กรณีศึกษา Dropbox ยูนิคอร์นเหงื่อตก

กรณีศึกษา Dropbox ยูนิคอร์นเหงื่อตก

30 มี.ค. 2019
กรณีศึกษา Dropbox ยูนิคอร์นเหงื่อตก / โดย ลงทุนแมน
อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต และเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก คือ ธุรกิจ Cloud
ปัจจุบัน มีหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจการให้บริการระบบ Cloud
ซึ่ง “Dropbox” คงจะเป็นหนึ่งในชื่อลำดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง
ครั้งหนึ่ง Dropbox เคยเป็นบริษัท Startup ที่มีมูลค่าสูงในระดับยูนิคอร์น ซึ่งต่อมาได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดูเหมือนเรื่องราวของบริษัทนี้จะดูสวยหรูที่ประสบความสำเร็จในเทคโนโลยี Cloud
แต่จนถึงวันนี้
บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้เลย..
และกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Dropbox ประกอบธุรกิจให้บริการฝากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรารู้จักกันในระบบ Cloud
บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัย MIT สองคน คือ ดรูว์ ฮูสตัน และ อาราช เฟอร์โดว์ซี
ไอเดียธุรกิจนี้ เกิดขึ้นระหว่างที่ ฮูสตัน นั่งคิดงานอยู่บนรถไฟ แต่เขาดันลืมเอา USB Flash Drive ติดตัวมาด้วย ซึ่งมันเป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง
เรื่องนี้ทำให้เขามีแนวคิดที่จะสร้างธุรกิจ ให้บริการจัดเก็บและเรียกใช้ข้อมูลบนระบบออนไลน์ จากที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้ เพื่อความสะดวกสบายของชีวิต
ต่อมา เขาจึงได้เขียนโค้ดสร้างโปรแกรม Dropbox ขึ้นมา โดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
Dropbox ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Freemium คือเปิดให้ลูกค้าใช้บริการฟรี โดยให้พื้นที่ความจุ 2 GB และถ้าแนะนำให้ผู้อื่นเปิดบัญชี จะได้ความจุเพิ่ม สะสมสูงสุดถึง 18 GB
แต่หากสมัครสมาชิก Premium
แบบ Dropbox Plus ในราคา 260 บาทต่อเดือน จะได้พื้นที่ความจุ 1,024 GB
แบบ Dropbox Professional ในราคา 525 บาทต่อเดือน จะได้พื้นที่ความจุ 2,048 GB และมีบริการพิเศษเพิ่มเติม เช่น การรักษาความปลอดภัย การกำหนดสิทธิ์เข้าถึง การกู้ไฟล์ หรือการค้นหาคีย์เวิร์ด
นอกจากนี้ บริษัทได้เล็งเห็นว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีการจัดเก็บ เป็นไฟล์งาน จึงเปิดให้บริการ Dropbox for Business ที่เหมาะกับการทำงาน เช่น การเชื่อมกับโปรแกรม Office
เนื่องจากการให้บริการฟรี และการแนะนำเพื่อน จะได้ความจุเพิ่ม ทำให้จำนวนผู้ใช้งานของ Dropbox เติบโตอย่างรวดเร็ว ใน 180 ประเทศทั่วโลก
ปี 2012 มีผู้ใช้งาน 175 ล้านบัญชี
ปี 2013 มีผู้ใช้งาน 200 ล้านบัญชี
ปี 2014 มีผู้ใช้งาน 300 ล้านบัญชี
ปี 2015 มีผู้ใช้งาน 400 ล้านบัญชี
ปี 2016 มีผู้ใช้งาน 500 ล้านบัญชี
แล้ว Dropbox มีรายได้เท่าไร?
หุ้นของ Dropbox ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 2.8 แสนล้านบาท โดยบริษัทมีผลประกอบการดังนี้
ปี 2016 รายได้ 26,700 ล้านบาท ขาดทุน 6,700 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 35,000 ล้านบาท ขาดทุน 3,500 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 44,000 ล้านบาท ขาดทุน 15,300 ล้านบาท
ดูเหมือนว่าในระหว่างที่รายได้เติบโต Dropbox จะยังทำกำไรไม่ได้
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ บริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้น 17,900 ล้านบาท ดังนั้น หากการดำเนินงานยังคงขาดทุนต่อเนื่อง อาจทำให้ธุรกิจต้องเพิ่มทุนในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้ Dropbox ยังไม่มีกำไร คือ การที่ไม่สามารถจูงใจให้สมาชิกที่ใช้งานแบบฟรี เปลี่ยนมาเป็นบัญชี Premium ได้
จากฐานลูกค้า 500 ล้านบัญชี มีเพียงแค่ 12.7 ล้านบัญชี หรือราว 2.5% ที่เป็นสมาชิกบัญชี Premium
สำหรับผู้ใช้งานรายบุคคลนั้น พื้นที่ความจุ 2-18 GB ก็อาจจะเพียงพอสำหรับการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว หรือไฟล์งานแล้ว ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ อาจยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะจ่ายเงิน เพื่อเพิ่มความจุ
ดังนั้น Dropbox จึงได้ตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงและคิดค้นบริการ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนมาสมัครสมาชิก Premium
วิธีการคือทุ่มงบวิจัยพัฒนาในปี 2018 ไปถึง 24,300 ล้านบาท หรือ 55% ของรายได้ ส่งผลให้บริษัทขาดทุนหนัก และต้องรอดูผลลัพธ์ของการพัฒนานี้ในปีถัดๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หนักหนากว่า สำหรับ Dropbox คือ การแข่งขันในตลาด Cloud ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เล่นรายใหญ่ต่างเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Cloud ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นบริการ iCloud ของ Apple, Amazon Drive, Google Drive และ OneDrive ของ Microsoft
ซึ่งผู้เล่นแต่ละราย ล้วนมีจุดแข็งในแต่ละด้าน
ทั้งชื่อเสียงที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแบรนด์
ฐานลูกค้าจากบริการอื่นที่มากกว่าพันล้านราย ทำให้สามารถเชื่อมโยงบริการ Cloud ได้ง่าย
และสุดท้ายคือฐานเงินทุนที่สูงกว่าอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ Dropbox จึงอาจเสียเปรียบในการแข่งขัน ทั้งด้านบริการและราคา
เปรียบเทียบบัญชีแบบฟรี
Dropbox ให้ความจุ 2 GB
OneDrive ให้ความจุ 5 GB
Google Drive ให้ความจุ 15 GB
เปรียบเทียบบัญชีแบบ Premium
Dropbox ให้ความจุ 1,024 GB ในราคา 260 บาทต่อเดือน (0.25 บาทต่อ 1 GB)
OneDrive ให้ความจุ 1,000 GB ในราคา 220 บาทต่อเดือน (0.22 บาทต่อ 1 GB)
Google Drive ให้ความจุ 2,000 GB ในราคา 350 บาทต่อเดือน (0.18 บาทต่อ 1 GB)
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า
ในโลกของ Startup บริษัท Dropbox อาจถือเป็นเทพยูนิคอร์นที่ยิ่งใหญ่
แต่เมื่อก้าวเข้ามาเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ในวงการเทคโนโลยีของโลก
แม้แต่ยูนิคอร์น ก็กลายร่างเป็นม้าตัวเล็ก และต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ได้ยากลำบาก
คำถามที่ว่า บริษัทจะอยู่รอดได้หรือไม่ คงต้องรอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ในอนาคต
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า สตีฟ จอบส์ เคยยื่นข้อเสนอ ขอซื้อกิจการ Dropbox เมื่อปี 2009 ในราคาสูงถึง 25,000 ล้านบาท แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากฮูสตัน ยังต้องการทำธุรกิจด้วยตัวเองต่อ ซึ่งเขาก็ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงหลักแสนล้านบาท ในปัจจุบัน
แต่หลังจากเหตุการณ์นั้น สตีฟ จอบส์ ก็ไม่พอใจ และสร้างบริการแบบเดียวกันขึ้นมาแข่ง ซึ่งก็คือ iCloud นั่นเอง..
----------------------
หากพูดถึงยูนิคอร์นแล้ว อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นมากสุดในอาเซียน อ่านเรื่องนี้ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c25a1e7db4820094c04c31a
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.