ย้อนรอย “The Great Inflation” เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา

ย้อนรอย “The Great Inflation” เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา

ย้อนรอย “The Great Inflation” เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา /โดย ลงทุนแมน
ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยเผชิญกับเหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่
ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาด บวกกับการถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติน้ำมัน
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 13.5%
โดยทั่วไปแล้ว การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นจะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แต่ในขณะนั้น แม้เงินเฟ้อจะสูงแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังคงตกต่ำ แถมมีอัตราการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสภาพเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในปัจจุบัน
โดยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เราเรียกกันว่า “Stagflation”
วันนี้ เรามาดูกันว่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นเกิดขึ้น และจบลงอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
เศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชะลอตัวอีกครั้ง
รัฐบาลสหรัฐอเมริกากังวลว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
หรือ The Great Depression ในปี 1930 จะกลับมาซ้ำรอยเดิม
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชาวอเมริกันตกงานกัน จนมีอัตราการว่างงาน สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์
ในระหว่างช่วงปี 1963 ถึงปี 1969 สมัยของประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson
สภาคองเกรสจึงให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและการผลิต รวมถึงต้องจัดให้มีการประสานงานที่มากขึ้น ระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง
รวมถึงนโยบายภายในประเทศอย่าง The Great Society หรือการสร้างสังคมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศให้เฟื่องฟู
ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ตัดสินใจทุ่มงบประมาณ และทรัพยากรทางทหาร เข้าไปสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม
เพื่อให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ กระทรวงการคลัง และคุณ William Martin ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จึงต้องดำเนินนโยบายงบประมาณ “แบบขาดดุล” หรือก็คือการใช้จ่ายเงิน และก่อหนี้ของรัฐบาลจำนวนมหาศาล
จนเข้าสู่ช่วงปี 1970 ในสมัยของประธานาธิบดี Richard Nixon และประธาน Fed คนใหม่ อย่างคุณ Arthur Burns
ในยุคนี้ รัฐบาลก็ยังคงดำเนินนโยบายแบบขาดดุลอีกเช่นเคย จนทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มก่อตัวสูงขึ้นจาก 1.3% เป็น 6%
ความจริงแล้ว การใช้นโยบายจนอัตราเงินเฟ้อสูงขนาดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสหรัฐอเมริกายังคงผูกกับระบบ “Bretton Woods”
Bretton Woods คือระบบการเงินที่ให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผูกกับทองคำเพียงสกุลเดียว
ที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อทองคำ 1 ออนซ์
แล้วให้สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ มาผูกกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยค่าคงที่อีกทีหนึ่ง
โดยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ตามต้องการ
แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาต้องพิมพ์เงินออกมา เพื่อชดเชยกับงบประมาณที่ขาดดุลอย่างมหาศาล
จนทำให้ปริมาณเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเศรษฐกิจโลกมากกว่าปริมาณทองคำที่มี
ในที่สุดปี 1971 ประธานาธิบดี Nixon ก็ประกาศยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไว้กับทองคำ และมีการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลง
กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้ไปเต็ม ๆ ก็คือ กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางที่ส่งออกน้ำมัน
เพราะว่าโดยปกติแล้ว พวกเขารับรายได้จากการขายน้ำมันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าลดลง ก็เท่ากับว่ารายได้ส่วนนั้นก็จะหายไปทันที
นอกจากนั้นแล้ว ในปี 1973 ก็มาถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือเมื่อเกิดสงคราม “Yom Kippur”
หรือ ยมคิปปูร์ ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับอย่างซีเรียและอียิปต์
โดยในสงครามครั้งนั้น สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้
คิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันมากกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ชาติอาหรับยิ่งไม่พอใจ
กลุ่มประเทศ OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยการหยุดส่งน้ำมันดิบ
ให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร หรือที่เรียกว่า “Oil Embargo”
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งขึ้นถึง 3 เท่า
โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน ดังนี้
ปี 1973 ราคาน้ำมันดิบ 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 1974 ราคาน้ำมันดิบ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ในช่วงนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยบริโภคน้ำมันสูงถึง 33% ของการบริโภคทั้งโลก แม้ว่าชาวอเมริกันจะมีจำนวนประชากรเพียง 6% ของประชากรโลกก็ตาม
เนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังขยายตัว มีการสร้างทางหลวงมากมาย รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 40% และน้ำมันตามปั๊มเริ่มขาดแคลน ถึงขนาดที่ว่ามีการตั้งกฎว่า ถ้าป้ายทะเบียนรถยนต์ลงท้ายด้วยเลขคู่ ก็จะเติมน้ำมันได้เฉพาะวันคู่ และป้ายทะเบียนที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ ก็เติมเฉพาะวันคี่
ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา พุ่งสูงขึ้นจาก 6% เป็น 11%
ในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำมัน รัฐบาลได้ออกกฎหมาย เพื่อมาควบคุมราคาสินค้าและค่าแรง เพื่อพยายามกดอัตราเงินเฟ้อเอาไว้
ซึ่งในช่วง 90 วันที่มีการควบคุม ก็ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงได้ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการควบคุม อัตราเงินเฟ้อก็ดีดตัวขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนั้น ประธานาธิบดี Nixon ยังได้ออกกฎหมายจำกัดความเร็วรถยนต์ บนทางหลวงทั่วประเทศไม่ให้เกิน 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่บางรัฐสามารถใช้ความเร็วได้ถึง 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในขณะที่ประเทศในยุโรป ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และได้ออกมาตรการในการประหยัดพลังงาน เช่น
- หลายประเทศจำกัดโควตาการเติมน้ำมันรถยนต์ต่อคัน
- เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้งดใช้รถในวันอาทิตย์
- ฝรั่งเศสสั่งให้สำนักงานทุกแห่งปิดไฟส่องสว่างหลัง 4 ทุ่ม
และให้สถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง หยุดการออกอากาศหลัง 5 ทุ่ม
- สหราชอาณาจักรจำกัดการใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ 3 วันต่อสัปดาห์
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปี 1974 เป็นดังนี้
- อัตราเงินเฟ้อ 11%
- GDP ติดลบ 0.5%
- อัตราการว่างงาน 5%
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูง ค่าสินค้าและบริการแพง แต่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโต แถมยังมีอัตราการว่างงานสูง เรียกสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ว่า “Stagflation” ซึ่งนับเป็นการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
จนในที่สุด Oil Embargo ก็สิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ปี 1974 จากการที่คุณ Henry Kissinger ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้เข้าพบกับกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อเจรจาขอให้ยุติการหยุดส่งน้ำมัน
หลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ตลอดช่วงทศวรรษ 1970 Fed เลือกใช้นโยบายการเงินแบบ “Stop-Go” หรือเร่ง ๆ หยุด ๆ สลับไปมา เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาในแต่ละปี ดังนี้
ปี 1967 ดอกเบี้ยนโยบาย 4%
ปี 1969 เพิ่มขึ้นเป็น 9%
ปี 1971 ลดลงเป็น 4%
ปี 1974 เพิ่มขึ้นเป็น 12%
ปี 1976 ลดลงเป็น 5%
ตลอด 10 ปีที่ Fed ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ๆ ลง ๆ กลับไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราการว่างงานลดลงอย่างมีเสถียรภาพได้เลย แถมกลับทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นด้วยซ้ำ
เนื่องจากเมื่อประชาชนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตไม่ได้ แต่เห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ลูกจ้างก็จะต่อรองขอขึ้นค่าจ้าง เพื่อชดเชยกับค่าครองชีพที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต
เมื่อค่าจ้างหรือค่าแรงที่ถือเป็นต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้น
และลูกจ้างก็กลับมาต่อรองค่าจ้างอีกครั้ง หมุนวนลูปไปแบบนี้เรื่อย ๆ
แต่แล้วในปี 1979 วิกฤติน้ำมัน และ Stagflation ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ในยุคที่มีการปฏิวัติในประเทศอิหร่าน ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันลดลง และราคาน้ำมันดิบก็พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า

โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน ดังนี้
ปี 1979 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 1980 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
และอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้นจาก 11% เป็น 13.5%
ในปี 1980 จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อคุณ Paul Volcker เข้ารับตำแหน่งประธาน Fed คนใหม่
ถึงตรงนี้ ผู้กำหนดนโยบายหลายคน เริ่มเห็นตรงกันแล้วว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าให้คงที่ แม้ว่าอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และผู้คนตกงานมากขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ตาม
จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 13.5%
ทำให้ Fed ต้องใช้ยาแรง เพื่อควบคุมปริมาณเงินที่ล้นอยู่ในระบบให้น้อยลง
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยขึ้นไปสูงถึง 20% ในปี 1980
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ได้ผลชะงัด
อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ลดลงมาเหลือเพียง 6% เท่านั้น
แต่สิ่งที่ต้องแลกมานั่นก็คือ เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น
โดยในปี 1982 GDP ติดลบ 1.8% อัตราการว่างงานก็สูงถึง 9% และ 11% ในปีต่อมา
แต่หลังจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ
เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% ตลอดมา
ถึงตรงนี้ Fed ได้รับความเชื่อมั่นกลับมา ในเรื่องของการควบคุมเงินเฟ้อ
เมื่อเงินเฟ้อควบคุมได้ และประชาชนคาดการณ์ได้ เศรษฐกิจและการจ้างงาน
ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาอีกครั้งอย่างยั่งยืน
และแล้ว ยุคของ “The Great Inflation” ก็ได้จบลง ในที่สุด
แน่นอนว่าวิกฤติน้ำมันทั้งสองครั้ง เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน จนเกือบควบคุมไม่อยู่
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เงินเฟ้อเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงแรก เป็นเพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด
จากวิกฤติเงินเฟ้อในครั้งนั้น ทำให้ Fed เริ่มมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ และดำเนินนโยบายการเงินอย่างโปร่งใส
รวมถึงต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพราะการคาดการณ์ของประชาชน จะเป็นตัวเชื่อมโยงให้นโยบายทางการเงิน และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ผู้กำหนดนโยบายตั้งใจ
และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายนั้น ต้องมองภาพในระยะยาว
มากกว่าที่จะหวังผลประโยชน์ในระยะสั้น
ไม่เช่นนั้นถ้าปัญหาบานปลาย และสุดท้ายต้องกลับมาใช้ยาแรง
ก็อาจจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลานาน
ซึ่งเป็นการทำร้ายทุกคนในระบบเศรษฐกิจนั่นเอง..
╔═══════════╗
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู
สั่งซื้อเลยที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/i3719091419.html
Shopee : https://shopee.co.th/ลงทุนแมน-หนังสือ-BRANDING-THE-NATION-สร้างแบรนด์-แทนประเทศ-i.116732911.17558974952
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://research.stlouisfed.org/publications/page1-econ/2012/10/01/the-great-inflation-a-historical-overview-and-lessons-learned/
-https://www.omfif.org/2021/11/look-at-1960s-not-1970s-to-learn-how-us-inflation-took-hold/
-https://www.federalreservehistory.org/essays/great-inflation
-https://www.investopedia.com/articles/economics/09/1970s-great-inflation.asp
-https://www.investopedia.com/terms/s/stagflation.asp#:~:text=Stagflation%20refers%20to%20an%20economy,1
-https://www.npr.org/sections/money/2011/04/27/135604828/why-we-left-the-gold-standard
-https://www.longtunman.com/37350
-https://billofrightsinstitute.org/essays/the-1973-oil-crisis-and-its-economic-consequences
-https://www.history.com/this-day-in-history/nixon-signs-national-speed-limit-into-law
-https://www.energyintel.com/0000017f-980f-db3b-a9ff-b8ef67c10001
-https://www.youtube.com/watch?v=h5R3H2PLftI
-https://www.discoursemagazine.com/economics/2022/03/14/to-tame-inflation-the-fed-must-learn-from-its-mistakes/
-https://www.macrotrends.net/1369/crude-oil-price-history-chart
-https://fred.stlouisfed.org/series/FEDFUNDS
-https://data.bls.gov/pdq/SurveyOutputServlet
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon