หนุ่มอินเดียอายุ 27 สร้างเชนโรงแรม 3 แสนล้าน ในเวลา 8 ปี

หนุ่มอินเดียอายุ 27 สร้างเชนโรงแรม 3 แสนล้าน ในเวลา 8 ปี

หนุ่มอินเดียอายุ 27 สร้างเชนโรงแรม 3 แสนล้าน ในเวลา 8 ปี /โดย ลงทุนแมน
เวลาที่เราไปพักในโรงแรมต่างถิ่น แล้วเจอกับห้องพักที่น่าผิดหวัง เราทำอย่างไร ?
หลายคนเลือกที่จะช่างมัน และภาวนาว่าครั้งต่อไปจะเจอกับห้องพักที่ทำให้เราประทับใจ
แต่ไม่ใช่กับ ริเทช อการ์วาล ที่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเพราะผิดหวังกับห้องพักโรงแรมครั้งแล้วครั้งเล่า
จนทุกวันนี้ ธุรกิจของเขากำลังจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์และถูกคาดการณ์มูลค่าไว้ที่ 386,000 ล้านบาท
นั่นจึงทำให้ตัวอการ์วาลเอง ก็ได้ถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมากถึง 36,000 ล้านบาท
ทำให้เขากลายเป็น Billionaire หรือเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราว 33,000 ล้านบาท ในวัยเพียง 27 ปี
อการ์วาล เป็นใคร ?
แล้วเขาผิดหวังอะไรถึงได้ก่อตั้งธุรกิจแสนล้านขึ้นมา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ริเทช อการ์วาล เกิดในเขตรายากาดา รัฐโอดิชา ที่ซึ่งผู้คนมากกว่าครึ่งชุมชนถูกจัดอยู่ในระดับยากจน ในประเทศอินเดีย
บ้านของเขาเปิดร้านขายของชำและเขาเป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน
โดยพี่ ๆ ทั้งสามคนเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ
อการ์วาล สนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก บ่อยครั้งที่เขาทำให้คอมพิวเตอร์มีปัญหาเพื่อที่จะได้หาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง เขายังหัดเขียนโปรแกรมตั้งแต่ 8 ขวบโดยอ่านจากหนังสือของพี่ชาย
พอเขาอายุได้ 15 ปี อการ์วาลตั้งใจว่าจะเอาดีทางด้านการเขียนโปรแกรมจึงตัดสินใจไปเรียนที่ IIIT สถาบันด้านไอทีในเมืองโกตา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเกิดราว 1,500 กิโลเมตร
นอกจากเรื่องคอมพิวเตอร์แล้ว เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “Indian Engineering Colleges: A Complete Encyclopedia of Top 100 Engineering Colleges” เป็นเหมือนสารานุกรมเกี่ยวกับวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ของอินเดีย
ซึ่งเมื่อเอาไปวางขายใน Flipkart เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของอินเดีย ก็ขายหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว
ตอนอายุ 16 ปี อการ์วาลได้เป็น 1 ใน 240 คนที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการของ Tata Institute of Fundamental Research (TIFR) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความสามารถนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย
สำหรับการเรียนที่ IIIT นั้น อการ์วาลมักจะศึกษาเองเป็นส่วนใหญ่ และใช้เวลาที่เหลือเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วอินเดีย เขาเดินทางไป “เดลี” บ่อยครั้ง เพื่อเข้าประชุมสัมมนาผู้ประกอบการ ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่มีเงินค่าลงทะเบียน แต่ก็มักจะแอบเข้าไปได้เสมอ
พอไปฟังสัมมนาบ่อยเข้า ก็ทำให้เขาเริ่มซึมซับถึงความเป็นผู้ประกอบการและเกิดแรงบันดาลใจ
พออายุได้ 17 ปี ระหว่างที่เขากำลังเตรียมตัวสอบหลักสูตร SAT เผื่อว่าจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
เขาก็มุ่งหน้าเข้าเดลี ตั้งใจว่าจะต้องสร้างธุรกิจอะไรบางอย่างให้ได้ โดยมีเงินเก็บพอประมาณที่สะสมระหว่างตอนเรียนเดือนละ 6,700 บาท
ช่วงนั้น อการ์วาลพยายามพูดคุยกับผู้ประกอบการ รวมถึงเหล่าสตาร์ตอัปและเอาจริงเอาจังกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของ Airbnb จนท้ายที่สุดนั้นจึงทำให้เขาก็ไม่ได้สอบ SAT และไม่ได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
แต่การที่เขาเดินทางบ่อย ทำให้เขาเห็นว่าโรงแรมราคาประหยัดในอินเดียมักจะไม่มีอาหารเช้ารวมอยู่ด้วย
ส่วนโรงแรมไหนที่มี บางครั้งห้องก็ไม่ว่างหรือมีระบบการจองที่ยาก
ในปี 2012 เมื่ออายุได้ 18 ปี อการ์วาลจึงเริ่มธุรกิจแรกของเขา ชื่อว่า “Oravel.com
เป็นลักษณะเว็บไซต์ที่รวบรวมโรงแรมทั่วอินเดียที่มีบริการอาหารเช้ารวมอยู่ด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือพยายามจะเป็น Airbnb เวอร์ชันอินเดียนั่นเอง โดยมี “VentureNursery” บริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัปสนับสนุนเงินทุนก้อนแรกประมาณ 130,000 บาท
เขายังได้เอาไอเดีย Oravel.com นี้ไปเสนอใน “Thiel Fellowship” ซึ่งเป็นเวทีประกวดสตาร์ตอัประดับโลกสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 20 ปี
Thiel Fellowship เป็นสมาคมของ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal โดยมี Elon Musk และ Sean Parker อดีตประธาน Facebook มาร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย ซึ่งกองทุนนี้จะมอบทุนสนับสนุนเพียงพอให้เด็กสามารถพักการเรียนได้ 2 ปีเพื่อออกมาลองทำธุรกิจจริง
ในการประกวด อการ์วาลได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 ผู้ที่ได้รับเลือกและเขาได้รับเงินรางวัล
รวม 3,300,000 บาท โดยอการ์วาลก็ยังเป็น “ชาวอินเดียคนแรก” ที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย
ระหว่างที่ทำ Oravel.com อการ์วาลตระเวนเข้าพักในโรงแรมราคาประหยัดมากกว่า 100 ที่
ทำให้เขาเข้าใจว่าธุรกิจโรงแรมยังมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าการหาห้องพักที่ว่าง
เขาพบว่าโรงแรมหลายแห่งค่อนข้างสกปรก มีจิ้งจก แมลงสาบ สีผนังลอก ประตูหน้าต่างปิดได้ไม่สนิท บางที่น้ำไหลเบาจนต้องเอาถังมารองเพื่ออาบน้ำ รวมถึงพนักงานก็บริการไม่ดี ซึ่งการที่ต้องพักในโรงแรมแย่ ๆ แบบนี้ อาจจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวหมดสนุกไปเลย
เขาจึงเกิดความคิดว่าจะสร้าง “มาตรฐาน” ให้กับโรงแรมเหล่านั้น แล้วติดป้ายทำการตลาดในชื่อของเขาเอง
ในปี 2013 อการ์วาลเริ่มทดลองที่แรก โดยติดต่อไปที่โรงแรมในเมืองคุร์เคาน์และจัดการปรับปรุงโรงแรมแห่งนี้ใหม่หมด
เริ่มด้วยเปลี่ยนฟูกที่นอนเป็นแบบหนา พร้อมด้วยผ้าปูที่นอนเป็นเกรดเส้นด้ายอย่างดี เปลี่ยนหลอดไฟ ติดทีวีจอแบน และเครื่องทำน้ำอุ่นให้ ปรับโฉมเสร็จเรียบร้อยก็ถ่ายรูปให้สวย ๆ แล้วประกาศในอินเทอร์เน็ต
ผลลัพธ์ที่ได้คือ อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 18% เป็น 90% ตั้งแต่เดือนแรก
อการ์วาลมองเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้เป็นไปได้ เขาเริ่มปัดฝุ่น Oravel.com ใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น ​ “Oyorooms.com” และหมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้ OYO กลายเป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดย OYO มาจากคำว่า “On Your Own” แปลว่า “ของคุณเอง”
ที่มาของคำนี้มาจากเหตุการณ์ในวัยเด็กที่ อการ์วาล มักจะไปนั่งดูการ์ตูนที่บ้านญาติ
แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์เลือกช่องเอง ทำให้หลายครั้งเขาต้องจำใจดูละครแทน
มาวันนี้เขาจึงอยากจะให้ผู้ที่เข้าพักได้รู้สึกว่า “ห้องนี้เป็นของคุณเอง” นั่นเอง
โมเดลธุรกิจในช่วงแรกของ OYO คือขอ “แบ่งเช่า” ห้องจำนวนหนึ่งจากโรงแรมในราคาไม่แพงเพื่อมาปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน และรวบรวมห้องเหล่านั้นมาทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ Oyorooms.com โดย “กินส่วนต่างจากราคาปล่อยต่อ”
ปี 2014 OYO ได้รับเงินทุนจาก Lightspeed Venture Partners (LSVP) และ DSG Consumer Partners ประมาณ 17 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจขยายอย่างรวดเร็วไปใน 20 เมืองทั่วอินเดีย มีห้องพักมากกว่า 4,000 ห้อง
ปี 2015 OYO เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อ LSVP เจ้าเดิมลงทุนเพิ่มอีก 833 ล้านบาท รวมถึงได้รับความสนใจจาก SoftBank เจ้าพ่อวงการสตาร์ตอัปก็เข้ามาลงทุนด้วยจำนวนเงินถึง 3,300 ล้านบาท
แล้วอะไรคือ สิ่งที่ทำให้โมเดลธุรกิจของ OYO นั้นน่าสนใจจนได้รับเงินระดมทุนจากบรรดานักลงทุน ?
ปกติเครือโรงแรมระดับโลก เช่น Marriott, Hilton มักจะเข้าไปบริหารโรงแรมที่มีขนาดใหญ่และจำนวนห้องเยอะ แต่ในความจริงแล้วยังมีโรงแรมเล็ก ๆ ที่มีจำนวนห้องไม่ถึง 150 ห้องอยู่อีกมาก แต่ไม่มีใครสนใจเข้ามาจับจองเค้กก้อนนี้ เท่ากับว่าหาก OYO เข้ามาตีตลาดตรงนี้ จะมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก
ซึ่งนอกจากโอกาสการเติบโตแล้ว บรรดานักลงทุนเชื่อว่าการนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะทำให้ OYO เติบโตได้แบบก้าวกระโดด
หลังจากได้รับเงินทุนก้อนใหญ่เข้ามา OYO ก็ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน และมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 160,000 ครั้ง พุ่งทะยานติด 1 ใน 3 แอปพลิเคชันที่ดีที่สุดในหมวด “การเดินทาง” ของ Google Play Store ทันที
ในแง่ของจำนวนห้องก็เติบโตจาก 4,000 ห้อง จนทะลุ 10,000 ห้องใน 100 เมืองทั่วอินเดีย
ทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ในระหว่างนั้น อการ์วาลก็มองเห็นอะไรบางอย่าง
ด้วยความที่ OYO ยังเป็นแบรนด์น้องใหม่ ทำให้ในช่วงแรกต้องตั้งราคาให้ถูกกว่าโรงแรมตัวจริง เพื่อแย่งลูกค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่าโรงแรมตัวจริงมาเช่าห้องของ OYO เสียเอง แล้วไปปล่อยในราคาปกติ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ อการ์วาลจึงเริ่มเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ จากที่เคยขอแบ่งเช่าแล้วรวบรวมมาปล่อยต่อ คราวนี้ อการ์วาลจะเป็นเจ้าของโรงแรมทั้งตึกเองโดยไม่ต้องเช่าแม้แต่ห้องเดียว
เขาทำได้อย่างไร ?
วิธีการก็คือ เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นแบบแฟรนไชส์ โดยเขาตกลงทำสัญญากับโรงแรมว่าจะปรับปรุงทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐาน OYO ทั้งสภาพห้องและการบริการ โดย OYO ทำการตลาดให้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน แต่ OYO จะเก็บค่าคอมมิชชัน 22% จากรายได้ของโรงแรมแทน
ด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้ทำให้ OYO ได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น แก้ปัญหาการตัดราคากับโรงแรมตัวจริง, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ดูแลห้องเช่า จากเมื่อก่อน 1 คนอาจจะดูแลเพียง 10 ห้อง แต่ตอนนี้ดูแลทั้งตึกเลย
และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องลงทุนเช่าห้องเองตั้งหลายห้อง ทำให้เหลือเงินทุนไปขยายสาขาได้มากขึ้น
ในปี 2018 ได้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เมื่อ SoftBank ลงทุนเพิ่มอีก 33,000 ล้านบาท หรือ 10 เท่าจากที่เคยลงทุนครั้งแรก และยังมีนักลงทุนเจ้าอื่นตามมาอีกเพียบ เช่น Grab, Didi Chuxing รวมถึง Airbnb ไอดอลของเขาด้วย
ส่งผลให้ OYO ขึ้นชั้นเป็นยูนิคอร์นทันที โดยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 166,000 ล้านบาท
ทั้งที่ 4 ปีที่แล้ว บริษัทยังมีมูลค่าเพียง 62 ล้านบาทอยู่เลย
เมื่อได้ทุนก้อนใหญ่เข้ามา OYO ก็เปลี่ยนจากบริษัทระดับประเทศมุ่งหน้าสู่ระดับโลกเต็มตัว
OYO บุกตลาดใหญ่อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และยังขยายไปยุโรปผ่านการควบรวมบริษัท “@Leisure Group” ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดห้องพักในยุโรป ด้วยมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท ทำให้ OYO ได้ห้องพักเพิ่มในมืออีกกว่า 300,000 ห้อง
ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและซอฟต์แวร์การบริหารจัดการโรงแรมที่ดี ทำให้ OYO มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 75% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมอยู่ราว ๆ 65%
ขณะที่แอปพลิเคชัน OYO ก็มีคนดาวน์โหลดถึง 50 ล้านครั้งในปี 2020 และเป็น 100 ล้านครั้งในปี 2021
OYO ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 2019 โดยมีจำนวนห้องพักรวมมากกว่า 1.2 ล้านห้อง กระโดดขึ้นมาเป็นเครือโรงแรมที่มี “จำนวนห้องพัก” มากอันดับที่ 2 ของโลก
มากกว่าเครือโรงแรมชื่อดังอย่าง Hilton, Accor, Hyatt ด้วยซ้ำ และเป็นรองเพียง Marriott อันดับ 1 ที่มีเกือบ 1.4 ล้านห้อง
ขณะที่ อการ์วาลในวัย 27 ปี ได้รับการประเมินจาก Hurun Global Rich List 2020 ในปี 2020 ว่ามีความมั่งคั่ง 36,000 ล้านบาท กลายเป็น Billionaire หรือเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมูลค่าเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สร้างธุรกิจด้วยตัวเอง
การขึ้นสู่จุดสูงสุดว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องนั้นยากกว่า
เมื่อในปี 2020 OYO เหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด นอกจากต้องเจอกับวิกฤติโควิด 19 ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดนผลกระทบอย่างหนักแล้ว ยังตกเป็นข่าวพาดหัวถูกกล่าวหากรณีฉ้อโกงอีกหลายครั้ง
ตัวอย่างเช่น เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในบังคาลอร์ยื่นฟ้อง OYO ว่าเขาไม่ได้รับเงินค่าบำรุงที่ควรจะได้เดือนละประมาณ 300,000 บาท
หรืออีกกรณีที่เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า OYO เก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เกิน 22% ที่ได้ตกลงกันไว้
ทำให้ในปี 2020 โรงแรมหลายแห่งถอนตัวจากการเป็นพันธมิตร จำนวนห้องพักในการบริหารลดลงไปกว่า 50% เหลือประมาณ 449,000 ห้อง จากจำนวน 20,000 โรงแรม ทำให้ร่วงจากอันดับที่ 2 ลงมาอยู่อันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า OYO จะสามารถมีห้องพักเพิ่มมากขึ้นกลับมาที่จุดเดิมได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่า OYO เตรียมตัวจะ IPO โดยมีการประเมินมูลค่าบริษัท ไว้สูงถึง 386,000 ล้านบาท
จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ริเทช อการ์วาล เป็นหนึ่งในตัวอย่างของวัยรุ่นหมื่นล้านที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ รวมถึงค้นพบช่องว่างในตลาดและคว้ามันไว้จนปั้นให้มันกลายมาเป็นธุรกิจได้สำเร็จ
ปิดท้ายด้วยตัวเลขมูลค่าบริษัทเครือโรงแรมที่น่าสนใจ
Marriott 1,700,000 ล้านบาท
Hilton 1,350,000 ล้านบาท
Hyatt 300,000 ล้านบาท
Accor 283,000 ล้านบาท
ซึ่ง OYO จะมีมูลค่ามากกว่า Hyatt และ Accor
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า OYO แพลตฟอร์มจองโรงแรม ที่ไม่ได้มีโรงแรมเป็นของตัวเองและได้ก่อตั้งขึ้นมาเพียง 8 ปี จะได้รับการประเมินมูลค่า ซึ่งมากกว่าเครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจมายาวนานเกินกว่า 50 ปี อย่าง Hyatt และ Accor ไปแล้ว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 2 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.oyorooms.com
-https://www.yosuccess.com/success-stories/ritesh-agarwal-oyo-rooms/
-https://www.analyticssteps.com/blogs/success-story-oyo-rooms
-https://www.feedough.com/business-model-oyo-rooms/
-https://app.dealroom.co/companies/oyo_rooms
-https://www.bloomberg.com/news/features/2019-12-04/ritesh-agarwal-s-oyo-rooms-is-poised-to-overtake-marriott
-https://techcrunch.com/2021/09/22/indias-oyo-to-file-for-1-billion-ipo/
-https://www.tourism-review.com/top-10-world-largest-hotel-groups-news1988
-https://hospitality-on.com/en/ouvertures/2020-worldwide-hotel-groups-ranking
-https://companiesmarketcap.com/hotels/largest-hotel-companies-by-market-cap/
-https://www.hurun.net/en-US/Rank/HsRankDetails?num=PYSXN53E
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon