สรุปภาพรวม เศรษฐกิจ ภาคเหนือ

สรุปภาพรวม เศรษฐกิจ ภาคเหนือ

สรุปภาพรวม เศรษฐกิจ ภาคเหนือ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงภูมิภาคที่มีภูเขาสูง อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปี
แน่นอนว่า เรากำลังพูดถึง “ภาคเหนือ”
ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคหนึ่ง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
และมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย
แล้วนอกจากเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
เศรษฐกิจในภาพรวมของภาคเหนือ เป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
พบกับ หนังสือ ลงทุนแมน 13.0 ที่อัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษาและมุมมองธุรกิจที่น่าสนใจ
พร้อมให้คุณเป็นเจ้าของแล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนสุดของแผนที่ประเทศไทย
ในอดีต พื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ
เคยเป็นพื้นที่ในอาณาจักรล้านนา
อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองในช่วงปี พ.ศ. 1835 จนถึง ปี พ.ศ. 2318
ปัจจุบัน ภาคเหนือมีทั้งหมด 17 จังหวัด
เริ่มตั้งแต่ จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์
ไล่ขึ้นไปจนถึงพื้นที่เหนือสุดของไทย คือ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 169,600 ตารางกิโลเมตร
หรือคิดเป็นประมาณ 33% ของพื้นที่ประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือ
ตอนบนของภูมิภาคเป็นภูเขา ป่าไม้ และแหล่งต้นน้ำลำธาร
พื้นที่ตอนล่างเป็นภูเขาสูง และที่ราบลุ่มของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก
ที่น่าสนใจก็คือ ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในบรรดา 6 ภูมิภาคของไทย
โดยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 90,200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 55.2% ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศไทย
ปัจจุบัน ภาคเหนือของไทยมีประชากรประมาณ 12.1 ล้านคน
คิดเป็นประมาณ 18% ของประชากรไทย
ในปี พ.ศ. 2561 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในภาคเหนือ
หรือที่เรียกว่า GPP (Gross Provincial Product) มีมูลค่าเท่ากับ 1.3 ล้านล้านบาท
คิดเป็นประมาณ 7.7% ของ GDP ประเทศไทย
โดยจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรก ของภาคเหนือ คือ
1. เชียงใหม่ ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 254,800 ล้านบาท
2. กำแพงเพชร ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 120,900 ล้านบาท
3. นครสวรรค์ ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 119,600 ล้านบาท
4. เชียงราย ขนาดเศรษฐกิจประมาณ 113,100 ล้านบาท
จะเห็นว่า มูลค่าเศรษฐกิจของทั้ง 4 จังหวัดนี้รวมกัน
คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งภาคเหนือเลยทีเดียว
รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรภาคเหนือ (GPP per Capita) ในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 110,897 บาทต่อปี
ซึ่งน้อยกว่ารายได้ต่อหัวประชากรทั้งประเทศไทย ที่ประมาณ 236,815 บาทต่อปี
จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ
1. ลำพูน 191,568 บาทต่อปี
2. กำแพงเพชร 142,660 บาทต่อปี
3. เชียงใหม่ 135,991 บาทต่อปี
โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคเหนือทุก 100 บาท มาจาก
ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 60 บาท
ภาคเกษตรกรรม 26 บาท
ภาคอุตสาหกรรม 14 บาท
รายได้จากภาคเกษตรกรรม
มาจากผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพด, อ้อย
นอกจากนี้ จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน
ยังมีการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว เช่น สตรอว์เบอร์รี, ชา และกาแฟพันธุ์อาราบิก้า
ภาคอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ถือว่ามีบทบาทน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ
ในปี พ.ศ. 2560 ผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมของภาคเหนือ มีมูลค่าประมาณ 214,000 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่าเท่านี้ คิดเป็นเพียง 4.7% ของมูลค่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย
โดยภาคเหนือมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ใน 2 จังหวัด คือ
นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จังหวัดพิจิตร
นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน
โดยนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในจังหวัดลำพูน เป็นฐานที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขนาดใหญ่ จึงทำให้จังหวัดลำพูน กลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร มากที่สุดในภาคเหนือ
ส่วนในภาคการท่องเที่ยวและบริการ
จุดเด่นในด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนือคือ สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะของ ดอย หรือ ม่อน อยู่จำนวนมาก
จุดเด่นที่สำคัญของภาคเหนือ คือจะมีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงนั้นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2562 ภาคเหนือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปทั้งหมด 35.6 ล้านคน
โดยจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากที่สุด คือ เชียงใหม่
โดยในปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปทั้งหมด 10.8 ล้านคน
ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากที่สุด เป็นอันดับที่ 4 ของไทย เป็นรองเพียง กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และภูเก็ต
และเชียงใหม่ ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 109,000 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
นอกจากเชียงใหม่ จังหวัดในภาคเหนือ
ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ได้แก่
เชียงราย 3.7 ล้านคน
พิษณุโลก 3.3 ล้านคน
เพชรบูรณ์ 2.4 ล้านคน
เมื่อเรามองในภาพรวมแล้วจะเห็นว่า
ภาคเหนือมีจุดเด่นคือทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด และมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก
นอกจากจุดเด่นเหล่านี้แล้ว คำถามสำคัญคือ ภาคเหนือจะเดินหน้าพัฒนาในด้านอื่น เช่นภาคอุตสาหกรรม ให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่
เพราะถ้าทำได้ ก็จะทำให้มูลค่าเม็ดเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมไหลมายังภาคเหนือมากขึ้น เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และคนในภูมิภาคก็จะได้รับองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น
และก็คงทำให้เศรษฐกิจภาพรวมในภาคเหนือของไทย เติบโตขึ้นจากเดิมได้ไม่น้อย..
----------------------
พบกับ หนังสือ ลงทุนแมน 13.0 ที่อัดแน่นไปด้วยกรณีศึกษาและมุมมองธุรกิจที่น่าสนใจ
พร้อมให้คุณเป็นเจ้าของแล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=8533
-https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5628&filename=gross_regional
-https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/117802
-สถิติด้านการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon