องผ่านกระบวนการสำคัญต่าง ๆ อย่างเข้มข้น
พูดง่าย ๆ ว่า หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลัง “กว่าจะมาเป็นหุ้น IPO” ก่อนเสนอขายแก่นักลงทุน มาจากกระบวนการคัดกรอง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon