สรุป ความรู้เรื่องตราสารหนี้
ทีผ่านมามีข่าวเบี้ยวหนี้ตั๋ว BE และมีคนรอบข้างผมหลายคนที่ซื้อ BE หรือ หุ้นกู้ แล้วไม่ได้รับเงินต้นคืน วันนี้จึงอยากมาอธิบายเรื่องนี้ ว่าทำไมเราต้องดูบริษัทด้วย ไม่ใช่แค่สนใจว่าดอกเบี้ยสูง
ตราสารหนี้คือการที่เราให้เงินคนอื่นยืมโดยที่มีระยะเวลาคืน (นึกภาพว่าคล้ายเงินฝากประจำ หรือ สลากออมสิน)
แล้วใครมายืมเรา?
คนที่ออกตราสารหนี้ได้นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นคนทั่วไปจะออกได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคาร และบริษัทเอกชน ทีนี้ก็คงจะนึกภาพออกว่าความเสี่ยงของตราสารหนี้ จะขึ้นอยู่กับผู้ที่มายืมเราด้วย
ถ้าเป็นรัฐบาลก็คงปลอดภัย แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เน่าๆ มายืมเราก็คงเสี่ยงกว่า ความเสี่ยงของผู้ที่มายืมเรา เขาเรียกกันว่า "เครดิตเรตติ้ง"
ผมแนะนำให้ซื้อตราสารหนี้ในระดับเรตติ้ง A ขึ้นไป ถ้าขึ้นต้นด้วย B หรือไม่มีเรตติ้ง ควรถอยห่าง เพราะถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงกว่าแต่เราอาจจะไม่ได้เงินต้นคืนเหมือนที่เป็นข่าวเร็วๆ นี้
แล้วถ้าเราซื้อตราสารหนี้ไปแล้ว เมื่อไหร่จะได้เงินต้นคืน?
คำตอบคือ เมื่อครบกำหนดอายุ ซึ่งอายุก็จะมีตั้งแต่ระยะสั้นไม่ถึง 1 ปี ไปจนถึง 3 ปี 5 ปี หรือล่าสุดไม่มีกำหนดการคืนเงินต้นก็มี
ตราสารหนี้ระยะสั้น (ไม่ถึง 1 ปี) ถ้าออกโดยรัฐ เรียกว่าตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) แต่ถ้าออกโดยบริษัทเอกชน เรียกว่าเป็นตั๋วแลกเงิน PN (Promissory Note) หรือ BE (Bill of Exchange) ที่เขาบอกกันว่าเบี้ยวหนี้ BE ก็คือบริษัทกู้เงินระยะสั้นแล้วไม่มีเงินมาจ่ายคืนเงินต้นนั่นเอง
สำหรับตราสารหนี้ระยะยาว (เกิน 1 ปี) ถ้าออกโดยรัฐ เรียกว่าพันธบัตร (Treasury Bond) แต่ถ้าออกโดยบริษัทเอกชน จะเรียกว่า หุ้นกู้ (Corporate Bond) ซึ่งข้อดีของตราสารหนี้ก็คือดอกเบี้ยจะมากกว่าเงินฝาก มากกว่าแค่ไหนขึ้นกับระยะเวลาที่จะคืนเงินต้น กับ ความเสี่ยงของผู้ยืม ถ้าระยะเวลายิ่งยาว ยิ่งดอกเบี้ยมาก ถ้าผู้ยืมยิ่งเสี่ยง ยิ่งดอกเบี้ยมาก
แต่ถ้าเราอยากถอนคืนก่อนกำหนดทำได้ไหม?
ถ้ายังไม่ครบอายุ เราจะไม่ได้เงินต้นคืน ยกเว้นว่าเราจะขายตราสารหนี้ต่อให้นักลงทุนคนอื่นในตลาดรอง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ตลาดรองของตราสารหนี้จะมีแต่นักลงทุนสถาบันที่เป็น ธนาคาร กองทุน หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ไม่ได้มีนักลงทุนรายย่อยเหมือนตลาดหุ้น
ดังนั้นถ้าเราต้องการลงทุนในตราสารหนี้ โดยที่จะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ เราสามารถลงทุนได้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าราคาของกองทุนจะเปลี่ยนไปทุกวันตามราคาตลาดตราสารหนี้ในแต่ละวัน ซึ่งก็อาจจะขาดทุนได้เช่นกัน
กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น จะมีราคาผันผวนน้อยกว่า และมีโอกาสขาดทุนน้อยกว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว แต่ผลตอบแทนที่คาดหวังก็จะน้อยกว่าด้วย
ถ้ากองทุนรวมตราสารหนี้ไหนให้ผลตอบแทนมากๆ พึงระลึกไว้ว่ากองทุนนั้นอาจจะมีส่วนผสมของตราสารหนี้เอกชนอยู่มาก
รู้อย่างนี้แล้ว คราวหน้าเวลาเราจะลงทุนในหุ้นกู้ หรือ BE ให้ระวังไว้ให้ดีๆ ว่าเราจะไม่ได้เงินต้นคืน..