KFC ไม่ได้เปลี่ยนเจ้าของ
เร็วๆนี้มีข่าวว่าเสี่ยเจริญซื้อ KFC ในไทย
มีคนวิเคราะห์ไปต่างๆนานาว่าจะมี est โออิชิ เบียร์ช้าง มาขายใน KFC
ในความเป็นจริงแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลย..
เพราะ บริษัทของเสี่ยเจริญเป็นแค่คนมาขอแฟรนไชส์.. ไม่ได้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์
และตอนนี้ผู้ขอแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เสี่ยเจริญคนเดียว
มีคนวิเคราะห์ไปต่างๆนานาว่าจะมี est โออิชิ เบียร์ช้าง มาขายใน KFC
ในความเป็นจริงแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลย..
เพราะ บริษัทของเสี่ยเจริญเป็นแค่คนมาขอแฟรนไชส์.. ไม่ได้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์
และตอนนี้ผู้ขอแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เสี่ยเจริญคนเดียว
แล้วใครคือเจ้าของ KFC ตัวจริง?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โมเดลธุรกิจของ KFC ไม่ต่างจากเชนร้านอาหารระดับโลกทั่วไปซึ่งใช้ระบบ แฟรนไชส์
ระบบแฟรนไชส์ คือการให้คนอื่นสามารถร่วมบริหารได้ เรียกว่า “แฟรนไชส์ซี่” โดยแลกกับการจ่ายค่า royalty fee ซึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ ค่าระบบจัดการ ให้แก่เจ้าของแฟรนไชส์ แต่ก็มีบางสาขาที่เจ้าของแฟรนไชส์ ลงมาทำเอง ทั้งนี้ก็ขึ้นกับนโยบายของบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ ว่าอยากบริหารเองสาขาไหน
ในทำนองเดียวกันปี 2016 ร้านแมคโดนัลด์ทั่วโลก มีร้านที่บริษัทบริหารเอง 5,669 ร้าน แต่มีร้านที่เป็นแฟรนไชส์มากถึง 31,230 ร้าน ที่น่าสนใจคือแมคโดนัลด์ มีร้านที่เป็นระบบแฟรนไชส์มากถึง 85% ของสาขาทั้งหมด เรียกได้ว่าแทบไม่ได้บริหารร้านเองเลย
แล้วแฟรนไชส์ KFC เป็นอย่างไร?
KFC มีบริษัทแม่อยู่ที่อเมริกา ชื่อว่า Yum! Brands Inc. ปัจจุบัน KFC มีสาขาทั่วโลก 20,500 สาขา ใน 125 ประเทศ ส่วนในประเทศไทย เจ้าของธุรกิจคือ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Yum! Brands Inc. มีสาขาแรกเปิดที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ในปี 1984 ปัจจุบันมี 600 สาขาทั่วประเทศ และ KFC ถือว่าเป็นเชนร้านอาหารประเภท Quick Service Restaurant (QSR) ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย
จริงๆแล้ว แรกสุด KFC ประเทศไทยจะมีบริษัทที่บริหารอยู่ 2 บริษัทคือ
1) ตัว บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ เอง
2) แฟรนไชส์ซี คือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) ซึ่งเป็นบริษัทเครือเซ็นทรัล
ประเด็นสำคัญคือปลายปีที่แล้วบริษัท Yum! Brands, Inc ประกาศว่าจะพยายามลดการบริหารร้านอาหารภายใต้ Yum ทั่วโลก และเปลี่ยนบทบาทให้ Yum เป็นระบบแฟรนไชส์อย่างเต็มตัว คือ จากเดิม 77% เป็น 93% และจะเป็น 98% หลังจากแยกธุรกิจ Yum China ที่เมืองจีนแล้ว
ยัม ประเทศไทย จึงเดินตามนโยบายของบริษัทแม่
ในปี 2016 บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (RD) เข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซี่อีกหนึ่งเจ้า โดยซื้อสิทธิการบริหาร KFC กว่า 120 สาขาจาก ยัม ประเทศไทย
ในปี 2016 บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (RD) เข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซี่อีกหนึ่งเจ้า โดยซื้อสิทธิการบริหาร KFC กว่า 120 สาขาจาก ยัม ประเทศไทย
และเมื่อไม่กี่วันมานี้ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ของเสี่ยเจริญก็เข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซี่อีกหนึ่งเจ้า โดยซื้อสิทธิการบริหาร KFC กว่า 240 สาขาที่เหลือ จาก บริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ มูลค่า 11,300 ล้านบาท
สรุปตอนนี้ KFC ประเทศไทยจึงมี แฟรนไชส์ซีทั้งหมด 3 เจ้า และ บริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ จะผันตัวไปเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ดูแลพัฒนาแบรนด์และแฟรนไชส์ซีอย่างเดียวเต็มตัว ไม่ได้บริหารหน้าร้าน
และบริษัท QSA ของเสี่ยเจริญจึงมีฐานะเป็นแค่ 1 ใน 3 ของแฟรนไชส์ซีที่มาขอแฟรนไชส์จาก บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ ประเทศไทย สิ่งที่ไทยเบฟจะได้คือ โนวฮาว เรียนรู้การบริหารร้านอาหารระดับโลก และการสร้างกำไรจากการทำยอดขาย และขยายสาขาเท่านั้นเฉกเช่นกับเจ้าอื่น
แต่การเลือกสินค้ามาขายในร้าน ผู้รับสิทธิ์อย่างบริษัท QSA ยังต้องทำตามนโยบายของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ ประเทศไทย
ดังนั้นเป็นไปได้ยาก ที่อยู่ดีๆ KFC จะเปลี่ยนจาก เป๊ปซี่ เป็น est เพราะ KFC ยังต้องทำตามนโยบายของ Yum! Brands Inc. ที่ขายเป๊ปซี่ทั่วโลก
จะขาย โออิชิ หรือ เบียร์ช้าง ใน KFC ยิ่งเรื่องใหญ่ เพราะจะทำให้รูปแบบการจำหน่ายสินค้าแตกต่างจากทั่วโลก ซึ่งบริษัท Yum! Brands Inc.ไม่น่าจะยอมง่ายๆ เพราะจะเสียมาตรฐาน
เท่าที่เห็นจะมีแค่ที่ประเทศจีนเท่านั้นที่แยกบริษัทออกมา จึงจะเปลี่ยนรูปแบบ KFC ไปจากเดิมได้ แต่เมืองไทยยังเป็นระบบแฟรนไชส์อยู่ และบริษัท QSA ของเสี่ยเจริญก็เป็นแค่ 1 ใน 3 ของผู้มาของแฟรนไชส์เท่านั้น โดยยังมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ ประเทศไทย เป็นเจ้าของแฟรนไชส์เต็มตัวอยู่
ทำไม Yum เลือกที่จะเป็นเจ้าของแฟรนไชส์เต็มตัว?
คุณ Greg Creed CEO ของ Yum! Brands, Inc ได้อธิบายเรื่องนี้ในการแถลงข่าว และเน้นหลายทีเกี่ยวกับคำว่า “โฟกัส”
ระบบแฟรนไชส์จะทำให้ทุกฝ่าย win win เพราะเกิดการโฟกัสในเรื่องที่ตัวเองถนัด
แฟรนไชส์ซีก็ต้องพยายามบริหารร้านให้ดี ตกแต่งร้านให้สวยงาม สะอาด สร้างความประทับใจให้ลูกค้าและต้องเปิดสาขาใหมให้ได้ตามเป้า
ส่วนตัว Yum เองก็มีเวลาไปพัฒนาแบรนด์ คิดกลยุทธ์การตลาด โปรโมชั่น ออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการขายของแฟรนไชส์ (เราอาจจะได้เห็นไก่ทอดเมนูใหม่ๆมากขึ้น เมนูหลากหลายมากขึ้น)
และคนที่น่าจะได้ประโยชน์มากสุดก็คือลูกค้าของ KFC เอง เพราะ Yum ก็จะมีเวลาไปโฟกัสพัฒนาสินค้าและการบริการลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งโปรโมชั่นการตลาดก็น่าจะเข้มข้นขึ้นด้วย
บางคนเข้าใจผิด ว่าการเดินหน้ากลยุทธ์แบบนี้ คือการที่ Yum จะเดินออกจากประเทศไทย
แต่จริงๆแล้วน่าจะกลับกัน Yum คงต้องการขยายสาขาให้เร็วขึ้นอีกจึงต้องเดินหน้าด้วยระบบแฟรนไชส์ เพราะจะใช้ทุนในการขยายสาขาน้อยกว่าเดิมมาก
เรื่องที่น่าสนใจคือพอ Yum เดินนโยบายแบบนี้ไปทั่วโลก จึงทำให้งบการเงินไตรมาส 2 ของ Yum! Brands, Inc. ที่ประกาศวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรเติบโตขึ้น 19% และบริษัทตั้งเป้าว่าจะมี capex หรืองบลงทุนที่น้อยกว่าเดิม จาก 17,000 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียงปีละ 3,300 ล้านบาท ในปี 2019
สำหรับคนที่มีร้านของตัวเอง และต้องการขยายสาขา สามารถนำเรื่องนี้ไปต่อยอดได้ บางทีเราไม่ต้องทำเองทั้งหมด แค่คิดระบบแฟรนไชส์ขึ้นมา ให้คนอื่นมาช่วย ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน
ว่าแต่พอเขียนเรื่องนี้จบก็นึกถึงข้าวยำไก่แซ่บขึ้นมา ขอตัวไป KFC ก่อน..