กรณีศึกษา CEO บริษัทระดับโลก ค่าจ้างส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากเงินเดือน

กรณีศึกษา CEO บริษัทระดับโลก ค่าจ้างส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากเงินเดือน

7 มี.ค. 2024
กรณีศึกษา CEO บริษัทระดับโลก ค่าจ้างส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากเงินเดือน /โดย ลงทุนแมน
ส่วนใหญ่แล้ว CEO หรือผู้บริหารระดับสูงในบ้านเรา ค่าตอบแทนหลัก ๆ ก็มาจาก “เงินเดือน” ที่ได้รับจากบริษัท
แต่รู้หรือไม่ว่า CEO ของบริษัทระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทเทค มักจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น Stock Option
ซึ่งมักมีมูลค่ามหาศาล จนทำให้พวกเขาพลิกชีวิตกลายเป็นเศรษฐีได้เลย แม้จะไม่ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเอง
อย่างเช่น คุณ Sundar Pichai ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Alphabet (Google) ได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 7,800 ล้านบาท ในปี 2022
แต่ในจำนวนนี้ เป็นเงินเดือนเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น
โดยเป็น Stock Option 96%
และค่าตอบแทนอื่น ๆ อีก 3%
หรือจะเป็นคุณ Tim Cook หัวเรือใหญ่ของ Apple
ที่ในปีเดียวกัน ได้รับค่าตอบแทนกว่า 3,400 ล้านบาท
แต่มาจากเงินเดือนเพียง 3%
ส่วนอีกกว่า 84% คือ Stock Option และค่าตอบแทนอื่น ๆ อีก 13%

จะเห็นว่า ค่าตอบแทนส่วนใหญ่ของพวกเขา มาจาก Stock Option ไม่ใช่เงินเดือน
แล้ว Stock Option คืออะไร
ทำไม CEO ระดับโลก ถึงยอมรับ Stock Option มากกว่าเงินเดือน
แล้วบริษัทที่จ่ายค่าตอบแทน ได้ประโยชน์อะไรจากวิธีนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปกติแล้ว พนักงานส่วนใหญ่อย่างเรา ๆ มักอยากได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เพราะได้รับแน่นอนในทุก ๆ เดือน
ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ก็จะมีนโยบาย ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
แต่ไม่ใช่กับ CEO ของบริษัทระดับโลก เช่น
- คุณ Elon Musk จาก Tesla
- คุณ Sundar Pichai จาก Alphabet
- คุณ Tim Cook จาก Apple
- คุณ Satya Nadella จาก Microsoft
ที่บริษัทสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริหาร ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมเป็น Stock Option
Stock Option ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การให้สิทธิ์ซื้อหุ้นกับพนักงานหรือผู้บริหาร ในราคาที่ตกลงกันไว้ หากสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมาย ซึ่งราคาใช้สิทธิ์ซื้อหุ้น มักจะต่ำกว่าราคาในตลาด
แต่เงื่อนไขในการให้สิทธิ์ ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
เพราะบริษัทจะเริ่มให้สิทธิ์ซื้อหุ้น หลังจากทำงานไปแล้วประมาณ 3 ปี นับจากวันที่เข้าทำงานวันแรก
และในปีที่ 4 พนักงานถึงจะสามารถนำหุ้นที่ได้จากบริษัทตัวเองไปขายได้ แต่ต้องทำภายในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้น
ยกตัวอย่างเช่น นาย A เป็น CEO ของบริษัท KK ที่ได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้นของบริษัท ที่ราคา 10 บาท จำนวน 1,000 หุ้น เพราะทำผลงานได้ตามเป้าหมาย
ถ้านาย A อยากขายหุ้น ก็ต้องรอให้เข้าปีที่ 4 ของการทำงาน ถึงจะขายหุ้นได้ แต่ถ้ายังไม่อยากขาย และต้องการเก็บไว้ก่อน เพื่อรอราคาหุ้นขึ้น ก็สามารถรอได้ไม่เกินปีที่ 10 นับจากวันที่ได้สิทธิ์
แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขการได้รับและใช้สิทธิ์ Stock Option จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทและบุคคล
ถึงตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าการทำแบบนี้ จะทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากพนักงาน ในหลายเรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเลย คือ
“จูงใจให้ผู้บริหารและพนักงาน สร้างการเติบโตให้กับบริษัท”
การให้สิทธิ์ซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด ทำให้ CEO ของหลายบริษัท มีแรงจูงใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้นได้
เพราะหากทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น และธุรกิจเติบโต ก็มีแนวโน้มที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นตาม จากความคาดหวังของนักลงทุน ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อบริษัท
และ CEO เองก็ได้รับผลตอบแทน จากส่วนต่างราคาขายหุ้นที่มากขึ้น เป็นรางวัลในการทำงานหนักและพาบริษัทบรรลุเป้าหมาย
ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กรณีของ คุณ Elon Musk CEO แห่ง Tesla ที่ยอมไม่รับเงินเดือนของตัวเอง แต่ไปสร้างเงื่อนไขขอรับค่าจ้าง เป็น Stock Option แทน
โดยเงื่อนไขนั้นค่อนข้างสุดขั้ว เพราะตั้งเป้าว่า Tesla ต้องมีมูลค่าบริษัทแตะ 23 ล้านล้านบาทให้ได้ ภายใน 10 ปี
ถ้าทำได้ ทางบริษัทจะตกรางวัลให้กับคุณ Elon Musk เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท สำหรับการทำงานตลอด 10 ปี โดยไม่รับเงินเดือน
และตอนนี้บริษัท Tesla มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 22.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 927% ในระยะเวลาเพียง 5 ปี
ซึ่งเรื่องนี้ ก็มาจากเงื่อนไขใน Stock Option ที่ผลักดันให้คุณ Elon Musk ต้องพา Tesla ไปสู่เป้าหมายให้ได้ จนส่งผลให้บริษัทเติบโตได้หลายเท่า
เรื่องต่อมาคือ
“บริษัท สามารถรั้งพนักงานให้ทำงานได้นานขึ้น”
อย่างที่บอกไปว่า บริษัทจะให้สิทธิ์ซื้อหุ้นเมื่อทำงานไปอย่างน้อย 3 ปี และสามารถขายหุ้นได้ เมื่อทำงานไปอย่างน้อย 4 ปี นับจากวันแรกของการทำงาน
เท่ากับว่า พนักงานคนนั้นจะอยู่กับบริษัทได้อย่างน้อย 3 ปี แถมยังเพิ่มแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ต่อ เพื่อทำให้ผลประกอบการและราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นต่อเนื่อง
หรือก็คือ การให้ Stock Option ที่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ต้องการให้ผู้บริหารและพนักงาน อยู่กับบริษัทนานขึ้น หรือตัดสินใจย้ายงาน ยากขึ้น นั่นเอง
และเรื่องสุดท้ายคือ
“บริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายพนักงานได้”
เรารู้กันดีว่าเงินเดือนของ CEO กับพนักงานเก่ง ๆ จะสูง
ซึ่งบางบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการเก็บเงินสดเอาไว้ เพื่อลงทุนขยายธุรกิจก่อน เช่น สตาร์ตอัป
ก็อาจเลือกดึงดูดและจ่ายค่าตอบแทนพนักงานเป็น Stock Option แทนเงินเดือนสูง ๆ
ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ และเก็บเงินสดเอาไว้ได้ เพราะ Stock Option นั้น ทางบริษัทไม่ได้จ่ายออกไปเป็นเงินสด และระยะเวลาใช้สิทธิ์ก็อีกหลายปีให้หลัง
แถมบริษัทก็อาจได้เงินสดเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เมื่อพนักงานใช้สิทธิ์
นอกจากในมุมบริษัท ที่ได้ประโยชน์จากพนักงานมากมาย ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนเป็น Stock Option แล้ว ในมุมของ CEO หรือพนักงานเอง ก็ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น การได้รับค่าตอบแทนอย่างมหาศาลในอนาคต ซึ่งมากกว่าการได้รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียวในแต่ละปี
และนอกจากนี้ CEO ที่เลือกรับค่าตอบแทนเพิ่มเติม เป็น Stock Option สามารถจ่ายภาษีได้น้อยลงอีกด้วย..
รู้ไหมว่า อัตราภาษีบุคคลธรรมดาของสหรัฐฯ เพดานสูงสุดคือ 37% สำหรับคนที่มีเงินได้ทั้งปี มากกว่า 21 ล้านบาท
ซึ่งรายได้ทั้งปีของ CEO บริษัทระดับโลก ส่วนใหญ่เข้าเกณฑ์ภาษีสูงสุดของสหรัฐฯ อยู่แล้ว และนี่ยังไม่รวมภาษีที่ต้องเสียเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลในระดับมลรัฐ
อย่างไรก็ตาม เมื่อ CEO ทำการขายหุ้นที่ได้จาก Stock Option จะเสียภาษีเฉพาะส่วนต่างราคา หรือ Capital Gain ในอัตราราว 20% เท่านั้น
เท่ากับว่า Stock Option กลายเป็นช่องทางให้ CEO ระดับโลก จ่ายภาษีได้น้อยลง และเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวในตอนขายหุ้นแต่ละครั้งอีกด้วย
หรือก็คือ สามารถเลื่อนจ่ายภาษีออกไปได้
โดยถ้ายังไม่ขาย ก็ไม่ต้องเสียภาษี นั่นเอง
ในขณะที่ หากเป็นเงินเดือน ต้องเสียภาษีทันทีในปีนั้น ๆ และเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจแล้วว่า ทำไมบางบริษัท ถึงเลือกจ่ายค่าตอบแทนพนักงานเป็น Stock Option
และทำไม CEO บริษัทระดับโลก ถึงเลือกรับสิ่งนี้ มากกว่าเงินเดือน แม้ต้องรออีกหลายปี
เพราะสำหรับ CEO ระดับโลกแล้ว การอดทนรอคอย เพื่อให้ได้เงินอย่างมหาศาล ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า Stock Option จะมีแต่ผลดีเสมอไป ซึ่งทุกสิ่งบนโลกนี้ย่อมเป็นเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ
ซึ่งนักลงทุนระดับโลกอย่าง “คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์” ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วย กับการที่บริษัทจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารเป็น Stock Option
เพราะเขามองว่า การให้สิทธิ์ผู้บริหาร ได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่า ราคาตลาดหรือความเป็นจริง ถือเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์กับผู้ถือหุ้น นั่นเอง..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.investopedia.com/terms/r/restricted-stock-unit.asp
-https://abc.xyz/investor/annual-meeting/
-https://companiesmarketcap.com/
-https://www.investopedia.com/ask/answers/060515/what-difference-between-state-income-tax-and-federal-income-tax.asp
-https://www.investopedia.com/terms/c/capital_gains_tax.asp
-https://www.cnbc.com/2023/04/22/alphabet-ceo-sundar-pichais-compensation-topped-200-million-in-2022
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.