ทำการตลาด กับคนจีนยุคนี้ ต้องปั้นคาแรกเตอร์ ออกมาขาย

ทำการตลาด กับคนจีนยุคนี้ ต้องปั้นคาแรกเตอร์ ออกมาขาย

ทำการตลาด กับคนจีนยุคนี้ ต้องปั้นคาแรกเตอร์ ออกมาขาย /โดย ลงทุนแมน
MIXUE แบรนด์ไอศกรีมราคาย่อมเยา มีตุ๊กตาหิมะสีขาวเหมือนเนื้อไอศกรีมเป็นแมสคอต
Haidilao ร้านชาบูหม่าล่า มีแพนด้าหมวกแดงเป็นแมสคอตของแบรนด์
หรือแม้แต่ Pop Mart ร้านขาย Art Toy ก็มีคาแรกเตอร์ที่มีชื่อเสียงประจำร้าน เช่น Molly, Dimoo
นอกจากแบรนด์เหล่านี้แล้ว ในประเทศจีนเอง ก็มีแบรนด์อาหารและขนมอีกมากที่ตอนนี้หันมาสร้างคาแรกเตอร์ของแบรนด์ หรือ Intellectual Property (IP) ให้เป็นที่จดจำมากขึ้น
ทำไมแบรนด์จีน ต่างหันมาสร้างคาแรกเตอร์
และถ้าอยากจับตลาดชาวจีน ทำไมแบรนด์ไทย ต้องปั้นคาแรกเตอร์ด้วย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้ามองดี ๆ ไม่ใช่แค่แบรนด์จีนเท่านั้น ที่ใช้ IP เพื่อสร้างการจดจำ
แบรนด์ไทยที่มีฐานลูกค้าเป็นชาวจีน แล้วประสบความสำเร็จ ก็มี IP ของตัวเองที่เด่นชัดเช่นกัน
- เถ้าแก่น้อย มีโลโกเด็กแดงเป็นแมสคอต ขายสาหร่ายในประเทศจีน มีรายได้กว่า 1,300 ล้านบาทในปี 2566
- Butterbear แมสคอตน้องหมีเนย ที่มีคนจีนมาต่อคิวซื้อ และได้ไปคอลแลบ ร่วมกับแบรนด์อื่นอีกมากมาย
ส่วนสาเหตุที่แบรนด์จีน หรือลูกค้าชาวจีนให้ความสนใจในตัว IP หรือคาแรกเตอร์ของแบรนด์ ไม่ว่าจะปั้นคาแรกเตอร์ขึ้นมาเอง หรือไปคอลแลบกับแบรนด์อื่น นั่นก็เพราะคำว่า “แตกต่าง” ซึ่งเป็นคีย์สำคัญหากจะแข่งในตลาดจีน
จีนเป็นตลาดใหญ่ ถ้าทำอะไรแล้วขายดี ฮิตเป็นกระแส
ไม่นานนักก็จะมีคู่แข่งเกิดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด
แม้การลอกเลียนแบบอาจจะทำได้ไม่เหมือน 100%
แต่เมื่อวางขายเรียงกันหลาย ๆ แบรนด์
ก็มีโอกาสที่จะถูกแย่งลูกค้าไปได้ หากสินค้าที่วางขายมองดูแล้วไม่มีความแตกต่างกัน
เรื่องนี้เถ้าแก่น้อยเองก็เจอ เมื่อตอนเข้าไปตีตลาดที่จีนใหม่ ๆ
แม้สาหร่ายจะขายดี แต่ก็โดนเจ้าถิ่นแย่งเอาชื่อไปจดทะเบียนการค้า ทำให้ไม่สามารถใช้ชื่อภาษาจีนที่แปลตรงตัวว่าเถ้าแก่น้อยได้
แต่ด้วยโลโกเด็กแดงที่ชัด ทำให้ผู้บริโภคยังสามารถแยกและจำได้ว่าแบรนด์ไหน คือเถ้าแก่น้อยจากไทย “ตัวจริง”
ทำให้การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งชื่อ แพ็กเกจจิง ตัวการ์ตูนหรือแมสคอตให้แตกต่าง เด่นชัด จึงเป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กับการทำสินค้าให้ดีมีคุณภาพ
แต่ก่อนที่จะไปถึงจีน จริง ๆ แล้ว ประเทศที่ทำให้เราคุ้นเคยกับการใช้ IP เพื่อสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ก็คือ ญี่ปุ่น
เนื่องจากอุตสาหกรรมอานิเมะและมังงะของญี่ปุ่น มีความโดดเด่น ถูกส่งออกไปทั่วโลก และมีการผลิตขึ้นในแต่ละปีหลากหลายเรื่องราว
ด้วยสภาพแวดล้อมที่พร้อมแบบนี้ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่แบรนด์จะไปจับมือกับคาแรกเตอร์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ที่หลายคนหลงรัก หรืออาจสร้างตัวละครขึ้นมา เพื่อเสริมภาพจำให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
หลายครั้ง แม้สินค้าอาจจะธรรมดา ไม่แตกต่างจากคู่แข่ง แต่มีคนยอมจ่ายเงินซื้อด้วยซ้ำ เพราะชื่นชอบตัวการ์ตูนที่พรีเซนต์แบรนด์
และการใช้ IP สื่อสารไปยังผู้บริโภค
เป็นการลดกำแพงทางภาษา สามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้ดีกว่าคำพูด ทำให้แบรนด์สามารถจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้ง่ายขึ้นด้วย
แล้วการปั้นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนต่าง ๆ ออกมาเพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ ทำไมบางแบรนด์ทำแล้วไม่ดัง ลูกค้าจำไม่ได้ ?
สิ่งที่เราจะใช้วัดว่าคาแรกเตอร์ หรือ IP ที่เราปั้นมานั้น เป็นตัวติดปีกให้แบรนด์ไปได้ไกลต่อเนื่อง หรือเป็นเพียงกระแสในระยะเวลาสั้น ๆ
ก็คือ IP นั้น ถึงจุด Critical Mass หรือ มวลวิกฤติ ซึ่งเป็นจุดที่บอกว่าแบรนด์หรือคาแรกเตอร์ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากพอที่จะสร้างแรงผลักดันให้เติบโตได้ด้วยตัวเอง
พูดง่าย ๆ คือ หากแบรนด์ หรือ IP ถึงจุด Critical Mass แล้ว ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจได้เรื่อย ๆ โดยที่ต่อไปแบรนด์ไม่ต้องทำอะไรเพื่อโปรโมตมากนัก เพราะมีลูกค้าคอยบอกต่อและส่งต่อเรื่องราวเป็นวงกว้าง
ในกรณีของการทำ IP หากทำให้ถึงจุด Critical Mass ไม่ได้ ลูกค้าก็จะแยกไม่ออกเมื่อต้องเจอคู่เทียบจากแบรนด์อื่นที่พยายามเลียนแบบมาให้คล้าย ๆ กัน
หรือบางครั้งอาจถึงขั้นลืมหรือนึกไม่ออกว่าแบรนด์นี้ มีแมสคอตเป็นตัวอะไร หรือตัวการ์ตูนที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นของแบรนด์ไหน
แต่หากทำได้ ก็จะเหมือนถูกแจ็กพอต เพราะ IP หรือคาแรกเตอร์นั้น ๆ จะอยู่คู่เป็นภาพจำของแบรนด์ไปอีกยาว โดยที่ลูกค้าสามารถแยกได้ว่า IP นั้นเป็นของแท้หรือไม่
เช่น น้องหมีเนย ที่โด่งดังข้ามประเทศไปถึงเมืองจีน และเมื่อพูดชื่อขึ้นมา ภาพในหัวของผู้ฟังจะปรากฏภาพแมสคอตตุ๊กตาหมี ที่อมยิ้มอยู่ตลอดเวลาได้ชัดเจน
อีกเคสหนึ่งที่น่าพูดถึงแม้จะไม่พึ่งพาลูกค้าจีน คือ ลูกฮิปโปตัวน้อยที่ชื่อว่าหมูเด้ง ซึ่งเป็นตัวแทนของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และตอนนี้ก็มีกระแสฮิตไปทั่วโลก
หมูเด้งเลยจุดที่เรียกว่า Critical Mass ไปไกล เพราะทั่วโลกต่างก็รู้จักดี
แต่ทั้งนี้ต้องตระหนักว่า แม้แบรนด์หรือ IP เลยจุด Critical Mass ไปแล้ว
สถานะ Critical Mass ที่เคยมี ก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน
ซึ่งเกิดขึ้นได้กับ IP ทุก ๆ ตัว ที่อาจมีวันหมดความนิยมไปตามกาลเวลา
ดังนั้น แบรนด์จึงต้องไม่ชะล่าใจ และพยายามดูแล รวมถึงพัฒนาคาแรกเตอร์ ให้อยู่ในกระแส และสะกิดใจผู้บริโภค อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่ดี ของการเอาคาแรกเตอร์ มาปรับตัว มาปัดฝุ่น และพยายามโลดแล่นในสายตาของผู้บริโภคอยู่เสมอ คือพี่ก้อน จาก Bar B Q Plaza
เพราะอย่าลืมว่า แต่ละวัน มีแมสคอต มี IP ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่มากมาย ยิ่งทุกวันนี้ที่แบรนด์จีน ลงมาจริงจังกับเรื่องนี้กันมากขึ้น
การแข่งขันปั้นคาแรกเตอร์ระหว่างแบรนด์ ก็ยิ่งรุนแรงกว่าเดิม
การปั้นคาแรกเตอร์ในยุคนี้ จึงไม่ใช่เพียงการจับตลาดผู้บริโภคชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยแบรนด์ไทยในการป้องกันการถูกแย่งลูกค้าไปด้วย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon