บริษัทมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากพระราชวังแวร์ซาย

บริษัทมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากพระราชวังแวร์ซาย

บริษัทมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ที่เกิดจากพระราชวังแวร์ซาย /โดย ลงทุนแมน
พระราชวังแวร์ซาย สิ่งก่อสร้างอันหรูหราอลังการของฝรั่งเศส
ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
พระราชวังแห่งนี้ เป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่า
ทั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน และผลงานศิลปะนับไม่ถ้วน
แม้ว่าความหรูหราของพระราชวังแห่งนี้ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม
จนนำมาสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในอีกศตวรรษต่อมา
แต่ล่วงเลยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ในปี 2019 ช่วงก่อนวิกฤติโควิด พระราชวังแวร์ซายก็ดึงดูดผู้เข้าชมจากทั่วโลกถึงปีละ 8 ล้านคน และนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศฝรั่งเศส
นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว อีกหนึ่งมรดกตกทอดที่เกิดจากการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้
คือ บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท
ที่มีชื่อว่า “แซง-โกแบ็ง (Saint-Gobain)”
แซง-โกแบ็ง ทำธุรกิจอะไร
และมีความเกี่ยวข้องกับพระราชวังแวร์ซายอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับเรื่องราวของพระราชวังแวร์ซาย และฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17 กันสักนิด
พระราชวังแห่งนี้ใช้เงินทุนในการก่อสร้างกว่า 1,100,000 ลีฟวร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของงบประมาณแผ่นดินฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น โดยเริ่มก่อสร้างในปี 1661
จุดเริ่มต้นของการสร้างพระราชวังแห่งนี้
มาจากความประทับใจเมืองแวร์ซายเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บวกกับการได้เห็นปราสาทของเสนาบดีคลังคนก่อน ที่หรูหรากว่าพระราชวังของตัวเอง
ทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต้องการสร้างพระราชวังแห่งใหม่ โดยให้ปลูกสร้างอยู่ที่แวร์ซาย มีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬาร และต้องสวยงามหรูหราที่สุดในยุโรป
ผู้ที่มีบทบาทในการเนรมิตพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นจริง ก็คือเสนาบดีคลังในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มีชื่อว่า ฌ็อง-บัปติสต์ กอลแบร์
กอลแบร์ รับตำแหน่งเสนาบดีคลังในช่วงปี 1665-1683
โดยมีหน้าที่หลักก็คือ ทำให้พระราชวังแวร์ซายกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของฝรั่งเศส
และทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็น ประเทศมหาอำนาจของยุโรป..
ด้วยความที่การสร้างพระราชวังแห่งนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อให้มีเงินในคลังเพียงพอ
กอลแบร์จึงต้องดำเนินการปฏิรูปการคลังของฝรั่งเศสครั้งใหญ่
โดยกอลแบร์ มีแนวคิดว่า ฝรั่งเศสจะเป็นมหาอำนาจได้ ไม่ใช่เพียงการทหารเท่านั้น
แต่ต้องเป็นมหาอำนาจทางการค้าด้วย
จึงนำมาสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อไม่ต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น
และทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าไปทั่วยุโรป
และมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ Académie des sciences ในปี 1666
สำหรับก่อสร้างพระราชวังแวร์ซาย กอลแบร์ได้เชิญสถาปนิก วิศวกร และศิลปินทั่วฝรั่งเศส
เพื่อมาเนรมิตพระราชวังแห่งใหม่ให้หรูหราอลังการที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ความหรูหราทำให้พระราชวังแห่งนี้จำเป็นต้องใช้กระจกในปริมาณมหาศาล..
ในช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสยังไม่มีความสามารถในการผลิตกระจกด้วยตัวเอง ต้องนำเข้ากระจกทั้งหมดจากเกาะมูราโน ของสาธารณรัฐเวนิส ปัจจุบันคือเมืองเวนิส ในประเทศอิตาลี
เกาะมูราโน เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องแก้วของยุโรปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15
และเป็นเพียงแห่งเดียวในยุโรปที่มีองค์ความรู้ด้านการผลิตกระจก ซึ่ง ดอเจ หรือประมุขของนครเวนิส ก็ได้ออกกฎไม่ให้ช่างในโรงงานเหยียบย่างออกไปนอกเกาะมูราโนโดยเด็ดขาด
เนื่องด้วยการตกแต่งภายในของพระราชวังที่จะต้องใช้กระจกจำนวนมาก
ซึ่งหากต้องนำเข้ากระจกทั้งหมดจากมูราโน เท่ากับว่าฝรั่งเศสจะต้องขาดดุลการค้ากับเวนิสอย่างมหาศาล
ซึ่งขัดกับแผนการปฏิรูปการคลังของกอลแบร์
เรื่องนี้จึงนำมาสู่การแอบซื้อตัวช่างมาจากมูราโน เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างของฝรั่งเศส
โดยกอลแบร์ ได้ก่อตั้งโรงงานในปี 1665 โดยใช้ชื่อว่า โรงงานผลิตกระจกหลวง หรือ Manufacture royale de glaces de miroirs
ซึ่งโรงงานแห่งนี้ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ และผูกขาดการผลิตกระจกและเครื่องแก้วในฝรั่งเศสแต่เพียงผู้เดียว
ช่างจากมูราโนอยู่ได้เพียง 2 ปี ก็เกิดข้อพิพาทจนต้องกลับไปเวนิส
แต่นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งสถาบันวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสที่เพิ่งก่อตั้งก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้
จนในที่สุดฝรั่งเศสก็สามารถผลิตกระจกได้ด้วยตัวเอง โดยในปี 1678 กระจกทั้งหมดก็ได้ถูกนำมาตกแต่งโถงแห่งกระจก หรือ Galerie des Glaces ซึ่งเป็นโซนที่หรูหราที่สุดในพระราชวังแวร์ซาย
ความงามของพระราชวังแวร์ซาย ทำให้ชื่อเสียงของโรงงานกระจกหลวง เริ่มโด่งดังไปทั่วยุโรป ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากเหล่าขุนนางทั่วโลก
ราชสำนักหลายแห่ง ต่างสั่งกระจกจากโรงงานแห่งนี้ไปประดับตกแต่งปราสาทราชวังของตัวเอง ซึ่งก็รวมถึงคณะทูตจากกรุงศรีอยุธยา ที่มาเจริญสัมพันธไมตรีในช่วงปี 1686 ก็ได้ซื้อกระจกสีไปประดับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย
แต่หลังจากการเสียชีวิตของกอลแบร์ในปี 1683 โรงงานกระจกหลวงก็ค่อย ๆ ประสบปัญหาทางการเงิน ในขณะที่ขุนนางคนอื่นได้ตั้งบริษัทขึ้นมาแข่ง
จนสุดท้าย โรงงานกระจกหลวงก็ต้องล้มละลาย ทำให้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อหลายต่อหลายครั้ง
โดยวิกฤติที่หนักหนาที่สุดคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ที่ทำให้โรงงานแห่งนี้หมดสิทธิ์ในการผูกขาดการผลิตกระจกในฝรั่งเศส และเปลี่ยนชื่อเป็น “แซง-โกแบ็ง”
อย่างไรก็ตาม แซง-โกแบ็ง ก็ยังคงเป็นบริษัทที่ผลิตกระจกคุณภาพสูง โดยเน้นไปที่ลูกค้าระดับบนจากทั่วยุโรป จนบริษัทได้เปลี่ยนมาเป็นบริษัทมหาชนในปี 1830
ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 เกิดการแข่งขันด้านกระจกจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ และเบลเยียม
เพื่อความอยู่รอด แซง-โกแบ็ง จึงต้องขยายธุรกิจกระจกให้ใช้งานได้หลากหลาย พัฒนามาเป็นหลังคากระจก กระจกนูน และหน้าต่างกระจก
ซึ่งสถานที่สำคัญหลายแห่งของยุโรปก็ล้วนใช้กระจกจากแซง-โกแบ็ง เช่น
- คริสตัลพาเลซที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนิทรรศการโลก หรือ World Exposition ครั้งแรกในปี 1851
- สถานีรถไฟกลางเมืองมิลานของอิตาลี
- กร็องปาแล หรือพระราชวังหลวงในกรุงปารีส
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แซง-โกแบ็ง ก็ขยายมาสู่การเป็นผู้ผลิตแก้ว และขวดแก้ว สำหรับสินค้าต่าง ๆ รวมถึงไฟเบอร์กลาสส์ หรือเส้นใยแก้ว
แต่อีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือ การพัฒนาเทคนิคในการผลิตกระจก โดยเฉพาะการทำกระจกเทมเปอร์ และกระจกลามิเนต ที่ทำให้กระจกมีความแข็งแรงมากขึ้น และเมื่อกระจกแตก ก็จะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่แหลมคม และไม่กระจาย
เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาทำเป็นกระจกรถยนต์
ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็ทำให้กระจกรถยนต์ กลายเป็นสัดส่วนรายได้ที่สำคัญของแซง-โกแบ็ง
จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่า แซง-โกแบ็ง เป็นบริษัทกระจกชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานอยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
มีสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมเกี่ยวกับกระจก
ทั้งกระจกอาคารสำนักงาน กระจกรถยนต์ และใบตัดกระจก
นอกจากกระจกแล้ว ผลิตภัณฑ์ของแซง-โกแบ็ง ยังรวมไปถึงวัสดุก่อสร้าง เช่น แผ่นยิปซัมบอร์ด ปูนมอร์ตาร์ ท่อส่งน้ำ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ต่าง ๆ
รายได้ของแซง-โกแบ็ง ในปี 2020 อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ ประกอบไปด้วย
- วัสดุก่อสร้าง ที่ใช้สำหรับการซ่อมแซม รีโนเวตอาคาร 54%
- วัสดุก่อสร้าง สำหรับการสร้างอาคารใหม่ 32%
- กระจกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 7%
- อุตสาหกรรมอื่น ๆ 7%
ด้วยรายได้จากการขายสินค้าไปทั่วโลก ทำให้ แซง-โกแบ็ง กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท และใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ในตลาดหุ้นฝรั่งเศส
เรื่องราวของบริษัทกระจกแห่งนี้ นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ของบริษัทที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย แต่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มีอายุกว่า 356 ปีแล้ว
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ แซง-โกแบ็ง นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว
คือการต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ตัวเองมี โดยเฉพาะการทำกระจก
และประยุกต์ให้เข้ากับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปี..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References:
-https://www.saint-gobain.com/en/group/our-history
-https://www.saint-gobain.com/sites/saint-gobain.com/files/fy-2020-ang-a_0.pdf
-http://www.fundinguniverse.com/company-histories/compagnie-de-saint-gobain-history/
-https://en.chateauversailles.fr/public-establishment#our-missions
-https://www.uwyo.edu/numimage/currency.htm
-https://www.silpa-mag.com/history/article_24309
-https://www.saint-gobain.com/en/finance/le-groupe-en-chiffres/markets
-https://companiesmarketcap.com/france/largest-companies-in-france-by-market-cap/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon