ข้อคิด การควบรวม

ข้อคิด การควบรวม

ข้อคิด การควบรวม / โดย ลงทุนแมน
ปัจจุบัน การทำ M&A หรือการควบรวมกิจการ
ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายๆ บริษัทนำมาใช้
ในการขยายกิจการ ขยายฐานลูกค้า ลดต้นทุน
เกิดการแชร์ Know-How ลดการแข่งขันทางธุรกิจ
และทำให้มูลค่าของกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้น
รวมไปถึงมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น
ในประเทศไทยมีหลากหลายธุรกิจที่เกิดจากการควบรวมกัน เช่น
PTTAR ควบรวมกับ PTTCH ในเดือนต.ค. 2011 มาเป็น PTTGC เพื่อเป็น Flagship ในธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม PTT
โดยก่อนการควบรวม
PTTAR มี Market cap 79,153 ล้านบาท
PTTCH มี Market cap 161,022 ล้านบาท
หลังควบรวม PTTGC มี Market cap 243,323 ล้านบาท
หรือการควบรวมกิจการของ BECL กับ BMCL ในเดือน ธ.ค. 2015 มาเป็น BEM ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้างและบริหารทางพิเศษ รวมไปถึงบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย
โดยก่อนการควบรวม
BECL มี Market cap 34,842 ล้านบาท
BMCL มี Market cap 45,510 ล้านบาท
หลังควบรวม BEM มี Market cap 78,717 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ Siemens และ Alstom กำลังวางแผนเตรียมควบรวมกิจการในส่วนธุรกิจรถไฟเช่นกัน
แต่ก่อนอื่น เราไปทำความรู้จักกันก่อนว่า 2 บริษัทนี้คือใคร แล้วทำไมต้องจึงวางแผนในการควบรวมกิจการในส่วนธุรกิจรถไฟกัน
Siemens เป็นหนึ่งกลุ่มบริษัทวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปตั้งอยู่ที่เยอรมนี
ก่อตั้งเมื่อปี 1847 หรือ 170 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทเช่น อุตสาหกรรม, พลังงาน, สุขภาพ (เครื่องมือแพทย์), ระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจให้บริการด้านการเงิน, ธุรกิจในด้านที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ เป็นต้น
ปี 2016 Siemens มีรายได้ทั้งหมด 79,644 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท
แล้ว Alstom ทำอะไร?
Alstom เป็นบริษัทผู้ให้บริการการเดินทางด้านรถไฟความเร็วสูง การซ่อมบำรุงระบบรถไฟ Alstom เป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี 1928 หรือประมาณ 89 ปีที่แล้ว
ปี 2016 Alstom มีรายได้ทั้งหมด 7,300 ล้านยูโร หรือประมาณ 285,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมีดังนี้
– CRRC Corporation Limited (CRRC) (จีน) 69%
– Hitachi และบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่น 13%
– Alstom (ฝรั่งเศส) 4%
– Bombardier (แคนาดา) 3%
– Siemens (เยอรมัน) 3%
- อื่นๆ อีกประมาณ 8%
ในประเทศจีนนั้นมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเยอะที่สุดในโลกถึง 20,000 กว่ากิโลเมตร ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบัน CRRC จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจรถไฟมากที่สุดในโลก
แล้วทำไม Siemens และ Alstom ถึงต้องควบรวมกิจการกัน?
ก่อนการควบรวมกิจการกันทั้ง 2 บริษัทเป็นคู่แข่งในด้านธุรกิจรถไฟกันมานาน แต่ทั้ง 2 บริษัทเล็งเห็นว่า การควบรวมกันจะทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) มากขึ้น
เกิดข้อได้เปรียบมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการ share เทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทที่เชี่ยวชาญในเรื่องรถไฟความเร็วสูง เพิ่มโอกาสในการเข้าไปรับงานระบบรถไฟมากขึ้น ซึ่งหากไม่ควบรวมกิจการกัน อาจทำให้ทั้ง 2 บริษัทต้องมาแย่งส่วนแบ่งกันเอง
และหลังควบรวมแล้ว บริษัทที่เกิดขึ้นจะเป็นบริษัทที่ใหญ่สุดในเรื่องธุรกิจรถไฟของยุโรปทันที
ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเรื่อง รถ หรือ รถไฟ สินค้าของยุโรปมีคุณภาพดี คงไม่ยากที่จะขายสินค้าในราคาแพงกว่าคู่แข่ง
ทั้งนี้ หากดีลนี้สำเร็จจะเกิดบริษัทใหม่ที่ขื่อ Siemens Alstom โดยต่างฝ่ายจะถือหุ้นฝ่ายละ 50%
แล้วจะมีผลกระทบยังไง?
มูลค่าบริษัทใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 612,000 ล้านบาท
บริษัทใหม่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 18,400 ล้านบาท
บริษัทใหม่จะมีพนักงานร่วมกันกว่า 62,300 คน ทำงานในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบัน Alstom มีตลาดอยู่ที่ตะวันออกกลาง แอฟริกา อินเดีย แถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ขณะที่ Siemens มีตลาดอยู่ที่จีน อเมริกา และรัสเซีย ดังนั้น การเกิดขึ้นของบริษัทใหม่จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้า
ซึ่ง Deal นี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากทางการของฝรั่งเศสต้องการคำตอบจาก Siemens ว่าหลังจากควบรวมแล้ว พนักงานของ Alstom จะยังคงได้ทำงานต่อไปหรือไม่ เพราะปัจจุบัน ปัญหาการว่างงานของฝรั่งเศส สูงกว่า 9%
สำหรับในประเทศไทย ทั้ง Siemens และ Alstom ต่างก็มีผลงานโครงการระบบรางหลายโครงการ เกือบทุกสาย เช่น
โครงการรถไฟฟ้า BTS, โครงการ MRT สายสีน้ำเงิน, โครงการ Airport Rail Link ที่ Seimens เข้าไปมีส่วนร่วมทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ ติดตั้ง ก่อสร้าง เดินระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น
----------------------
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเสมอไป
ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน..
บางทีการยอมถือหุ้นน้อยลงในบริษัทที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม อาจจะทำให้เราได้ประโยชน์มากขึ้น
ลองนึกภาพว่า ถ้า AIS TRUE DTAC ควบรวมกัน BTS BEM ควบรวมกัน VGI PLANB ควบรวมกัน จะเกิดอะไรขึ้น..
แต่ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค การแข่งขันทำให้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ทั้งด้านคุณภาพ และ ราคา
สุดท้ายก็คงต้อง balance กันให้ดีระหว่างการควบรวมให้บริษัทมีกำไรดีขึ้น กับ การผูกขาดในตลาดทำให้ประสิทธิภาพลดลงจากการไม่มีการแข่งขัน ตัวอย่างเห็นได้จากรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ได้กำไรอยู่เจ้าเดียว แต่ประสิทธิภาพ คุณภาพ ที่ผู้บริโภคได้รับต่ำมาก..
----------------------
<ad> ถ้าเรามีบ้าน หรือ คอนโด ที่ผ่อนกับธนาคารอยู่ แต่อยากลดดอกเบี้ย หรือ ยืดเวลาผ่อน มารีไฟแนนซ์ กับ REFINN ฟรีได้ที่ https://goo.gl/2KgGWa
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon