ทำไม พร้อมเพย์ ถึง fail

ทำไม พร้อมเพย์ ถึง fail

3 พ.ค. 2017
ถ้าอยู่ดีๆมีคนแปลกหน้ามาถามเราว่า "เบอร์โทรศัพท์มือถือของคุณเบอร์อะไร" แน่นอนว่าเราคงต้องปฏิเสธที่จะบอกเบอร์ของเราให้กับใครก็ไม่รู้ แล้วถ้าเป็นเลขบัตรประชาชนหล่ะ? ..ยิ่งไม่บอก การที่คนรับเงินจะต้องบอกข้อมูลส่วนตัวให้คนโอนเงิน คือเหตุผลที่เป็น common sense ว่าทำไม พร้อมเพย์ ถึง fail
ในช่วงต้นปีทุกธนาคารพยายามโฆษณาระบบพร้อมเพย์ ดึงคนมาใช้งานพร้อมเพย์ โดยให้ผูกหมายเลขโทรศัพท์หรือบัตรประชาชน กับบัญชีธนาคาร
แต่ถ้าให้ถามคนทั่วไป เหตุผลอันดับ 1 ที่คนจะไม่ใช้พร้อมเพย์ คือ "ความรู้สึกไม่ปลอดภัย"
ดังนั้นการใช้งาน พร้อมเพย์ จึงถูกจำกัดอยู่ที่ร้านค้าที่มีเบอร์โทรศัพท์แยกออกจากเบอร์ส่วนตัว หรือ เฉพาะเพื่อนที่รู้จักไว้ใจได้ หรือ โอนให้ตัวเองระหว่างธนาคาร
สิ่งที่รัฐบาลวาดฝันว่าเมืองไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสด ทุกคนรับจ่ายโอนเงินระหว่างกันด้วยระบบนี้ ก็คงต้องฝันหวานกันต่อไป
ยังไม่พอ.. ขั้นต่อไปที่รัฐบาลวาดฝันหลังจาก พร้อมเพย์ คือ "พร้อมการ์ด"
ตอนนี้รัฐบาลจะออกบัตรชนิดใหม่ชื่อ พร้อมการ์ด ซึ่งคือ บัตรเดบิต ในการรูดซื้อสินค้าตามร้านค้า
โดยร้านค้ามีหน้าที่จ่ายค่าธรรมเนียม 0.55% หมายความว่าถ้าเรารูด 100 บาท ร้านค้าจะได้รับเงิน 99.45 บาท
โดยรัฐบาลจะออกแคมเปญส่งเสริมการรูดบัตรเดบิต แจกรางวัลให้คนรูด รางวัลใหญ่ 1 ล้านบาท ทุกเดือน หวังว่าคนจะหันมาลุ้นรางวัลนี้เหมือนล็อตเตอรี่
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยตอนนี้มีบัตรเดบิตอยู่แล้ว 50 ล้านใบ แต่มีเพียงแค่ 1.41% ที่เอาบัตรเดบิตไปรูดซื้อสินค้า ที่เหลือเกือบทั้งหมด คนไทยเอาบัตรเดบิตไปเสียบในตู้ ATM เพื่อกดเงินสดออกมาจ่ายให้ร้านค้า
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนยังไม่มีบัตรเดบิต แต่ปัญหาคือทำไมร้านค้ายังอยากรับเงินสด? และ ทำไมคนยอมกดเงินสดจากตู้ ATM?
ต้นตอของปัญหาทั้งหมดก็คือ ตอนนี้ค่าธรรมเนียมในการกดตู้ ATM แต่ละครั้งฟรี แต่ค่าธรรมเนียมที่ร้านค้าต้องเสียให้เครื่องรูดไม่ฟรี
พอเรื่องเป็นอย่างนี้ ต่อให้ค่าธรรมเนียม 0.55% หรือ 0.1% ร้านค้าหลายร้านก็ยังไม่อยากรับบัตรเดบิตอยู่ดี เพราะร้านค้าจะบอกให้คนซื้อเดินไปกดเงินสดที่ตู้ ATM ข้างๆมาจ่ายดีกว่า
คนซื้อก็ไม่ได้ทักท้วง หรือเปลี่ยนใจไม่ซื้อ เพราะเดินไปตู้ ATM ไม่กี่ก้าวก็กดเงินสดออกมาจ่ายให้ร้านค้าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม (ถ้าเป็นตู้ต่างธนาคารก็เสียน้อยมาก และค่าธรรมเนียมรายปีก็เป็นค่าธรรมเนียมที่เสียไปแล้ว จะกดกี่ครั้งก็ไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม)
วิธีแก้ง่ายมาก แต่ไม่รู้ธนาคารต่างๆจะยอมทำหรือเปล่า คือ การให้ตู้ ATM มีค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ถ้าการกดเงินสดที่ตู้ ATM ในแต่ละครั้งมีค่าธรรมเนียมสูง คนซื้อก็จะกดดันให้ร้านค้ารับบัตรเดบิตกันมากขึ้นเอง
ทุกวันนี้ต้นทุนในการจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยขนเงินสดมายัดใส่ตู้ ATM น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ธนาคารต่างๆกลับทำให้ค่าธรรมเนียมผิดเพี้ยนไปจากความจริง
ประเทศไทย จึงเป็นสังคมล้นเงินสด แทนที่จะเป็นสังคมไร้เงินสด อยู่ทุกวันนี้..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.