กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี /โดย ลงทุนแมน
22,126 ล้านบาท คือ ตัวเลขรายได้รวมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2563
โดยนอกจากมีรายได้มหาศาลเทียบเท่ากับบริษัทมหาชนแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 1,000 ไร่ บนถนนพระรามที่ 1 จรดถนนพระรามที่ 4 ที่เป็นดั่งไข่แดงของกรุงเทพมหานคร
ที่ดินทำเลทองของมหาวิทยาลัย มีมูลค่ามากขนาดไหน​ ?
แล้วรายได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปีนั้นมาจากอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย
มีจุดเริ่มต้นมาจาก "โรงเรียนสําหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน"
ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2442
ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดําริที่จะขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า
"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อปี 2459
ผ่านมานับ 100 ปีจากจุดเริ่มต้น
ตอนนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
จากข้อมูลในปี 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุคลากรทั้งข้าราชการ และพนักงานมหาวิทยาลัย รวม 8,138 คน และมีนิสิตทั้งสิ้น 37,626 คน โดย 70% เป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ขณะที่อีก 30% เป็นนิสิตในระดับที่สูงกว่า
ซึ่งที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีขนาดพื้นที่กว่า 1,153 ไร่
เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 258 สนาม
โดยมีการแบ่งใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็น
- พื้นที่การศึกษา 55%
- พื้นที่พาณิชย์ 34%
- พื้นที่ราชการยืมและเช่าใช้ 11%
แล้วที่ดินทำเลทอง ที่เป็นดั่งไข่แดงของกรุงเทพมหานครแห่งนี้ มีมูลค่าเท่าไร ?
จากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นรายถนนของกรมธนารักษ์ รอบบัญชีปี 2559-2562
ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 1, ถนนพระรามที่ 4, ถนนบรรทัดทอง, ถนนพญาไท และถนนอังรีดูนังต์
พบว่ามีราคาประเมินตั้งแต่ 260,000-900,000 บาทต่อตารางวา หากให้ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีราคา 900,000 บาทต่อตารางวา โดยไม่รวมมูลค่าสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ บนที่ดิน มูลค่าที่ดินทั้งหมด จะมีมูลค่าสูงถึง 415,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมูลค่าที่ดินสูงที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
หากลองมาดูผลประกอบการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะพบว่า
- ปี 2561 รายได้ 23,333 ล้านบาท รายได้เหนือรายจ่าย 4,905 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้ 25,850 ล้านบาท รายได้เหนือรายจ่าย 5,148 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 22,126 ล้านบาท รายได้เหนือรายจ่าย 2,040 ล้านบาท
โดยในแต่ละปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี
แล้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีรายได้มาจากอะไรบ้าง ?
จากงบการเงินในปี 2563 พบว่ามีรายได้มาจาก 4 แหล่ง คือ
- 9,000 ล้านบาท จากรัฐบาล และหน่วยงานวิสาหกิจ
- 5,900 ล้านบาท จากการดำเนินงานของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 3,600 ล้านบาท จากการจัดการศึกษา และบริการวิชาการ
- 3,500 ล้านบาท จากเงินอุดหนุน การลงทุน และอื่น ๆ
จะเห็นว่ารายได้หลักส่วนแรกมาจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ค่าบุคลากร และเงินอุดหนุนทั่วไป
รวมถึง เงินได้จากหน่วยงานวิสาหกิจ เช่น ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และอีกส่วนหนึ่งคือ การดำเนินงานของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เช่น การจัดสรรที่ดินไปใช้ในเชิงพาณิชย์
แล้วทำไมมหาวิทยาลัยต้องใช้ที่ดินมาสร้างรายได้
แม้จะมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว ?
คำตอบก็คือ เพื่อนำเงินรายได้มาพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย
โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องจัดสรรที่ดินไปใช้ในเชิงพาณิชย์ อย่างเช่น สยามสแควร์, ศูนย์การค้า MBK Center และสามย่านมิตรทาวน์ ก็เพื่อนำเงินที่ได้มาปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน
อีกทั้งจากการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งมีอิสระในการบริหารและจัดการ โดยไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบราชการเหมือนมหาวิทยาลัยของรัฐ
ทำให้สามารถบริหารรายได้ที่มีกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ได้อย่างอิสระ จึงสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้อย่างต่อเนื่อง
และจากการที่ยังคงมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่เหลือใช้อยู่จำนวนมาก
ก็น่าสนใจว่าหากมหาวิทยาลัยเหล่านั้น สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินได้มากขึ้น เราอาจจะมีมหาวิทยาลัยชั้นนำเพิ่มขึ้น รวมถึงเกิดแหล่งเศรษฐกิจใหม่ ๆ ล้อมรอบมหาวิทยาลัย เหมือนที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ย่านปทุมวัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นได้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทยอีกครั้ง
ซึ่งถูกจัดอันดับโดยบริษัทจัดทําสถิติทางการศึกษา QS World University Rankings
ถือเป็นการครองอันดับ 1 ของประเทศ เป็นเวลา 14 ปีซ้อน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2021/08/Chula_AnnualReport63_Oct2020-Sept2021.pdf
-https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2021/03/20210323_ChulaFinance62.pdf
-https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2014/01/20171003_CUFinan57.pdf
-https://th.wikipedia.org/wiki/จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
-https://pmcu.co.th/?page_id=10798
-https://www.chula.ac.th/news/75120/
-https://www.tcijthai.com/news/2014/01/scoop/4063
-https://www.treasury.go.th
-https://prachatai.com/journal/2020/12/90811

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon