Grab ซื้อกิจการ UBER ในอาเซียน

Grab ซื้อกิจการ UBER ในอาเซียน

26 มี.ค. 2018
Grab ซื้อกิจการ UBER ในอาเซียน / โดย ลงทุนแมน
เช้านี้มีข่าวน่าตกใจ
Grab ซื้อกิจการ UBER ในอาเซียน
ทำไม UBER ถึงยอมขายกิจการ
ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับ UBER
ลงุทนแมนจะเล่าให้ฟัง
UBER เป็นบริษัท Startup เจ้าแรกของโลกที่ได้เริ่มคิดค้นแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแท็กซี่ขึ้นมา
แรกเริ่มเหมือนกับว่าจะไปได้ด้วยดี
แต่เพียงในเวลาไม่กี่ปี UBER ก็ต้องประสบปัญหาใหญ่
นั่นคือการเกิดขึ้นของธุรกิจแนวเดียวกัน แต่เป็นของคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นเองอย่าง เช่น
Grab ที่ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Didi Chuxing ดูแลในประเทศจีน
Go-Jek ดูแลในอินโดนีเซีย
ธุรกิจแท็กซี่อาจจะไม่เหมือนธุรกิจเทคโนโลยีประเภทอื่นที่ขยายไปภูมิภาคทั่วโลกได้ง่ายโดยใช้เครื่องมือในโลกออนไลน์
แต่ธุรกิจนี้ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องในโลกออฟไลน์ที่เป็นชีวิตจริงด้วย
ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถ ผู้โดยสาร กฎระเบียบของประเทศต่างๆ
เรื่องทั้งหมดนี้ UBER จึงอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในภูมิภาคนั้นๆที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่นมากกว่า
แล้ว UBER แก้ปัญหานี้อย่างไร
UBER ใช้วิธีการขายกิจการให้คู่แข่ง เพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทคู่แข่ง
วิธีนี้ตอนแรกดูเหมือน UBER จะขายหุ้น แต่จริงๆแล้วเป็นการควบรวมกิจการเพื่อลดการแข่งขันลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ในปี 2016 UBER ทำการขายธุรกิจแทกซี่ในจีนให้กับ Didi Chuxing โดย UBERchina จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัท 20% ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด
Travis Kalanick ซีอีโอคนเก่าของ UBER ระบุว่าทั้ง Didi Chuxing และ UBER เองลงทุนไปมหาศาลในประเทศจีนก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องมีกำไร
จึงเกิดเป็นดีลนี้ขึ้น
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้ง 2 เจ้า
แต่ UBER เองทำธุรกิจในหลายประเทศจึงทำให้เกิดผลขาดทุนรวมกันแล้วมหาศาล
แค่ขายธุรกิจในจีนไปยังไม่สามารถทำให้ UBER ดีขึ้นได้
ในปี 2017 UBER ขาดทุนไปมากถึง 1.4 แสนล้านบาท
ด้วยการที่ขาดทุนมหาศาลเช่นนี้ การจะนำ UBER เข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนจึงเป็นเรื่องยาก
บริษัทจึงทำกลยุทธ์เดิมเหมือนกับเมื่อปี 2016 กับ Grab
เช้าวันนี้ UBER ประกาศที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใน Grab 27.5 % โดย CEO คนใหม่ของ UBER คือ Dara Khosrowshahi ก็จะเข้าเป็นหนึ่งในกรรมการของบริษัท Grab เช่นกัน
โดย Grab จะได้ธุรกิจของ UBER ทั้งสองอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด คือ บริการแชร์รถและบริการส่งอาหาร UBER Eats
ภายหลังดีลนี้จะทำให้ Grab ลดคู่แข่งคนสำคัญไปได้ 1 ราย ส่วน UBER เองก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงไปได้รวมถึงการได้รับส่วนแบ่งกำไรที่มากกว่าเดิม
แล้ว UBER จะทำแบบนี้อีกหรือไม่
Dara Khosrowshahi ชี้แจงว่าไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจที่ รัสเซีย จีน หรือในครั้งนี้เองไม่ใช่กลยุทธ์หลักของบริษัท แต่ทำไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะได้กลับไปโฟกัสหลังของตลาดตัวเองอีกครั้ง
UBER พึ่งก่อตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
แต่ปัจจุบันมี การดำเนินการอยู่ที่เมืองใหญ่ๆทั่วโลกทั้งหมด 633 เมือง
ปี 2016 รายได้ 2 แสนล้านบาท ขาดทุน 0.9 แสนล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 2.3 แสนล้านบาท ขาดทุน 1.4 แสนล้านบาท
พูดง่ายๆคือรายได้ของ UBER 100 บาท แต่ต้นทุน UBER คือ 160 บาท UBER กำลังขายของขาดทุน
ถึงแม้ว่ารายได้ของ UBER จะโตเร็วมากแต่ก็ยังห่างไกลกับคำว่า “กำไร”
เรื่องนี้อาจจะเป็นบทเรียนให้เราได้คิดว่า
บางทีการรีบขยายกิจการเร็วไปอาจจะไม่ใช่เรื่องดี
ถ้าก่อนหน้านี้ UBER โฟกัสแค่ในตลาดหลักของตัวเองและค่อยๆนำกำไรที่ได้ไปขยายกิจการอาจจะไม่ทำให้ขาดทุนมหาศาลขนาดนี้
เปรียบกับธุรกิจ
ในบางครั้งการขยายกิจการที่เร็ว ถ้าประสบความสำเร็จก็ดีไป
แต่ในบางครั้งที่ไม่สำเร็จอาจจะทำให้เราล้มละลายหรือตัดธุรกิจบางส่วนของเราไปเหมือนอย่าง UBER
เรื่องที่น่าคิดต่อไปว่า
หลังจาก Grab และ UBER รวมกันแล้ว
ธุรกิจทั้ง 2 เจ้าที่กำลังแข่งกันอยู่ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร..
ราคาจะปรับขึ้นไหม
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจคือ เจ้าของ Grab คือใคร?
Grab เปิดตัวเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยนักศึกษาชาวมาเลเซีย 2 คน..
----------------------
<ad> หนังสือลงทุนแมน 2.0 วางแผงแล้วหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
โหลดแอพลงทุนแมนอ่านฟรีได้ที่ https://www.longtunman.com/app
ลงทุนแมนมี instagram twitter youtube line@ แล้ว ติดตามได้โดยค้นหา ไอดีชื่อ longtunman ในแพลตฟอร์มนั้น
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.