สรุปดราม่า WeWork จากยูนิคอร์นดาวรุ่ง ดำดิ่งสู่วิกฤติใน 47 วัน

สรุปดราม่า WeWork จากยูนิคอร์นดาวรุ่ง ดำดิ่งสู่วิกฤติใน 47 วัน

สรุปดราม่า WeWork จากยูนิคอร์นดาวรุ่ง ดำดิ่งสู่วิกฤติใน 47 วัน /โดย ลงทุนแมน
47 วันก่อน..
WeWork มีมูลค่าการประเมินอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านล้านบาท
ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลกในกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่..
ด้วยมูลค่าดังกล่าว WeWork จะมีมูลค่ามากกว่าทุกบริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
แต่ในวันนี้ มูลค่าที่ประเมินของ WeWork กำลังดำดิ่งอย่างรวดเร็ว เหลือ 30% จากมูลค่าเดิม..
เกิดอะไรขึ้นกับ WeWork?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
“เราไม่ได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อหวังเงินระดมทุน หรือเพื่อทำธุรกิจให้เช่า.. แต่เรากำลังทำธุรกิจเปลี่ยนโลก” ประโยคนี้กล่าวโดย Adam Neumann หนึ่งในผู้ก่อตั้ง WeWork ซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
WeWork เป็นสตาร์ตอัปสัญชาติอเมริกัน ด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยจะสร้างออฟฟิศเพื่อปล่อยเช่าพื้นที่ให้กับบริษัทอื่นอีกที
แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป บริษัทนี้อาจไม่ได้เปลี่ยนโลกอย่างที่เขากล่าว..
WeWork ไม่น่าถูกเรียกเป็นบริษัทสตาร์ตอัป แต่ควรเรียกว่าเป็นบริษัทเกิดใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะปกติสตาร์ตอัปจะใช้เรียกบริษัทที่สามารถประหยัดต้นทุนได้ เมื่อผู้ใช้บริการเติบโต หรือเราเรียกว่า “Scalable”
หลักการของ Scalable คือ ในช่วงแรกที่ขยายผู้ใช้งาน เราอาจเห็นการขาดทุน แต่เมื่อรายได้เพิ่มถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นตัวเลขการขาดทุนน้อยลง จนกลับมามีกำไร
เรามาดูผลประกอบการบริษัท The We Company
ปี 2016 รายได้ 13,455 ล้านบาท ขาดทุน 13,149 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 27,216 ล้านบาท ขาดทุน 28,439 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 55,656 ล้านบาท ขาดทุน 59,019 ล้านบาท
จากผลประกอบการที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้บริษัทจะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ตัวเลขการขาดทุนของบริษัทก็เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่นกัน.. ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า บริษัทนี้ต้องการเงินทุนสูงมาก ตามยอดผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น..
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ทุกวันนี้ ถ้า Google, Facebook มีคนใช้บริการเพิ่มสัก 10,000 คน บริษัทเหล่านี้จะมีต้นทุนเพิ่มไม่มาก แต่กลับกัน ถ้าเป็น WeWork บริษัทต้องไปเช่าตึกเพิ่ม สร้างออฟฟิศเพิ่ม เพื่อรองรับผู้เช่าใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ WeWork ประหยัดต้นทุนได้เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นอย่างที่เห็น ต้นทุนมากกว่ารายได้ 2 เท่า.. ทำให้ WeWork ขาดทุนมหาศาล
ทีนี้ คำถามก็คือ แล้ว WeWork ขยายกิจการมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ “การได้รับทุน”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา WeWork ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ รวมถึงบริษัทผู้ระดมทุนระดับโลกอย่าง JPMorgan Chase & Co., Goldman Sachs Group และ SoftBank Group
ไม่น่าเชื่อว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ WeWork ปัจจุบันก็คือ SoftBank ซึ่งมีเจ้าของคือ มาซาโยชิ ซัน นักลงทุนผู้ชาญฉลาด ซึ่งตอนนี้ SoftBank ก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Alibaba เช่นกัน
แต่ WeWork ไม่ใช่ Alibaba..
เพราะ 2 บริษัทนี้มีโมเดลธุรกิจต่างกันสิ้นเชิง
Alibaba ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการ Scale และได้เปรียบเมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น
WeWork อาจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็แค่ เป็นผู้ปล่อยเช่าสำนักงาน ให้กับบริษัทเทคโนโลยีอีกที
Alibaba มีผู้ก่อตั้งชื่อ แจ็ก หม่า ที่ขึ้นชื่อในเรื่องเป็นผู้นำความคิดของจีน
WeWork มีผู้ก่อตั้งชื่อ Adam Neumann ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีหลายอย่างที่น่าสงสัย..
Adam Neumann มีอะไรน่าสงสัยบ้าง?
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นจาก
47 วันก่อน.. หรือวันที่ 16 สิงหาคม 2562
บริษัท WeWork ได้เริ่มแผนที่จะ IPO ซึ่งตามขั้นตอนบริษัทจะต้องยื่นแบบ S-1 ให้กับ กลต. (Securities and Exchange Commission)
ในแบบ S-1 มีความยาว 359 หน้า ซึ่งนักลงทุน นักวิเคราะห์ นักข่าวที่ได้อ่าน พบสิ่งผิดปกติหลายประการ
Neumann เป็นเจ้าของอาคารหลายแห่งที่ WeWork ทำสัญญาเช่า
Neumann ยืมเงินจากบริษัทด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าตลาด เพื่อนำไปใช้จ่ายส่วนตัว
แต่ที่พีกที่สุดก็คือ Neumann ได้ขายเครื่องหมายการค้า “We” ที่เขาบอกว่าเป็นเจ้าของ 2 ตัวอักษรนี้ โดยที่บริษัทต้องจ่ายเงินให้กับ Neumann เป็นค่าลิขสิทธิ์ ถึง 180 ล้านบาท..
ที่สำคัญคือ ผู้ถือหุ้นคนอื่นทำอะไรไม่ได้ เพราะบริษัท WeWork จะแบ่งหุ้นเป็นหลายคลาส และ คลาสที่ Neumann ถือจะมีสิทธิโหวตมากกว่าคนอื่น 20 เท่า และถ้าเขาตาย ภรรยาเขาจะมีอำนาจในการตั้ง CEO คนใหม่ ซึ่งเป็นอิสระจากคณะกรรมการบริษัท..
ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ โมเดลในการทำธุรกิจของบริษัท
ตอนนี้ บริษัทได้ล็อกสัญญาเช่าตึกตามที่ต่างๆ ซึ่งมีภาระที่ต้องจ่าย 1.4 ล้านล้านบาทในอนาคต แต่ปัจจุบันมีรายได้ที่คาดว่าจะได้เพียง 1.2 แสนล้านบาท เรื่องนี้แปลง่ายๆ คือบริษัทล็อกรายจ่าย แต่รายได้อนาคตเป็นอย่างไร เดี๋ยวไว้ค่อยว่ากัน..
และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ถึงแม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว.. และไม่รู้ว่าจะเริ่มทำกำไรได้เมื่อไร
ถ้าอ่านมาทั้งหมด เราจะไม่แปลกใจ ที่ประโยคนี้ได้ถูกระบุอยู่ในเอกสาร S-1 ที่ยื่นให้แก่ กลต.
“พวกเรามีประวัติการขาดทุน และหากเรายังดำเนินธุรกิจด้วยอัตราเร่งระดับนี้
บริษัทของเราคงจะไม่มีวันทำกำไรได้.. ในอนาคตอันใกล้..”
จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ก็เริ่มทำให้ Adam Neumann และ WeWork ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Elizabeth Holmes ที่สร้างบริษัทสตาร์ตอัปตรวจเลือดลวงโลกชื่อ Theranos
โดยการสร้างสตอรี่ภาพลักษณ์ความยากลำบากในวัยเด็ก
พ่อแม่หย่าร้างกันตั้งแต่ 7 ขวบ พร้อมความล้มเหลวในการทำธุรกิจอยู่หลายครั้ง
จนในที่สุดมาประสบความสำเร็จกับ WeWork..
แล้ว WeWork ที่สุดท้ายไม่เวิร์ก มีทางไหนที่พอจะไปรอด..
คำตอบก็คือ ต้องหา “ทุน” มาถมเพิ่ม..
และเงินนั้นจะมาจาก สถาบันการเงิน และ บุคคลทั่วไป
การหาทุนแบบนี้เรียกว่า การ IPO หรือ การระดมทุนเป็นครั้งแรกจากตลาดหลักทรัพย์..
เหตุการณ์ล่าสุดคือ Adam Neumann ได้ถูก SoftBank ผู้ถือหุ้นใหญ่กดดันให้ออกจากตำแหน่ง CEO เพื่อหวังว่า ภาพลักษณ์โดยรวมของบริษัทจะดีขึ้น จนสามารถระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้ ความน่าเชื่อถือต่อบริษัท WeWork ลดลงอย่างมาก
ซึ่งบริษัทวิกฤติ ถึงขนาดที่มูลค่าการประเมินจาก 1.4 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 4.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงถึง 70% ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 47 วัน จากบริษัทยูนิคอร์นดาวรุ่ง ดำดิ่งสู่วิกฤติ..
เรื่องนี้เราได้เรียนรู้อะไร
เรื่องแรก ใครที่ทำธุรกิจสตาร์ตอัป ต้องเรียนรู้
เรากำลังมีค่านิยมที่ผิดว่า คนทำธุรกิจต้องขาดทุนเยอะๆ เติบโตเร็วๆ ก่อน กำไรค่อยว่ากัน
การเติบโตเร็วโดยยอมขาดทุน แยกได้เป็น 2 แบบ
1. เติบโตเร็ว แล้วต้นทุนต่อหน่วยลดลง อย่างนี้เรียกว่าพอใช้ได้
2. เติบโตเร็ว แต่ต้นทุนต่อหน่วยไม่ลด อย่างนี้แปลว่า เรากำลังหาเรื่อง
เพราะทุกๆ เม็ดเงินที่เรากำลังใส่เข้าไป มันจะยิ่งพอกพูน ยิ่งถอนตัวยาก จนกลายเป็นหายนะ
ธุรกิจที่ดีจะพึ่งพาเม็ดเงินผู้ลงทุนโดยไม่กี่รอบ ก็ตั้งตัวได้ และดำเนินกิจการได้ด้วยกระแสเงินสดของบริษัทเอง
ส่วนธุรกิจที่ลำบากจะพึ่งพาเม็ดเงินใหม่จากผู้ลงทุนอยู่เสมอหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เงินจากผู้ลงทุนรายเดิม หรือ ผู้ลงทุนใหม่ โดยไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไร กิจการก็ยังขาดทุนแม้รายได้จะโตขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ต่างอะไรจาก “แชร์ลูกโซ่”
และสุดท้าย ผู้ขอเงินลงทุน สำคัญที่สุด.. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทุกอย่างที่สร้างมาเป็นปี มันสามารถพังทลายได้ จากการกระทำที่น่าสงสัยเพียงครั้งเดียว
ไม่ว่าเราจะสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน
แต่สุดท้าย ไม่ว่าเลขอะไร เมื่อจับมาคูณศูนย์ คำตอบก็คือ ศูนย์..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://www.businessinsider.com/weworks-nightmare-ipo
-https://techcrunch.com/2019/09/29/wework-proves-that-venture-capitalism-works/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon