การล้มละลายของ Enron
เรื่องนี้คงเข้ากับสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ เราคงได้ยินชื่อเสียงของ Accounting Firm ว่าถ้าจะให้บริษัทดูน่าเชื่อถือต้องให้บริษัท Big4 มาตรวจสอบบัญชี นั่นคือ PWC, EY, KPMG, Deloitte แต่รู้ไหมว่าเมื่อ 15 ปีก่อน Accounting Firm ที่มีชื่อเสียงจะมี 5 บริษัท หรือ Big5 แล้วบริษัทที่ 5 นั้นหายไปไหน
บริษัทที่ 5 นั้นคือ Arthur Andersen ซึ่งได้ถูกถอนใบอนุญาตตรวจสอบบัญชีไปในคดี Enron เมื่อปี 2002 โดย Arthur Andersen ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ Enron ในการตกแต่งบัญชี สร้างรายได้ และกำไรปลอม และยังปกปิดหนี้สินอีกด้วย
Enron เป็นบริษัทพลังงานสัญชาติอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 ถือเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของอเมริกาในช่วงนั้น โดย รายได้เพิ่มขึ้น 750% ระหว่างปี 1996 - 2000 โดยมียอดขายถึง 3 ล้านล้านบาทในปี 2000 โดยเฉลี่ยแล้วเติบโตปีละ 65% เมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่โตเพียงแค่ 2-3% ต่อปี จึงถือได้ว่า Enron เป็นบริษัทที่ฮอตสุดๆในเวลานั้น และในปี 2001 รายได้ของ Enron มากที่สุดติดอันดับ 6 ในบริษัทใหญ่ที่สุดของโลก
ธุรกิจส่วนใหญ่ของ Enron ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์พลังงานเอง ทั้งโรงไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ แต่ Enron จะเป็นนายหน้าซื้อขายระหว่างผู้ที่จะขายพลังงานกับผู้ที่จะซื้อพลังงาน ซึ่งจริงๆแล้ว Enron ควรจะรายงานรายได้เพียงแค่ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย แต่ Enron กลับเลือกที่จะใช้มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ซื้อขายแสดงเป็นรายได้ และใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรู้รายได้ก่อน แต่จริงๆยังไม่มีเงินสดเข้ามา
สุดท้ายเมื่อเรื่องความไม่โปร่งใสเปิดเผยออกมา จึงถูกทางการตรวจสอบ และต่อมาบริษัทถูกลดเครดิตลงทำให้ไม่มีใครกล้าให้บริษัทกู้เงิน บริษัทจึงขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และขอยื่นล้มละลายในปลายปี 2001 ซึ่งช่วงต้นปีบริษัทพึ่งรายงานยอดขายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ การล้มละลายครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาตร์ของอเมริกา และมีพนักงานหลายหมื่นคนต้องตกงาน
จากราคาหุ้น Enron สูงสุดที่ $90.75 กลายเป็น $0.61 ในวันสุดท้ายของการซื้อขาย
จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านไปเรื่องทำนองนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ และทำให้คิดได้ว่า ธุรกิจไหนก็ตามหากมีผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าผลกำไรจะดีแค่ไหน แต่เมื่อเอาตัวเลขนั้นมาคูณกับ 0 ผลลัพธ์ก็คือ 0