เงินปอนด์ อ่อนค่ามากสุด ในรอบ 37 ปี

เงินปอนด์ อ่อนค่ามากสุด ในรอบ 37 ปี

เงินปอนด์ อ่อนค่ามากสุด ในรอบ 37 ปี /โดย ลงทุนแมน
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราอาจจำกันได้ว่า 1 ปอนด์สเตอร์ลิง มีค่าราว 60 บาท
แต่วันนี้ กลับเหลือเพียง 42 บาท หรือเท่ากับ 1.15 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
เรียกได้ว่าเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 37 ปี
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเงินปอนด์ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
British Pound Sterling หรือ ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นสกุลเงินหลักของสหราชอาณาจักรและอาณานิคม
โดยปอนด์สเตอร์ลิง เคยเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
ในช่วงปี 1991 ถึงปี 2007 เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเคยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันถึง 63 ไตรมาส
ในช่วงเวลานั้น ถูกเรียกว่า “Great Moderation” หรือก็คือเป็นช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
เศรษฐกิจจึงสามารถเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
โดยในขณะนั้น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง มีค่าเท่ากับ 2.10 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่หลังจากช่วง Great Moderation ในปี 2007 สิ้นสุดลง
เงินปอนด์สเตอร์ลิง กลับอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง
หลัก ๆ เกิดขึ้นมาจาก 3 เหตุการณ์สำคัญ
เหตุการณ์แรกคือ “วิกฤติการเงินซับไพรม์” ในช่วงปี 2008
จากวิกฤติการเงินในครั้งนั้น สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เช่น หุ้น ต่างถูกเทขาย
โดยหุ้นธนาคาร Lloyds Banking Group ของอังกฤษ ร่วงลง 50%
ในขณะที่ Barclays ก็ร่วงลง 12%
เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ทำให้ Dollar Index หรือดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น 23% ในช่วงระยะเวลาประมาณ 8 เดือน
ในทางตรงกันข้าม ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร ก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มตัว
จนถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือลง จากระดับสูงสุด คือ AAA ลงมาอยู่ที่ระดับ AA+
เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารกลางอังกฤษจึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
มากถึง 50,000 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท
บวกกับการที่ประชาชนกลัวว่า เหตุการณ์เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ในสมัยปี 1931 หรือเมื่อตอนถูกถอดออกจากระบบ Gold Standard จะกลับมาอีกครั้ง
เหตุการณ์ทั้งหมด ทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง ร่วงลงจาก 2.10 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2007
มาอยู่ที่ 1.40 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2009
วิกฤติทางการเงินในครั้งนี้ ยังทำให้สหราชอาณาจักร “ขาดดุลงบประมาณ” หนักขึ้น
จากเดิมที่ขาดดุลราว 3% ของ GDP ก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของ GDP ในปี 2010
ส่งผลให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น 2 เท่า จาก 34% ต่อ GDP ในปี 2007
เป็น 68% ต่อ GDP ในปี 2010 และจากนั้นสัดส่วนก็สูงขึ้นทุกปี
นอกเหนือจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลง
ก็คือ “Brexit” หรือการออกจากสหภาพยุโรป
ซึ่งเริ่มมีมติตั้งแต่ปี 2016 เพราะสหราชอาณาจักร ไม่อยากรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิก และจากประเทศอื่น ๆ โดยมองว่าทำให้เกิดปัญหาการแย่งงาน หรือแม้แต่ปัญหาอาชญากรรม
ซึ่งก็รวมไปถึง การไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ที่กำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น กรณีการเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะกรีซ ในปี 2010 ที่สหภาพยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก ทำให้ชาวอังกฤษไม่พอใจ เนื่องจากนำเงินจากภาษีของพวกเขาไปใช้
รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่ปี 2000 สหราชอาณาจักรได้จ่ายค่าสมาชิกแก่สหภาพยุโรป เป็นจำนวนกว่า 4.2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการ Brexit ก็มีเช่นกัน
เพราะการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ต้องเจอกับกำแพงภาษี
ทำให้ต้นทุนในประเทศสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น
สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น ความต้องการสินค้าจากสหราชอาณาจักรจึงลดลง
อีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง
ก็คือ ผลิตภาพแรงงานที่แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย หลังจากโดนผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์
ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ขาดดุลติดต่อกันมามากกว่า 20 ปี ขาดดุลหนักกว่าเดิม
ปี 1986 ขาดดุล 1.0% ของ GDP
ปี 2008 ขาดดุล 3.8% ของ GDP
ปี 2016 ขาดดุล 5.2% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักร ก็ยังมี FDI หรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ เข้ามาราว 30-50 ล้านล้านบาทในแต่ละปี สำหรับการจัดตั้งบริษัท หรือโรงงานในระยะยาว ซึ่งก็เพียงพอที่จะเข้ามาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้บ้าง
แต่เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น จากมติ Brexit ก็ทำให้เงินลงทุนส่วนนี้ลดลงไปเรื่อย ๆ
ปี 2017 มีเงินลงทุน 2,265 โครงการ
ปี 2021 มีเงินลงทุน 1,538 โครงการ
ซึ่งลดลงในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ซอฟต์แวร์, คอมพิวเตอร์, วิศวกรรมขั้นสูง, ซัปพลายเชน, โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงคมนาคม
และเมื่อข้อตกลง Brexit มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม ปี 2021
ตัวเลขการค้าระหว่างสหราชอาณาจักร ไปยังสหภาพยุโรป เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2020 ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการส่งออกลดลง 45% และการนำเข้าลดลง 32%
หากนับช่วงเวลา จากที่เริ่มมีมติ Brexit คือปี 2016 ไปจนถึงปี 2021
GDP ของสหราชอาณาจักร เติบโตได้แค่ 14.3% เท่านั้น
ซึ่งช้ากว่าประเทศผู้นำอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างเช่น
- เยอรมนี เติบโต 32.2%
- สเปน เติบโต 25.6%
- ฝรั่งเศส เติบโต 23.0%
- อิตาลี เติบโต 16.3%
ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดก็คือ ปัญหาโรคระบาด ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปี 2020
ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก การที่ธนาคารกลางทั่วโลก อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบ เพื่อพยุงเศรษฐกิจตอนช่วงวิกฤติโควิด 19 ผสมเข้ากับราคาพลังงานที่สูงขึ้น จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
แม้ว่าสหราชอาณาจักร จะไม่ได้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยตรง แต่ยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่น ๆ ประมาณ 35%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เท่ากับ 9.9% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 9.1% ด้วย
ขณะที่ฝั่ง FED หรือธนาคารกลางสหรัฐ ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างร้อนแรง เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน
ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีไปแล้ว
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
จนวันนี้ เหลือเพียง 1.15 ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่าที่สุด ตั้งแต่ปี 1985 หรือในรอบ 37 ปี
ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร กำลังขาดดุลแฝด หรือก็คือมีการขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลบัญชีงบประมาณไปพร้อม ๆ กัน เช่นเดียวกันกับหลายประเทศ เช่น ลาว ศรีลังกา บังกลาเทศ
นอกจากนั้น สหราชอาณาจักรก็ยังมีหนี้ต่างประเทศ สูงถึง 317% ของ GDP
หากเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ที่เปรียบเสมือนตัวช่วยของสหราชอาณาจักร ก็จะยิ่งลดน้อยลงมากไปกว่าเดิม
ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้น
เงินปอนด์สเตอร์ลิงก็น่าจะยิ่งอ่อนค่าลงอีก
ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า เราอาจจะได้เห็น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง
มีค่าน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามรอยเงินสกุลยูโรก็เป็นไปได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.economicshelp.org/blog/135/economics/falling-value-of-pound-sterling/
-https://www.economicshelp.org/blog/6901/economics/the-great-moderation/#:~:text=In%20the%20UK%2C%20the%20great,longest%20continued%20expansion%20on%20record.
-https://www.ft.com/content/72e286b4-deff-4805-8265-78c1eb17584b
-https://www.investmentmonitor.ai/analysis/two-years-brexit-uk-eu
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-01/once-unthinkable-parity-for-sterling-is-fast-on-the-horizon
-https://www.theguardian.com/business/2009/jan/20/pound-sterling-dollar-low
-https://tradingeconomics.com/united-kingdom/indicators
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/united-kingdom/external-debt--of-nominal-gdp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon