การสละธุรกิจที่ล้ำค่า เพื่อพยุงธุรกิจที่ไร้ค่า ของ SoftBank

การสละธุรกิจที่ล้ำค่า เพื่อพยุงธุรกิจที่ไร้ค่า ของ SoftBank

การสละธุรกิจที่ล้ำค่า เพื่อพยุงธุรกิจที่ไร้ค่า ของ SoftBank /โดย ลงทุนแมน
10 ปีที่ผ่านมานี้ หากถามว่าการลงทุนไหนประสบความสำเร็จสุดในโลก
หนึ่งในนั้นต้องมีการลงทุนของ SoftBank ในบริษัท Alibaba
SoftBank ลงทุนในบริษัท Alibaba กว่า 12,000 ล้านบาท
จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของบริษัท คิดเป็นการครอบครองหุ้น 29.4%
หลังจาก Alibaba ก้าวมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทำให้มูลค่าการลงทุนของ SoftBank
พุ่งทะยานเป็น 4,850,000 ล้านบาท คิดผลตอบแทนเป็น 404 เท่าจากเงินที่ได้ลงทุนไป
ดูเหมือน SoftBank จะประสบความสำเร็จมหาศาล
แต่เหตุการณ์ในอดีตที่สวยหรู ไม่ได้บ่งบอกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ปีนี้ บริษัท SoftBank กำลังเจอความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่
ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่ระดับที่ Masayoshi Son เจ้าของบริษัท SoftBank
ตัดสินใจขายสินทรัพย์ส่วนหนึ่งของบริษัทมูลค่ารวมกัน
กว่า 1,300,000 ล้านบาทเพื่อพยุงธุรกิจเอาไว้
แล้ว SoftBank ได้รับผลกระทบหนักขนาดไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
SoftBank เป็นหนึ่งในบริษัทนักระดมทุนสัญชาติญี่ปุ่นระดับโลกที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่เป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต
ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่ SoftBank โฟกัสเป็นพิเศษนั่นก็คือ
“Sharing Economy” หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ยกตัวอย่างเช่น
SoftBank ลงทุนในแพลตฟอร์ม Ride Sharing หรือแพลตฟอร์มเรียกรถและแชร์รถกับคนอื่น ได้แก่
Didi ผู้ให้บริการในประเทศจีน
OLA ผู้ให้บริการในประเทศอินเดีย
Grab ผู้ให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และ Uber ผู้ให้บริการทั้งในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ
จากตรงนี้ เราก็อาจจะสรุปได้ว่า อุตสาหกรรม Ride Sharing บนโลกนี้เกือบทั้งหมดเป็นของ SoftBank
นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม Ride Sharing แล้ว..
SoftBank ยังลงทุนใน WeWork เจ้าของแพลตฟอร์มเช่าอาคารสำนักงาน
และ OYO เจ้าของแพลตฟอร์มจองโรงแรม ที่อยู่อาศัย
ทั้งหมดนี้ก็น่าจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับ SoftBank
หาก Sharing Economy เติบโตแบบไม่มีสะดุด
แต่ฝันร้ายที่ไม่คาดฝันก็ดันมาเกิดขึ้น
จาก COVID-19..
ความเสี่ยงเดียวของการลงทุนมหาศาลใน Sharing Economy ก็คือ
เราจะไม่แชร์สิ่งของร่วมกัน
เราจะไม่เดินทาง ไม่ไปเที่ยว ไม่หาที่พัก
เราจะไม่ออกไปทำงานที่แชร์ออฟฟิศกับคนอื่น แต่ทำงานที่บ้าน
เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เมื่อ 3 เดือนก่อน
แต่สิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้น “พร้อมกัน”
และพร้อมกัน “ทั่วทั้งโลก”
แม้ว่าบางธุรกิจย่อยของแพลตฟอร์มเรียกรถ เช่น บริการส่งอาหารจะเติบโตระเบิดในช่วงนี้ แต่ธุรกิจหลักก็ยังเป็นการแชร์การเดินทาง ที่หายไปแทบจะในทันทีและคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าจุดสิ้นสุดอยู่ที่ตรงไหน
ทำให้ตอนนี้ SoftBank ไม่ต่างอะไรจากเรือสำราญที่ผู้โดยสารครึ่งลำเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อที่เรียกว่าสตาร์ตอัป
ซึ่งเมื่ออยู่ในเรือลำเดียวกัน ทุนใช้ร่วมกัน บริหารร่วมกัน
แน่นอนว่าผู้โดยสารอีกครึ่งลำ คือธุรกิจอื่นๆ ของ SoftBank
ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงไปยังมูลค่าบริษัท SoftBank ที่หายไปกว่าครึ่งในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว
ยังไม่หมดเพียงแค่นี้..
ด้วยสภาพของ SoftBank คือผู้ให้ทุน
ในขณะที่คนรับทุนจาก SoftBank ส่วนใหญ่
ยังเป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่ขาดทุนต่อเนื่อง มีหนี้สินมหาศาล
และยังต้องการการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ
เมื่อรายได้หายไป และมีแนวโน้มที่จะทำไม่ได้ตามที่ผู้ให้ทุนคาดหวัง
ทำให้บริษัทเหล่านี้ขาด “สภาพคล่อง” ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ SoftBank จำเป็นต้องเลือกก็คือ
1. ปล่อยให้ล้มละลาย
2. เยียวยาด้วยการให้ทุนเพิ่มเติม
สำหรับทางเลือกแรก มันจะทำให้เงินลงทุนของ SoftBank เป็นศูนย์ทันที และต้องบันทึกผลขาดทุน ซึ่งก็เพิ่งเกิดขึ้นกับ OneWeb บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมที่ SoftBank ลงทุน เพิ่งประกาศล้มละลาย
สำหรับทางที่สอง มันจะทำให้ SoftBank ต้องอัดเงินเข้าไปเพิ่มเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทางรู้เลยว่าโรคระบาดจะหายก่อน หรือเงินที่ทยอยเพิ่มเข้าไปจะหมดก่อน..
ที่ผ่านมา SoftBank มีการ Leverage หรือการเพิ่มอำนาจการลงทุนด้วยการกู้ยืมที่สูงมาก
ซึ่งในสภาวะปกติ ก็ถือว่าเสี่ยงอยู่แล้ว
ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ก็ยิ่งเสี่ยงเป็นทวีคูณ
แล้วเสี่ยงที่ว่ามันคือเสี่ยงขนาดไหน?
เรามาดูสถานะทางการเงินของบริษัท SoftBank
หนี้สิน (ไม่รวมเจ้าหนี้การค้า) 7,600,000 ล้านบาท
ส่วนผู้ถือหุ้น 2,300,000 ล้านบาท
คิดเป็น อัตราส่วน 3.3 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก
มากในระดับที่สถาบันการเงินคงไม่กล้าที่จะปล่อยกู้ต่อ
บทสรุปของเรื่องนี้จึงทำให้ Masayoshi Son เจ้าของบริษัท SoftBank
ตัดสินใจประกาศขายสินทรัพย์คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1,300,000 ล้านบาท

ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าหนึ่งในนั้นจะเป็นหุ้นบางส่วนของบริษัท Alibaba
บริษัทที่สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับ SoftBank
เพื่อชำระหนี้ ไถ่ถอนหุ้นกู้ และเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท นั่นเอง..
แล้วบทเรียนของเรื่องนี้คืออะไร?
ในวันที่ดีที่สุดของเราก็อาจจะมีเรื่องแย่
ที่ทุกคนไม่คาดฝันเกิดขึ้น
ไม่ว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่
สำหรับในมุมธุรกิจ
การกระจายความเสี่ยงของประเภทธุรกิจที่ลงทุน
และการรักษาระดับหนี้สินในการทำธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ
หากเราควบคุมได้ไม่ดี
มองด้านบวกอยู่ด้านเดียว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้
เราต้องสละธุรกิจที่ล้ำค่า เพื่อพยุงธุรกิจที่ไร้ค่า ในที่สุด..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.reuters.com/article/us-softbank-group-buyback/softbank-plans-41-billion-of-asset-sales-to-expand-buyback-and-cut-debt-idUSKBN21A0F2
-https://www.cnbc.com/2020/03/27/softbank-to-let-internet-satellite-company-oneweb-file-for-bankruptcy.html
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-03-30/softbank-drops-10-after-oneweb-files-for-bankruptcy-protection

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon