S&P จากร้านไอศกรีมเล็กๆ คูหาเดียว สู่เชนร้านอาหารยอดขาย 7,000 ล้าน

S&P จากร้านไอศกรีมเล็กๆ คูหาเดียว สู่เชนร้านอาหารยอดขาย 7,000 ล้าน

S&P จากร้านไอศกรีมเล็กๆ คูหาเดียว สู่เชนร้านอาหารยอดขาย 7,000 ล้าน /โดย ลงทุนแมน
“ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” สโลแกนที่บางคนอาจคุ้น ซึ่งเป็นสโลแกนของ S&P
แบรนด์ร้านอาหารไทยและเบเกอรี ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 47 ปี
รู้ไหมว่า S&P จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งมีมูลค่าบริษัทกว่า 4,400 ล้านบาท
และบริษัท ไม่ได้มีแค่แบรนด์ S&P แต่ยังมีแบรนด์ร้านอาหารอื่นๆ อีก
เช่น Maisen, Umenohana และ BlueCup
ความเป็นมาของ S&P ร้านอาหารและเบเกอรีแถวหน้าของเมืองไทย
เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนรอยไปเมื่อปี พ.ศ. 2516
โดยพี่น้องตระกูลไรวา และตระกูลศิลาอ่อน
ได้ร่วมลงขันกันคนละ 25,000 บาท เพื่อเปิดร้านขายไอศกรีมของโฟร์โมสต์
ในตึกแถวคูหาเดียวเล็กๆ ที่ซอยสุขุมวิท 23 (ซอยประสานมิตร)
ภายใต้ชื่อร้านว่า “S&P Ice-Cream Corner”
แต่พอดำเนินธุรกิจไปสักพัก พวกเขาเริ่มรู้สึกว่าการขายไอศกรีมอย่างเดียว คงไม่สามารถสร้างยอดขายได้เพียงพอ จึงตัดสินใจเพิ่มเมนูอาหารจานเดียว ของว่างต่างๆ รวมถึงเบเกอรีเข้าไป เพื่อบริการลูกค้า
ซึ่งปรากฏว่าทางร้านประสบความสำเร็จพอตัว และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนในซอยพูดถึงกันมาก
เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีร้านอาหารที่เป็นห้องแอร์
ส่วนใหญ่จะเป็นร้านตามข้างทาง หรือร้านอาหารในโรงแรม ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
ด้วยคุณภาพของอาหาร รสชาติ และความแปลกใหม่ของรูปแบบร้าน
ทำให้ร้าน S&P มีลูกค้าเวียนเข้ามาใช้บริการอย่างหนาแน่น
จนต้องขยายร้านเป็น 2 คูหา และปรับปรุงชั้น 3 ให้เป็นโรงงานเบเกอรีเล็กๆ
ซึ่งเมนูอาหารเลื่องชื่อของทางร้านก็อย่างเช่น ข้าวไก่อบ, ข้าวผัดอเมริกัน, ข้าวผัดน้ำพริกกุ้งสด, ข้าวกุ้งผัดพริกขี้หนู และวุ้นเส้นผัดไทย
และด้วยพฤติกรรมของคนไทย ที่มีแนวโน้มหันมาทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น
S&P จึงเล็งเห็นโอกาส และมองว่าธุรกิจร้านอาหารของตัวเองมีศักยภาพมากพอ เลยตัดสินใจขยายสาขาเพิ่ม
โดยขยายสาขาไปที่สยามสแควร์ ในปี 2523
และสาขานี้ ได้กลายเป็นต้นแบบของร้าน S&P อื่นๆ ในเวลาต่อมา ซึ่งร้านมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนระหว่างโซนอาหารกับเบเกอรี
และต่อมาก็ได้ขยายสาขาไปเปิดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว, แหล่งทำเลสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ
รวมถึงบุกตลาดต่างจังหวัด โดยเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก
นอกจากเรื่องอาหารและเบเกอรี ที่ S&P ขึ้นชื่อแล้ว
S&P ยังเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกการผลิตเค้กแต่งหน้าตามสั่ง และเค้กลายการ์ตูน รายแรกในไทยอีกด้วย
รวมถึงสร้างเมนู ขนมไหว้พระจันทร์ตรา “S&P” และ “มังกรทอง” ที่บรรจุด้วยแพ็กเกจจิงหรูหราสวยงาม
ซึ่งกลายมาเป็นอีกสินค้าเอกลักษณ์ของทางร้าน
หลังจากนั้นกิจการของ S&P ก็รุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เมื่อปี 2532
และมีการแตกแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น
เช่น เปิดร้าน “PATIO” ร้านอาหารแนว Home Style Cooking ในปี 2544
เปิดร้าน “BlueCup Coffee” ร้านกาแฟสด ในปี 2546
เปิดร้าน “VANILLA” ร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยทำงาน ในปี 2548
นำร้านอาหารประเภททงคัตสึ “MAISEN” และร้านอาหารญี่ปุ่นแบบไคเซกิดั้งเดิม “UMENOHANA”
จากญี่ปุ่น มาเปิดที่ประเทศไทย ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ
ปัจจุบัน S&P ได้กลายเป็นอาณาจักรธุรกิจร้านอาหาร ที่มีหลายร้อยสาขาทั่วประเทศ
โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
กลุ่ม S&P มีร้านอาหารที่เปิดให้บริการภายในประเทศ รวม 529 สาขา เช่น
S&P Bakery Shop ร้านเบเกอรีและกาแฟ รวม 356 สาขา
S&P Restaurant & Bakery ร้านอาหารบริการเต็มรูปแบบ รวม 144 สาขา
Maisen ร้านอาหารทงคัตสึ รวม 13 สาขา
BlueCup (Standalone) ร้านกาแฟสด รวม 3 สาขา
Umenohana ร้านอาหารญี่ปุ่น 2 สาขา
Nai Harng ร้านอาหารสไตล์ไทย-จีน 2 สาขา
ส่วนในต่างประเทศ มีร้านอาหารเปิดให้บริการอยู่ 17 สาขา
ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, จีน และกัมพูชา
แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของกลุ่ม S&P เป็นอย่างไร ?
บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
ปี 2561 มีรายได้ 7,710 ล้านบาท กำไร 400 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้ 7,389 ล้านบาท กำไร 314 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563
บริษัท มีรายได้ 2,448 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
และขาดทุน 77 ล้านบาท
ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 มีกำไร 110 ล้านบาท
ซึ่งผลประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิด 19
ที่ทำให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ และสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว
ส่งผลให้ S&P ต้องปิดสาขาร้านอาหารชั่วคราว และเปิดจำหน่ายเฉพาะการซื้อกลับบ้านเท่านั้น
ถึงแม้ว่าร้านจะมียอดขายในส่วนของการซื้อกลับบ้านและจัดส่งถึงบ้าน เพิ่มสูงขึ้น
แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยยอดขาย ของการรับประทานในร้านได้
ซึ่งก็มีร้านอาหารในเครือของ S&P ก็คือร้าน “VANILLA”
ที่ทนพิษบาดแผลของโควิด 19 ไม่ไหว
จนต้องจำใจประกาศปิดกิจการลงทุกสาขาอย่างถาวรในที่สุด เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ดี ด้วยการควบคุมโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ
และสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยที่ผ่อนคลายขึ้นมาก
จนทำให้ผู้คน กล้ากลับมาใช้ชีวิตได้เกือบปกติทุกอย่างแล้ว
ได้ส่งผลให้ กิจการร้านอาหารและยอดขายของ S&P ค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว
ซึ่งร้านอาหาร S&P ก็คงอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานแสนนาน
ตราบเท่าที่ยังคงคุณภาพอาหารและการบริการอยู่เสมอ
ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
เป็นคนของ ตระกูลศิลาอ่อน ถือหุ้นรวมกันอยู่ 14.3%
และตระกูลไรวา ถือหุ้นรวมกันอยู่ 26.7%
แต่ที่น่าสนใจคือ
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
เจ้าของเชนโรงแรม เช่น อนันตรา, อวานี และ โฟร์ซีซั่นส์
และเจ้าของเชนร้านอาหารมากมายในไทย เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซเล่อร์, บอนชอน, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์ และแดรี่ ควีน
ก็เป็นหนึ่งในถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นอยู่ 35.9%
เริ่มแรก บรรดาผู้ก่อตั้ง S&P ตระกูลไรวา และตระกูลศิลาอ่อน
ตั้งใจจะเปิดร้าน S&P ให้เป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ สำหรับพี่ๆ น้องๆ เท่านั้น
ไม่ได้หวังให้กลายเป็นเชนร้านอาหารระดับประเทศ เหมือนอย่างทุกวันนี้
แต่ด้วยความใส่ใจในสิ่งที่ทำ ใส่ใจในลูกค้า ของพวกเขา
และตั้งใจทำสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
บวกกับ เอื้อมมือไปไขว่คว้าทุกโอกาสที่เข้ามาหาอย่างไม่ลังเล
ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้พวกเขาสามารถปลุกปั้น S&P จนมีวันนี้ และประสบความสำเร็จเกินกว่าที่หวังไว้ นั่นเอง..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://snpfood.com/
-https://www.matichonacademy.com/content/business/article_11516
-https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/383251
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-แบบฟอร์ม 56-1

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon