สำรวจธุรกิจ Makro กับความแข็งแกร่งในสมรภูมิ Modern Trade

สำรวจธุรกิจ Makro กับความแข็งแกร่งในสมรภูมิ Modern Trade

สำรวจธุรกิจ Makro กับความแข็งแกร่งในสมรภูมิ Modern Trade
Makro X ลงทุนแมน
จากการโอนกิจการของ Lotus's ไปอยู่ในอ้อมกอด Makro
เป็นเสมือนการต่อจิกซอว์ภาพการเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดให้แก่ Makro ในทันที
เพราะการมี Lotus’s เป็นธุรกิจในเครือครั้งนี้ ทำให้ Makro มีโมเดลธุรกิจที่จับกลุ่มลูกค้าได้ครบถ้วน
เมื่อปลายปี 2565 Makro มี 152 สาขาใน 70 จังหวัด และมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง 10-12 สาขาต่อปี
โดยมีฐานลูกค้าหลักในกลุ่ม B2B ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยต่าง ๆ กลุ่มโฮเรก้า อย่างโรงแรม
ร้านอาหาร ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง โดยมีฐานลูกค้าสมาชิกรวมกันกว่า 4.5 ล้านราย
ทางฝั่ง Lotus's ที่มี 2,578 สาขา ทั่วประเทศ และมีฐานลูกค้าหลักคือ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมากกว่า 20 ล้านราย ผ่านสาขาหลากหลายรูปแบบ
รายได้ของทั้ง 2 แบรนด์ ถูกนำมารวมอยู่ในงบการเงินเดียวกัน
ส่งผลให้รายได้ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โตอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนจากผลประกอบการล่าสุด
ไตรมาสแรกปี 2566 Makro มีรายได้รวม 120,222 ล้านบาท เติบโต 7.9%
กำไรสุทธิ 2,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
เป็นการเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่รายได้และจำนวนลูกค้ามหาศาล จนถึงสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นเสมือนป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่ทำให้คู่แข่งต้องคิดหนัก
การไล่ตามทั้งจำนวนสาขาและการแย่งชิงลูกค้าให้เปลี่ยนใจจาก Makro และ Lotus's แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
ถ้าถามว่าแบรนด์ค้าส่งรายไหน ที่ผู้ประกอบการคนไทยคุ้นเคยมากที่สุด
Makro น่าจะเป็นชื่อแรกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
เพราะตลอดระยะเวลากว่า 33 ปีที่ผ่านมา Makro ใช้จุดแข็งในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier และการบริหารจัดการเพื่อทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ลูกค้าสามารถเอื้อมถึงได้ เป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปขายต่อได้
ส่วนในกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม ก็มีอาหารสดและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่คุณภาพสูงในราคาเหมาะสม
ผลที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการทำธุรกิจมีกำไรดี และเติบโตไปพร้อม ๆ กับ Makro
อีกมุมหนึ่ง Makro ก็มีสารพัดโครงการช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการมากมาย
ที่รู้จักกันดีก็คือ “มิตรแท้โชห่วย” หลักสูตรอบรมความรู้การบริหารจัดการร้านค้าโชห่วยท้องถิ่นให้เติบโตและยั่งยืนอยู่กับชุมชนต่าง ๆ
วิธีนี้ นอกจากจะทำให้ร้านโชห่วยทั่วประเทศเติบโตไปพร้อม ๆ กับ Makro แล้ว
อีกมุมหนึ่ง ยังเป็นการสร้างความผูกพันกับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการไม่ให้คิดนอกใจไปที่อื่น
ส่วนอีกหนึ่งไม้ตาย ที่ทำให้ Makro ชนะใจลูกค้าก็คือ ความหลากหลายที่ตอบโจทย์ เช่น
- Makro ดั้งเดิม จับกลุ่มเจ้าของร้านโชห่วย
- Makro Food Service ที่ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รองรับกำลังซื้อจากเจ้าของร้านอาหารทั่วประเทศ
- Siam Frozen ศูนย์รวมอาหารแช่แข็ง
จนถึงล่าสุด เปิดตัว Makro PRO แอปพลิเคชัน เชื่อมต่อการซื้อ – ขายออนไลน์และออฟไลน์ ของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าในยุคปัจจุบัน แถมลงทุนปรับพื้นที่กว่า 100 สาขา เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดย่อย รองรับการแพ็กและจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว
เรียกได้ว่า Makro มีอาวุธการขายครบครันที่เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม
ด้าน Lotus’s เองก็มีแนวทางการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างที่น่าสนใจ
ในอดีตเมื่อพูดถึงโลตัส เราจะนึกถึงการเป็นห้างค้าปลีกอย่างเดียว ผ่านรูปแบบสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านไซซ์เล็กอย่าง Lotus Express
แต่เวลานี้.. Lotus's กำลังสร้างอีกหนึ่งภาพจำคือ การเป็น “New SMART Retail” ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละพื้นที่ มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกในการช็อป พร้อมการตกแต่งสาขาให้ทันสมัย
ขณะเดียวกัน Lotus's ทุกสาขาหน้าร้านจะเชื่อมต่อกับออนไลน์เป็น Omni-channel ผ่านทาง Platform E-Commerce อย่าง Lotus’s SMART App ที่รวมการช็อปปิงออนไลน์ และระบบสมาชิกที่ชื่อว่า My Lotus’s อยู่ใน App เดียว ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 7.8 ล้านครั้ง
พอจะเดากันออกว่า Lotus's กำลังมุ่งไปสู่การเป็น New Digital Retail Concept เทรนด์ค้าปลีกในโลกอนาคต ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาเชื่อมต่อการช็อปปิงหน้าร้าน กับออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยแนวคิดนี้ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อน Lotus's จากนี้ไปจนถึงอนาคต
ทุก ๆ การเคลื่อนไหวของ Lotus's ในตอนนี้ ไม่ใช่แค่การฉีกหนีทิ้งห่างคู่แข่งในตลาดอย่างเดียว
แต่กำลังสร้างประสบการณ์ในการช็อปปิงที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่วนในมุม Synergy หรือการใช้ความแข็งแกร่งของ Makro กับ Lotus's มาช่วยเสริมศักยภาพให้กันและกันก็ทำได้หลายวิธี เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายทางธุรกิจให้ลดลง จนถึงช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การบริหารต้นทุนด้านพลังงานที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก
เมื่อทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก หันมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้น ด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสาขา Makro กว่า 76 แห่ง ส่วน Lotus's ติดตั้งไปแล้ว 566 สาขา
โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 ทั้ง Makro และ Lotus's จะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกันกว่า 1,150 สาขา สร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 13% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ลดต้นทุนทางธุรกิจไปได้อีก
ด้านการมุ่งสู่การเป็นผู้นำในตลาดค้าส่งค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย ทั้ง 2 แบรนด์นี้ก็มีนโยบาย “บุกตลาดต่างประเทศ” ปัจจุบันมีสาขาในต่างประเทศซึ่งทางฝั่ง Lotus's มี 65 สาขา ในประเทศมาเลเซีย ส่วน Makro มี 10 สาขา ในหลายประเทศ แน่นอนว่า ทั้ง 2 แบรนด์ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันในภารกิจการเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย
ถึงตรงนี้ เราคงเคยได้ยินว่า 1+1 ไม่จำเป็นต้องเป็น 2 เสมอไป
โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ ที่ผลลัพธ์อาจจะเป็น 100 เป็น 1,000 ก็ได้
มันขึ้นอยู่ว่าเลข 1 นั้น มีมูลค่าในเชิงธุรกิจและแข็งแกร่งมากแค่ไหน
เหมือนอย่าง Makro เมื่อบวกกับ Lotus's ที่ต่างฝ่ายต่างแข็งแกร่งในตัวเองอยู่แล้ว
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย ที่มาพร้อมกับการพัฒนาด้านสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ก็คือ ลูกค้าทั่วประเทศ
ตรงนี้แหละ ที่ถือเป็นป้อมปราการที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุด
ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ในสมรภูมินี้ต้องคิดหนัก…
References
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำไตรมาสแรกปี 2566
-https://www.brandage.com/article/32065/
-https://www.siammakro.co.th/index.php#Home
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon