เบื้องหลัง อาชีพนักชิม Michelin

เบื้องหลัง อาชีพนักชิม Michelin

26 ส.ค. 2018
เบื้องหลัง อาชีพนักชิม Michelin / โดย ลงทุนแมน
ช่วงปีที่ผ่านมา การเข้ามาของ Michelin Guide ในประเทศไทย เป็นกระแสที่โด่งดังไปทั่วโลก
ในปีแรกนี้ มีร้านอาหารในกรุงเทพที่ได้ติดดาวถึง 17 ร้าน
มีหลายคนได้ออกมาพูดถึง Michelin Guide ในแง่มุมต่างๆ มากมาย ทั้งประวัติความเป็นมา นิยามของจำนวนดาว และเกณฑ์การให้คะแนน
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเบื้องหลังดาวนี้คือ
“ผู้ตรวจสอบมิชลิน” หรือ นักชิมของมิชลินไกด์ อาชีพที่ถูกจ้างมาให้กินดี พักฟรี และเที่ยวรอบโลก
พวกเขาทำงานกันอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Michelin Guide หรือ คู่มือมิชลิน มีจุดเริ่มต้นในประเทศฝรั่งเศส จากสองพี่น้องเจ้าของบริษัทยางรถยนต์ Michelin ช่วงปี 1900
ในปัจจุบัน ร้านอาหารและโรงแรมที่อยู่บน Michelin Guide มีมากกว่า 40,000 แห่ง จาก 24 ประเทศทั่วโลก
รู้หรือไม่ว่า ร้านเหล่านี้ได้ถูกจัดอันดับ จากการลงความเห็นของเหล่านักชิมของมิชลินไกด์กว่า 120 คน
ซึ่งแต่ละคนเป็นตัวแทนนักชิมจากประเทศนั้นๆ
แล้วนักชิมเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
นอกจากประสบการณ์และความรอบรู้ในวงการอาหาร
สิ่งสำคัญที่นักชิมของมิชลินไกด์ทุกคนจำเป็นต้องมี คือ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและความหลงใหลในอาหารหลากหลายประเภท ความใส่ใจในรายละเอียดของอาหารทุกจาน และรสสัมผัสที่แม่นยำ
หนึ่งในกระบวนการตัดสิน คือการให้ผู้สมัครไปทำการชิมอาหารพร้อมเขียนรายงานมื้อนั้นๆ เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถที่เพรียบพร้อมที่สุด
ซึ่งเมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว นักชิมเหล่านี้จะต้องผ่านการอบรมเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะถูกส่งไปตรวจสอบรสชาติอาหารจากร้านรอบโลก ตั้งแต่ร้านข้างทางยัน Fine Dining สุดหรู
นอกจากจะมีเงินเดือนแล้ว ค่าใช้จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ ค่าตั๋วเครื่องบินรอบโลก ค่าอาหาร ค่าที่พักสุดหรู รวมไปถึงค่าตรวจสุขภาพ ล้วนอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมิชลินทั้งหมด..
โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาจะออกตระเวนกิน 3 สัปดาห์ต่อเดือนหรือประมาณ 240 ร้านใน 1 ปี เพื่อจัดอันดับร้านบนมิชลินไกด์ใหม่ในทุกๆ ปี
ร้านส่วนหนึ่งจะมาจากการเสาะหาด้วยตนเองภายในประเทศบ้านเกิด และอีกส่วนจะมาจากรายชื่อของร้านในต่างประเทศที่ถูกมิชลินกำหนดไว้ให้
ขั้นตอนการตรวจสอบนั้นเริ่มตั้งแต่ การหาข้อมูลร้านเบื้องต้นก่อนไปถึง จนไปถึง การจดบันทึกประสบการณ์และให้คะแนนเมื่อจบมื้อนั้นๆ อย่างละเอียด
ในส่วนของคะแนน ร้านอาหารจะถูกประเมินจากเมนูที่สะท้อนความเป็นตัวตนของร้านเป็นหลัก
โดยสิ่งสำคัญที่สุดในบรรดาเกณฑ์การให้คะแนน คือ ความสม่ำเสมอของรสชาติ และคุณภาพอาหาร
เพราะเหตุนี้ นักชิมเหล่านี้จึงต้องเข้าไปตรวจสอบร้านเดิมซ้ำๆ ตั้งแต่ 2-10 ครั้งในหนึ่งปี ด้วยกฎเหล็กที่ต้องรักษา 1 ข้อ
กฎเหล็กที่ว่านั้นคืออะไร?
สิ่งนั้นคือ การห้ามเปิดเผยตัวตน แม้แต่กับคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันความไม่โปร่งใสและการติดสินบน
ในบางครั้ง จึงต้องมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอก หรือการใช้นามแฝงเพื่อจองโต๊ะ เสมือนเป็นลูกค้าธรรมดาคนหนึ่ง เพื่อให้ได้รสชาติอาหารและบริการที่เท่าเทียมกับลูกค้าคนอื่นๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ อาชีพนี้คงเป็นที่น่าอิจฉา ทั้งแสนสบายและน่าตื่นเต้น
แต่ทุกสิ่งย่อมมี 2 ด้านเสมอ..
หลายคนอาจไม่เคยลองนึกว่า
ถ้าการไปเยือน 6 โรงแรม 3 ร้านอาหาร พร้อมจดทุกรายละเอียดระหว่างการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง คือ สิ่งที่ต้องทำภายใน 1 วัน
และถ้าการชิมอาหารเลิศรสท่ามกลางบรรยากาศสุดหรูจากร้านที่มีชื่อเสียงรอบโลก หมายถึง ต้องเดินทางคนเดียว ต้องกินข้าวคนเดียวอยู่เสมอ
บางทีการกินข้าวกับเพื่อนฝูง หรือ กับครอบครัวที่บ้านแบบพร้อมหน้าพร้อมตาอาจจะดีกว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ก็เป็นได้..
เวลาชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ตรวจสอบมิชลินนั้นหมดไปกับการเดินทางและเก็บข้อมูล เพื่อนำสิ่งดีๆ มาบอกต่อให้ผู้คนมากมาย
ร้านอาหารติดดาวทั่วโลกต่างได้รับคำชื่นชมจากผู้คนทั่วโลก แต่กลับไม่มีใครรู้จักผู้ตรวจสอบที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้เลย
ทุกอาชีพบนโลกล้วนมีทั้งขาวและดำ
บางสิ่งที่ว่าง่าย ใครๆ ก็ทำได้ เช่นการกิน อาจมีอะไรซ่อนอยู่เมื่อเราไปยืนอยู่จุดนั้น
ในครั้งหน้าถ้าเราเข้าร้านอาหาร แล้วเราเห็นคนนั่งกินอยู่คนเดียว และเขียนรายงานอย่างจริงจังระหว่างกินข้าว
จริงๆ แล้ว เขาคนนั้นอาจจะเป็นนักตรวจสอบจากมิชลินก็เป็นได้..
----------------------
หากชอบเรื่องนักชิม Michelin ติดตามเรื่องของกินอื่นๆ ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน โหลดฟรีทั้ง iOS และ android blockdit.com/app
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.