ทำไม IKEA สำเร็จแทบทุกประเทศ แต่เจ๊งในญี่ปุ่น

ทำไม IKEA สำเร็จแทบทุกประเทศ แต่เจ๊งในญี่ปุ่น

7 ก.ค. 2023
ทำไม IKEA สำเร็จแทบทุกประเทศ แต่เจ๊งในญี่ปุ่น /โดย ลงทุนแมน
IKEA บริษัทสัญชาติสวีเดน นับเป็นเชนร้านเฟอร์นิเจอร์ใหญ่สุดในโลก โดยมีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาปีละ 882 ล้านคน มีรายได้ต่อปี สูงถึง 1 ล้านล้านบาท เป็นประจำทุกปี
แต่รู้หรือไม่ว่า เบอร์หนึ่งของโลก อย่าง IKEA ก็เคยล้มเหลวมาก่อน ที่ประเทศญี่ปุ่น
แล้วทำไม IKEA ถึงไม่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
หากพูดถึง IKEA บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณ Ingvar Kamprad เมื่อราว 80 ปีก่อน มีทุนตั้งต้นจากเงินรางวัลก้อนเล็ก ๆ ที่คุณพ่อมอบให้เพราะเรียนดี
IKEA เติบโต จนเป็นที่รู้จักในสวีเดน ก่อนที่จะเริ่มขยายไปเปิดสาขาในต่างประเทศแห่งแรก ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
หลังจากนั้น IKEA จึงเดินหน้าขยายสาขาทั้งในยุโรป เอเชีย และอีกหลาย ๆ ประเทศในเวลาต่อมา
ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ IKEA ได้เข้าไปเปิดสาขานั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก
เหลือแต่เพียงประเทศเดียวที่ไม่สำเร็จ ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น..
ในปี 1974 IKEA ได้เข้าไปเปิดสาขาที่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งบริษัทก็คิดมาก่อนแล้วว่าตลาดแห่งนี้ ไม่เหมือนใคร
จึงได้มีการปรับขนาดสาขาให้เล็กลง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่นให้แก่ลูกค้าชาวญี่ปุ่น
แต่ก็ดูเหมือนว่าแค่ปรับขนาดสาขาจะไม่เพียงพอ เพราะขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่ขายนั้น ยังคงเป็นสูตรสำเร็จ ที่ขายได้ในทุกประเทศ
ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าขนาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปของคนญี่ปุ่น ที่มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ และจำกัดอยู่มาก
รวมถึงโมเดลธุรกิจ DIY ที่มักจะให้ลูกค้านำสินค้าไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งจุดนี้ ต่างจากวัฒนธรรมการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของคนญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง
ด้วยความที่คนญี่ปุ่น มักจะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถยนต์คันเล็ก ๆ เป็นหลัก
การขนสินค้าจาก IKEA กลับบ้าน จึงถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
และการจะไปจ้างรถขนของมาส่งสินค้าไปยังที่พักในญี่ปุ่นยุคนั้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งไม่คุ้มค่า
ในขณะเดียวกัน ในประเทศญี่ปุ่นก็เรียกได้ว่ามีเจ้าตลาดร้านเฟอร์นิเจอร์ ชื่อว่า Nitori ซึ่งเข้าอกเข้าใจผู้บริโภคในบ้านเกิดมากกว่า ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ IKEA เข้ามาตีตลาด
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ IKEA จึงไม่ตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก จนในที่สุดก็ต้องถอนตัวออกจากประเทศญี่ปุ่นไป..
เรื่องนี้ ก็เลยกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ IKEA ได้เรียนรู้ว่า ความสำเร็จในที่หนึ่ง อาจไม่สามารถนำมาใช้กับอีกที่หนึ่งได้เสมอไป และต้องกลับไปศึกษา รวมถึงปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็น
- การเพิ่มบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน
- การให้บริการประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่บ้าน
- การปรับขนาดของเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะกับขนาดบ้านของคนญี่ปุ่น
หลังจากถอนตัวออกมา 20 ปี IKEA ก็ได้ตัดสินใจเข้าไปรุกตลาดญี่ปุ่นใหม่อีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน ที่มีอยู่ราว 12 สาขา ซึ่งเราก็ต้องมาดูกันว่า IKEA จะเข้าไปแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง Nitori ได้ดีขนาดไหน และจะกลับมาประสบความสำเร็จได้หรือไม่..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/IKEA
-https://www.smejapan.com/business-news/story-ikea-japan/
-https://www.smethailandclub.com/marketing/8945.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.