FFC BLUE นาฬิกาที่มาพร้อมฟังก์ชันการบอกเวลาที่แตกต่างของ F.P. Journe ทำสถิติเป็นนาฬิกาข้อมือที่ถูกประมูลในราคาสูงสุด ในงาน ONLY WATCH ปีนี้

FFC BLUE นาฬิกาที่มาพร้อมฟังก์ชันการบอกเวลาที่แตกต่างของ F.P. Journe ทำสถิติเป็นนาฬิกาข้อมือที่ถูกประมูลในราคาสูงสุด ในงาน ONLY WATCH ปีนี้

F.P. Journe x ลงทุนแมน
นาฬิกาสายหนังสีน้ำตาลส้ม มีมือสีน้ำเงินวางอยู่ตรงกลาง
ต้องบอกว่าใครเห็นเรือนเวลาเรือนนี้เป็นครั้งแรก
คงจะเกิดคำถามเหมือน ๆ กันว่า “อ่านเวลาอย่างไรล่ะเนี่ย ?”
สำหรับเรือนเวลาที่เราเห็นกันในรูปนี้ มีชื่อเรียกว่า “FFC BLUE”
จากแบรนด์นาฬิกา F.P. Journe (อ่านออกเสียงว่า เอฟ.พี. จูร์น)
โดย FFC BLUE เป็น “ชิ้นพิเศษ” สำหรับการประมูลในงาน ONLY WATCH ซึ่งเป็นงานประมูลนาฬิกาเพื่อการกุศลสุดยิ่งใหญ่ของโลก
สำหรับใครที่อยากรู้จัก F.P. Journe มากขึ้น
อยากรู้ว่า FFC BLUE เรือนนี้มีที่มาอย่างไร และที่สำคัญคือ อ่านเวลาอย่างไรกันแน่ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
พูดถึง F.P. Journe ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูคนทั่ว ๆ ไปเท่าไรนัก
แต่สำหรับใครที่เป็นนักสะสมแห่งวงการนาฬิกา คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า F.P. Journe เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีความ “Unique” คือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่งเลยทีเดียว
โดยชื่อ F.P. Journe ตั้งตรง ๆ ตามชื่อของผู้ก่อตั้ง ที่ชื่อว่า “François-Paul Journe”
เขาเกิดในปี 1957 ณ เมืองมาร์เซย (Marseille) ในประเทศฝรั่งเศส
Mr. Journe เป็นคนที่หลงใหลในนาฬิกากลไกยุคคลาสสิกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนาฬิกาในยุคศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคทองของการประดิษฐ์คิดค้นเรือนเวลากลไกรูปแบบต่าง ๆ
เขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนาฬิกามาก และเลือกเข้าเรียนใน Ecole d'horlogerie de Paris ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสอนทำนาฬิกาโดยเฉพาะในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เอง ที่บ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจ ให้เขาคนนี้อยากจะเริ่มต้นทำนาฬิกาจักรกลที่เปี่ยมคุณภาพ อย่างจริงจัง
หลังเรียนจบ Mr. Journe ในวัย 19 ปี ไปเริ่มทำงานใน Workshop ที่รับซ่อมและบูรณาการนาฬิกาของคุณลุงในปารีส หลังจากนั้นไม่ถึงปี Mr. Journe ก็เริ่มมีความคิดว่า เขาอยากจะสร้างนาฬิกาแบบ “ทูร์บิญอง (Tourbillon)” ด้วยมือของตัวเองให้ได้
หลายคนอาจกำลังมีคำถามในใจ นาฬิกาแบบ “ทูร์บิญอง” ที่ว่านี้คืออะไร ?
อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ทูร์บิญอง เป็นชื่อกลไกชนิดหนึ่งที่เอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ในเรือนนาฬิกา เช่น บาลานซ์วีล บาลานซ์สปริง ใส่เข้าไปในกรงที่หมุนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทำแบบนี้ก็เพื่อ ลดผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงที่ส่งผลให้กลไกบอกเวลาคลาดเคลื่อน
กลไกแบบ ทูร์บิญอง ทำให้นาฬิกาแสดงเวลาได้อย่างแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่า หากนาฬิกาเรือนไหนมีกลไก ทูร์บิญอง ก็รับประกันความเที่ยงตรงในระดับสูงสุดได้เลย
Mr. Journe ใช้เวลาออกแบบและลงมืออย่างประณีตอยู่เป็นเวลา 5 ปี จนในที่สุดเขาก็สร้างนาฬิกาพก กลไกทูร์บิญองได้สำเร็จ
ที่น่าสนใจก็คือ Mr. Journe ทำชิ้นส่วนนาฬิกาทุกชิ้นด้วยมือของตัวเอง และทำสำเร็จในวัย 25 ปี ซึ่งความสำเร็จนี้ แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะและมีพรสวรรค์อย่างมากในการสร้างนาฬิการะบบกลไก
เพราะรู้หรือไม่ว่า การทำนาฬิกาทูร์บิญองสักเรือนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
ช่างนาฬิกาที่มากประสบการณ์หลายคน ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำนาฬิกามานานมาก กว่าฝีมือจะถึงขั้นทำทูร์บิญองสักเรือนได้ และน้อยคนมาก ที่สามารถสร้างนาฬิกาทูร์บิญองสำเร็จด้วยตัวคนเดียว ในวัย 25 ปี
หลังจากนั้นมา ชื่อ François-Paul Journe ก็เป็นที่เลื่องลือในกลุ่มผู้นิยมสะสมนาฬิกา และดังไกลข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงกรุงลอนดอนในอังกฤษ
จนเจ้าของห้างค้าปลีกเก่าแก่สุดหรูในลอนดอนอย่าง Asprey in London ได้ว่าจ้าง Mr. Journe ให้ออกแบบและผลิตนาฬิกาชื่อ Planetarium และ Sympathique ไว้ประดับห้างหรู
ชื่อเสียงของ François-Paul Journe รุ่งเรืองสุดขีด บวกกับประสบการณ์ในการออกแบบนาฬิกามานานหลายปี จนในปี 1999 เขาก็ได้ให้กำเนิดแบรนด์นาฬิกาอย่างเป็นทางการ
โดยใช้ชื่อของตัวเองเป็นชื่อแบรนด์ว่า “F.P. Journe”
F.P. Journe ตั้งโรงงานผลิต รวมถึงบูติกที่เป็นสำนักงานใหญ่ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่า “เมืองหลวงแห่งนาฬิกาของโลก”
อีกจุดสำคัญที่เป็นจุดขายของนาฬิกาหรูแบรนด์นี้ คือสโลแกนภาษาละติน “Invenit et Fecit”
ซึ่งในภาษาอังกฤษคือวลีว่า Invented and Made it
นาฬิกาของ F.P. Journe จะมีวลี Invenit et Fecit อยู่บนทุกเรือนเวลา
ซึ่งสื่อถึงการยึดมั่นในการแสวงหาความสมบูรณ์แบบสูงสุด ทั้งในเรื่องการคิดค้น ดีไซน์ ความสวยงาม ที่ผนวกเข้ากับความเที่ยงตรงและนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ
อีกจุดที่ทำให้เรือนเวลาของ F.P. Journe ได้รับความเชื่อใจจากบรรดานักสะสมทั่วโลก คือ ทุกชิ้นส่วนและทุกขั้นตอนการผลิต ยังคงเป็น “In-house” หรือออกแบบเอง ผลิตเองทั้งหมด
Watchmaker แต่ละท่านในโรงงานของ F.P. Journe จะรับหน้าที่ทำนาฬิกาแต่ละเรือนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงตรวจสอบก่อนส่งมอบถึงมือลูกค้า ซึ่งจะมีกระบวนการควบคุมการผลิตและตรวจสอบอย่างเข้มข้น
โดยการที่ Watchmaker หนึ่งคนรับผิดชอบนาฬิกาหนึ่งเรือนแบบนี้ ถือเป็นการคงไว้ซึ่งความคลาสสิกและออริจินัล ซึ่งจะแตกต่างจากหลายแบรนด์ใหญ่ ๆ ในสมัยนี้ ที่มีการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่หลักของตัวเอง
ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน และการคุมคุณภาพที่เข้มข้นในระดับนี้ จึงทำให้ในแต่ละปี มีนาฬิกาออกจากโรงงานของ F.P. Journe เพียงแค่ประมาณ 800 กว่าเรือนเท่านั้น
ทีนี้ย้อนกลับไปที่ F.P. Journe “FFC BLUE”
นาฬิกาหน้าตาชวนฉงน ชวนมองซ้ำ ที่ลงทุนแมนเกริ่นไปตอนต้นกันอีกครั้ง..
ชื่อ FFC มาจากชื่อย่อของ Francis Ford Coppola ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานกำกับภาพยนตร์สุดคลาสสิก “The Godfather”’
โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งในปี 2012 François-Paul Journe มีโอกาสได้ร่วมทานอาหารกับ Francis Ford Coppola ซึ่ง Coppola ก็เป็นแฟนตัวยงของแบรนด์ F.P. Journe
Coppola บอกกับ Mr. Journe ว่า
“จะเป็นไปได้ไหม ที่จะทำนาฬิกาที่บอกเวลาได้ด้วยมือจริง ๆ บนหน้าปัด”
Mr. Journe รู้ทันทีว่าไอเดียนี้ไม่ธรรมดาและน่าสนใจ เขาจึงเก็บไปคิดค้นกลไกการบอกเวลาด้วย 5 นิ้วมือ และสุดท้ายก็ออกมาเป็น นาฬิกาที่มีมือสีน้ำเงินสำหรับบอกเวลาอยู่กลางหน้าปัด
โดยกลไกบอกเวลาของ FFC BLUE แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. บริเวณขอบหน้าปัดด้านในซึ่งมีตัวเลข 5, 10, 15 ไปจนถึง 60 ทำหน้าที่บอกเวลาในหน่วยนาที โดยขอบหน้าปัดนี้จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งเราสามารถดูนาทีได้จากตำแหน่งบนสุดของหน้าปัดในตำแหน่ง 12 นาฬิกา
2. มือสีน้ำเงินตรงกลางหน้าปัด ทำหน้าที่บอกเวลาในหน่วยชั่วโมง โดยเราจะต้องจำความหมายของการยกนิ้วของมือสีน้ำเงิน ว่าแต่ละลักษณะการชูนิ้ว สื่อว่าเข็มชั่วโมงชี้อยู่ที่เลขอะไร ตั้งแต่เลข 1 ถึง 12
ตัวอย่างการบอกเวลา เช่น
นิ้วชี้นิ้วเดียว = เลข 1
นิ้วชี้, นิ้วกลาง = เลข 2
นิ้วชี้, นิ้วกลาง, นิ้วนาง = เลข 3
นิ้วชี้, นิ้วกลาง, นิ้วนาง, นิ้วก้อย = เลข 4
ห้านิ้ว = เลข 5
ดูเหมือนว่าจะต้องใช้ความคิดในการแปลภาษามือ แต่เมื่อเราเห็นตรรกะการนับเลข ก็เรียกได้ว่าเข้าใจง่าย และใช้เวลาไม่นานในการทำความคุ้นเคย
ใครที่อยากดูตัวอย่างการบอกเวลาให้เห็นภาพมากกว่านี้ ลองกดดูในลิงก์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=uDUCDaQ51DA
และรู้ไหมว่า มือสีน้ำเงินก็มีที่มา..
เพราะเป็นรูปแบบมือที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก มือและแขนกลที่สร้างขึ้นโดย Ambroise Paré ชายที่ได้ฉายาว่า “บิดาแห่งการผ่าตัดสมัยใหม่” ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16 ซึ่งสื่อได้ถึงความคลาสสิกและร่วมสมัย
ส่วนสีน้ำเงินที่ใช้ เปรียบเสมือนสีที่เป็นเอกลักษณ์ของ F.P. Journe ที่ใช้ทำนาฬิกาให้กับงานประมูล ONLY WATCH ในหลายปีที่ผ่านมา
และยังมีรายละเอียดความงดงาม หรูหรา ภายในเรือนนาฬิกาอีกมากมาย
เช่น กระจกหลังแซฟไฟร์เปลือยเปล่า ที่โชว์รายละเอียดตัวเพลตและกลไกด้านใน ซึ่งตัวเครื่องทำจากทองคำ Rose Gold 18 กะรัต และ Rotor ทำขึ้นจากทองคำ 22 กะรัต
ทำให้ F.P. Journe “FFC BLUE” เรือนนี้ ถูกประมูลในงาน ONLY WATCH 2021 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาไปด้วยราคา 4,500,000 ฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ “160 ล้านบาท” สร้างสถิติเป็นนาฬิกาข้อมือ ที่ทำราคาประมูลสูงสุดในงาน ONLY WATCH 2021 เลยทีเดียว
โดยงาน ONLY WATCH ที่ว่านี้ เป็นงานประมูลนาฬิกาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี มาตั้งแต่ปี 2005 โดยมีหลายแบรนด์นาฬิกาหรูเข้าร่วม
ซึ่งรายได้จากการประมูลทั้งหมด จะมอบให้กับ Monegasque Association เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อเสื่อมเป็นการต่อไป
และเมื่อไม่นานมานี้ ทาง F.P. Journe ได้ประกาศว่ามีแผนการจะพัฒนา นาฬิกา FFC BLUE มาเป็นนาฬิกาต้นแบบ เพื่อให้คนรักนาฬิกาได้สัมผัสความละเอียด ประณีต และความซับซ้อนของกลไกอันล้ำหน้าด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความนิยมในประดิษฐกรรมที่ประทับตรา Invenit et Fecit โดยอัจฉริยะแห่งวงการนาฬิกาอย่าง François-Paul Journe นั้นเรียกได้ว่าทะยานพุ่งสูงขึ้นไปอีก
ทั้งหมดนี้ ก็คือความเป็นมา
ของแบรนด์นาฬิกา F.P. Journe และนาฬิกาเรือนพิเศษ FFC BLUE FOR ONLY WATCH 2021
ซึ่งทำให้เราเห็นว่า นี่คืออีกหนึ่งความสุดยอดแห่งวงการนาฬิกา
ที่ผู้คร่ำหวอด นักสะสม ในวงการนาฬิกา ต่างใฝ่ฝันอยากจะหามาครอบครอง ให้ได้สักเรือนในชีวิต นั่นเอง..
สำหรับใครที่อยากรู้จักนาฬิกา F.P. Journe มากขึ้น รวมถึงรุ่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://bit.ly/3ddqMB7 หรือติดต่อ PMT The Hour Glass สาขาสยามพารากอน เบอร์ (662) 129 4777

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon