IKEA ไทย รายได้น้อยกว่า INDEX และ SB?

IKEA ไทย รายได้น้อยกว่า INDEX และ SB?

หลายคนคงสงสัยว่า หลังจาก IKEA เข้ามาในไทย
ตอนนี้รายได้ IKEA เป็นอย่างไร
เมื่อเทียบกับเจ้าตลาดเฟอร์นิเจอร์เดิม เช่น INDEX หรือ SB
ทุกคนรู้จัก IKEA อิเกียผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกของ สวีเดนเป็นอย่างดี
ตอนนี้ IKEA มี 400 สาขา ใน 49 ประเทศ มีรายได้ 36,400 ล้านยูโร หรือ 1.45 ล้านล้านบาท
มาดูประวัติการขยายสาขา IKEA ในแถบบ้านเรากัน
ปี 1978 เปิดสาขาสิงคโปร์ ปัจจุบันมี 2 สาขา
ปี 1996 เปิดสาขามาเลเซีย ปัจจุบันมี 2 สาขา และ สิ้นปีนี้ เปิดอีก 1 สาขา
ปี 2011 เปิดสาขาเมืองไทย ที่บางนา 1 สาขา และปีหน้า เปิดอีก 1 สาขา
IKEA มีแผนขยายให้ครบ 12 สาขา ครอบคลุม 3 ประเทศนี้ใน 7 ปีข้างหน้า
หลังจากเปิดที่สิงค์โปร์แล้ว ทำไม IKEA ใช้เวลานานกว่า 33 ปี ถึงเข้ามาเมืองไทย?
อาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยเต็มไปด้วยผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพ
มีผู้นำที่ครองตลาดค้าปลีกคือ Index Living Mall และ SB Furniture
ทั้งยังมีผู้ผลิตส่งออกนอกประเทศ มูลค่ากว่า 38,299 ล้านบาทต่อปี
แน่นอน หลายบริษัท ผลิตให้ IKEA ด้วย พูดง่ายๆ คนไทยมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ไม่ซื้อจากที่ทำสำเร็จแล้วก็เอาแบบที่อยากได้ไปจ้างช่างมีฝีมือแถวบางโพผลิตให้
และ พฤติกรรมของคนไทยไม่ค่อยเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ ซื้อแล้วก็ใช้นานมาก ใช้จนเบาะผุผังนั่งไม่ได้ ถึงจะซื้อใหม่ การทำตลาดในไทย ไม่ง่ายเลยสำหรับ IKEA
บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด ผู้ถือแฟรนไชน์อิเกียใน สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ประเทศไทย ได้จับมือกับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอส พี เอส โกลเบิลเทรด จำกัด (บริษัทซัพพลายเออร์ให้อิเกีย) เปิดสาขาที่บางนา
วันแรกที่เปิดถึงแม้ประเทศจะอยู่ในภาวะน้ำท่วม แต่สาวกอิเกียก็ไม่พลาดที่จะมาเยือนอย่างล้นหลาม ภายในวันเดียวของหลายชิ้นก็ขึ้นป้าย ว่าหมดสต๊อค
จากผลประกอบการปี 2012 หนึ่งปีหลังจาก IKEA ประเทศไทยเปิดตัว 4 ลำดับผู้นำตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในไทย คือ
1.Index Living Mall รายได้ 7,670.9 ล้านบาท กำไร 343.9 ล้านบาท
2.SB Furniture House รายได้ 3,493.9 ล้านบาท กำไร 56.2 ล้านบาท
3.Modernform รายได้ 2,946 ล้านบาท กำไร 410 ล้านบาท
4.IKEA ประเทศไทย รายได้ 2,692.3 ล้านบาท ขาดทุน 225.9 ล้านบาท
IKEA ประเทศไทย มียอดขายขึ้นแท่นเป็น ลำดับ 4 ในปีแรกทันที
ความสำเร็จของ IKEA คืออะไร?
นอกจากการเป็น เฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์ มีคุณภาพและราคาถูกแล้ว หลายคนให้เหตุผลว่า IKEA STORE ทำให้เราเหมือนอยู่ในบ้าน ไม่ใช่ อยู่ใน โชวร์รูมสินค้า และ IKEA มีมากกว่า คำว่า ‘เฟอร์นิเจอร์’
IKEA เป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง และ เป็นแบรนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของผู้ก่อตั้ง อิงวาร์ คัมพราด Ingvar Kumprad อย่างชัดเจนที่สุด
อิงวาร์ได้ชื่อว่าเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ นั่งเครื่องบินชั้นธรรมดา ขับรถโวลโว่คันเก่าๆ ไปซื้อของตอนลดราคา เอากระดาษที่พิมพ์แล้วมาใช้เขียนอีกด้าน อิเกียจึงมีนโยบายสร้างสินค้า ที่สูญเสีย (waste) น้อยที่สุด สินค้าที่ผลิต ต้องขนส่งได้มากในรถคันเดียว เพื่อประหยัดค่าขนส่ง และเกิดมลภาวะอากาศจากการผลิตและการขนส่งน้อยที่สุด
อิงวาร์ต้องการให้ทุกบ้าน ได้ใช้สินค้าที่มี ดีไซน์ และ ราคาที่จับต้องได้ อิเกียจึงออกแบบผลิตภัณท์ โดยตั้งต้นที่ ราคาที่ต้องการขายก่อน ไม่ใช่จากแบบดีไซน์
อิงวาร์ มีนโยบายให้ อิเกียเติบโตด้วยทรัพยากรที่บริษัทมี คือต้องขายให้ได้เงินก่อน ถึงจะไปลงทุนต่อ และไม่เห็นด้วยกับการเติบโตทุกๆ ไตรมาสเพื่อเอาใจผู้ถือหุ้น นั่นหมายถึง บริษัทที่อยู่ภายใต้กลุ่ม IKEA แม้กระทั่ง IKANO Bank ไม่อยู่ในตลาดหุ้นใดๆ เลย
ปัจจุบัน Inter IKEA group ขายสินค้าออนไลน์ด้วยช่องทางตัวเอง แต่ด้วยการรุกของคู่แข่งในตลาดอีคอมเมิร์ซ ทำให้ Inter IKEA group ประกาศครั้งแรกว่า จะขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางอื่นในไม่ช้า คาดว่าในปี 2018 เราอาจจะได้เห็น สินค้า IKEA ซื้อได้ใน Amazon หรือ Alibaba
ย้อนกลับมาบ้านเรา
ปัจจุบัน IKEA เปิดมาแล้ว 5 ปี ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบอะไรไหมจาก IKEA ?
จากผลประกอบการปี 2016 ลำดับผู้นำตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ในไทย คือ
1.Index Living Mall รายได้ 9,741 ล้านบาท กำไร 596.2 ล้านบาท
2.SB Furniture House & SB Design Square รายได้ 5,871.6 ล้านบาท กำไร 110.5 ล้านบาท
3.IKEA ประเทศไทย รายได้ 4,759.3 ล้านบาท กำไร 302.4 ล้านบาท
4.Modernform รายได้ 3,310.9 ล้านบาท กำไร 172.9 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารายได้เติบโตทุกบริษัท รวมทั้งบริษัทของไทย
จากตัวเลข อาจสรุปได้ว่า ผู้ประกอบการไทยก็ยังครองความเป็นผู้นำธุรกิจนี้อยู่ ในขณะที่ IKEA ประเทศไทย ก้าวขี้นมาเป็น อันดับ 3
ก่อนหน้านี้ หลายคนคาดว่า IKEA น่าจะทำให้ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ในไทย รายได้ตกกันทั่วหน้า
แต่เพราะอะไรบริษัทเฟอร์นิเจอร์ไทยยังเติบโต และยังคงเป็นผู้นำ?
1. More customer awareness & demand การเข้ามาของ IKEA ซื่งเป็น Global Brand ทำให้เกิดความต้องการที่จะซื้อเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านมากขึ้น และทำให้เกิดการเปรียบเทียบสินค้าระหว่างแบรนด์
2. One not for all ไม่มีบริษัทเดียวที่สามารถผลิตสินค้าได้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ถึงแม้ IKEA จะมีสินค้ามากถึง 12,000 รายการ แต่ทั้ง Index และ SB ก็มีการพัฒนาสินค้าที่เข้าใจความต้องการของคนไทย และ ประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี
3. DIY Furniture ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เชื่อว่ามีหลายคนไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่ IKEA เพราะต้องเสียเวลามานั่งประกอบเอง และขนสินค้ากลับบ้านเอง ถ้าอยากใช้บริการเหล่านี้ที่ IKEA ต้องเสียเงินเพิ่ม ต่างจากผู้ประกอบการไทยที่มีบริการจัดส่งที่ดีกว่า และราคารวมค่าจัดส่งแล้ว คนไทยบางกลุ่มอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการบริการตัวเอง
ที่น่าสนใจคือ IKEA เคยประสบความล้มเหลวในการตั้งสาขาที่ ญี่ปุ่น ช่วงปี 1974-1986 เพราะคนญี่ปุ่น คิดว่า DIY เป็นของถูก อีก 20 ปีถัดมา IKEA ถึงประสบความสำเร็จในการกลับไปเปิดสาขาในญี่ปุ่นอีกครั้ง
4. Large Scale Store มีทั้งข้อได้เปรียบ และ ข้อจำกัด IKEA บางนา มีพื้นที่ 43,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นทั้ง showroom และ คลังสินค้า DIY ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 6,000 ล้านบาท กว่าจะขยายแต่ละสาขาต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล
ขณะที่ Index มี 25 สาขา และมี พื้นที่ทั้งหมด 274,135 ตารางเมตร เฉลี่ยพื้นที่ขาย 10,000 ตารางเมตรต่อสาขา ซึ่งเล็กกว่า IKEA 4 เท่า โดยสามารถตั้งร้านได้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั้งพื้นที่กว้างกว่าทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
Index Living Mall ตั้งเป้ามีรายได้แตะ หมื่นล้านบาทในปีนี้ และมุ่งเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเต็มรูปด้วย The Walk Community Mall รวมทั้ง การเพิ่ม franchise ในต่างประเทศ
ส่วน SB Design Square เพิ่มการขยายสาขาไปพร้อมกับโฮมโปรและ ลงทุนสร้างสาขาใหญ่สุดที่ ราชพฤกษ์ ถ้าดูรายได้ทั้งกลุ่มบริษัท SB Furniture House, SB Design Square โดยรวมบริษัท สักทอง (ไทย) จำกัด และบริษัท เอสบี อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตและรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ รายได้ของกลุ่ม SB Furniture ทั้งหมดที่จริงแล้วใหญ่กว่า Index เสียอีก เพราะมีรายได้เกินหมื่นล้านบาทต่อปีไปแล้ว
บางใหญ่ สาขาที่ 2 ของ IKEA ประเทศไทย เป็นอย่างไร?
ข่าวการหาพื้นที่เพื่อการลงทุนของ IKEA แถบบางใหญ่ ทำให้ SB Design Square ชิงเปิดสาขาที่เซ็นทรัลเวสต์เกต เมื่อต้นปีที่แล้ว ขณะที่ Index ปรับปรุงสาขาบางใหญ่อย่างเร่งด่วน
IKEA จับมือกับเซ็นทรัลพัฒนาเปิดสาขา 2 ที่ เซ็นทรัลเวสต์เกต มีพื้นที่ 50,278 ตารางเมตร เป็นสาขาที่ใหญ่สุดในภูมิภาคนี้ ลงทุนมากกว่า 6,300 ล้านบาท พร้อมเปิดบริการปี 2017
ถึงแม้ว่ารายได้ IKEA ประเทศไทย ยังตามหลังผู้ประกอบการไทยอยู่
แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ IKEA มีแค่สาขาเดียวในประเทศไทย (มีจุดสั่งซื้อ และรับสินค้าที่ภูเก็ตอีก 1 ที่) การเปิดสาขาที่ 2 ย่อมทำให้รับรู้รายได้ที่มากขึ้น และ กวาดกลุ่มลูกค้า กทม และ ลูกค้าต่างจังหวัดด้านภาคตะวันตก ให้มาอยู่ในมือ
ถ้าเทียบรายได้ ต่อพื้นที่ขาย 1 ตารางเมตร
IKEA บางนา ทำรายได้ 110,681 บาทต่อตารางเมตร
Index ทำรายได้ 35,534 บาทต่อตารางเมตร
หมายความว่า จริงๆแล้ว IKEA ทำรายได้ต่อตารางเมตร มากกว่า Index ถึง 3 เท่า
ถ้าคิดว่าสาขาที่ 2 จะทำรายได้ใกล้เคียงกับสาขาแรก ก็อาจจะหมายความว่ารายได้ของ IKEA จะเพิ่มเป็นเท่าตัวได้
เมื่อถึงเวลานั้น IKEA ก็จะมีรายได้เขยิบเข้ามา หายใจรดต้นคอผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทย
และน่าสนใจว่าถ้า IKEA เปิดสาขาที่ 3 ก็มีโอกาสแซงหน้าผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon