จากเด็กฝึกงานร้านจักรยาน สู่ผู้ก่อตั้ง Panasonic

จากเด็กฝึกงานร้านจักรยาน สู่ผู้ก่อตั้ง Panasonic

จากเด็กฝึกงานร้านจักรยาน สู่ผู้ก่อตั้ง Panasonic / โดย ลงทุนแมน
“ความทะเยอทะยาน และความเชื่อมั่น อาจเป็นแสงสว่างที่นำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้”
เหมือนกับเรื่องราวของคุณมัตสุชิตะ
จากเด็กชายผู้เคยฝึกงานที่ร้านจักรยาน
จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Panasonic ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
เขาทำได้อย่างไร วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
คุณมัตสุชิตะ โคโนซุเกะ ผู้ก่อตั้ง Panasonic นั้น เกิดในปี 1894 ในวัยเด็ก ชีวิตของคุณมัตสุชิตะค่อนข้างสุขสบาย เนื่องจากครอบครัวมีฐานะร่ำรวย พ่อของเขาเป็นเจ้าของที่ดินมากมาย แต่แล้ววันดีคืนดี ชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อคุณพ่อของเขาขาดทุนอย่างหนักจากการเก็งกำไรราคาข้าว ทำให้ครอบครัวหมดเนื้อหมดตัว ต้องขายทรัพย์สินทุกอย่าง
จากที่เคยอยู่บ้านหลังใหญ่โต เขาและครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ในห้องนอนแคบๆ โดยมีสภาพความเป็นอยู่เลวร้ายมาก
เขาเริ่มทำงานเลี้ยงตัวเองตั้งแต่ตอนอายุ 9 ขวบ โดยฝึกงานที่ร้านซ่อมรถจักรยาน
แต่หลายปีที่นี่ เขาพบว่า งานช่างไฟฟ้าน่าจะมีอนาคตดีกว่างานช่างซ่อมจักรยาน จึงทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนงานไปทำกับบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า
ด้วยผลงานของเขา ที่นี่เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งหลายครั้ง
แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาคิดว่าเขาอยากตั้งบริษัทเอง
เพราะวันหนึ่งที่เขาได้ประดิษฐ์หลอดไฟแบบใหม่ขึ้นมา และนำไปเสนอแก่หัวหน้า แต่หัวหน้าเขากลับไม่ได้รู้สึกสนใจกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ของคุณมัตสุชิตะเลย
ในปี 1917 คุณมัตสุชิตะได้ลาออกเพื่อไปตั้งบริษัทของเขาเอง ด้วยความรู้ที่เรียนแค่เพียงชั้นประถม โดยใช้ที่พักเป็นสถานที่ทดลองประดิษฐ์หลอดไฟ และมีพนักงานคือตัวเขา ภรรยา น้องชาย และผู้ช่วยอีกจำนวนหนึ่ง
บริษัทของเขาไม่มีแม้แต่เงินทุนและที่สำคัญคือ ไม่มีใครมีประสบการณ์ในการประดิษฐ์หลอดไฟเลย จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า บริษัทของเขาต้องล้มเหลวอย่างแน่นอน
ในช่วงนั้นบริษัทขาดสภาพคล่อง จนเขาต้องเอาชุดกิโมโนของภรรยาไปขายเพื่อหาเงินใช้
ระหว่างนั้นผู้ช่วยในบริษัทหลายคนก็ลาออกไป เพราะมองไม่เห็นอนาคตของบริษัท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขามีในตัวคือ ความทะเยอทะยาน และความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถประดิษฐ์หลอดไฟ ที่เขาเชื่อว่าต้องขายได้
เขาทดลองทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำงานทั้ง 7 วันไม่มีวันหยุด จนสามารถผลิตตัวอย่างและนำไปเสนอให้แก่บริษัทหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่สินค้าของเขากลับถูกปฏิเสธ..
เป็นหลายคนอาจท้อแท้หรือล้มเลิกไม่อยากทำไปแล้ว แม้จะเป็นการทำสิ่งที่ตนเองถนัดก็ตาม แต่คงไม่ใช่กับคนอย่างคุณมัตสุชิตะ
เขากลับมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเขาใหม่ ทำให้คุณภาพดีกว่าเดิมและราคาถูกลง จนลูกค้าเริ่มให้การยอมรับในที่สุด
ซึ่งสินค้าของเขาตัวแรกคือ หลอดไฟที่ใช้ชื่อว่า "เนชั่นแนล" เพราะต้องการความเป็นสากลนั่นเอง
และก็อย่างที่ทุกคนรู้หลังจากนั้น Panasonic ก็ขยายธุรกิจตามมาอีกมากมายอย่างที่เราเห็นกัน
นับจนถึงวันนี้ Panasonic มีอายุครบ 100 ปี แล้ว ปัจจุบันมีบริษัทในเครือกว่า 592 แห่งอยู่ใน 6 ทวีปทั่วโลกและ มีจำนวนพนักงาน 274,143 คน
นอกจากนี้ นิตยสาร Forbes 2017 ได้จัดลำดับบริษัทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก โดย Panasonic ติดลำดับ 10 จากทั้งหมด 2,000 บริษัท
รายได้และกำไรของบริษัท Panasonic Corporation
ปี 2559 รายได้ 2.20 ล้านล้านบาท กำไร 44,820 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 2.39 ล้านล้านบาท กำไร 70,800 ล้านบาท
โดยยอดขายมาจากญี่ปุ่น 50% อเมริกา 18% เอเชียยกเว้นจีน 13% จีน 11% ยุโรป 8%
ขณะที่ Panasonic เริ่มเข้ามาในประเทศไทย ในปี 2497 โดยโรงงานของ Panasonic นับเป็นโรงงานแห่งแรกที่ คุณมัตสุชิตะ ลงทุนในต่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วงแรกเป็นการผลิตถ่านไฟฉายและวิทยุเป็นหลัก
คุณมัตสุชิตะ ได้เสียชีวิตลงในปี 1989 ด้วยวัย 94 ปี โดยวันที่เขาจากไปนั้นเขามีทรัพย์สินกว่า 99,000 ล้านบาทและทิ้งเรื่องราวดีๆ ให้แก่คนรุ่นหลังได้นำไปศึกษาหลายเรื่อง
สำหรับคนที่ทำอะไรแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ลองดูตัวอย่างของคุณมัตสุชิตะ ถ้าเรามีความทะเยอทะยาน แรงผลักดันและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ก็อาจทำให้เราพบกับจุดหมายได้ในที่สุด
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
Panasonic เป็นผู้นำทางด้านการผลิตแบตเตอรีของโลก แม้แต่บริษัท Tesla ของ Elon Musk ก็ยังร่วมมือกับ Panasonic ในการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ Tesla รุ่น Model 3 รวมถึงการเก็บพลังงานอื่นๆ ของบริษัท Tesla
โรงงานนี้ชื่อ Gigafactory ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นในปี 2013 ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรีที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิตมากถึง 35 GWh ซึ่งกำลังการผลิตนี้มากกว่ากำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรีทั่วโลกที่เหลือรวมกันเสียอีก
ทั้งนี้ 35 GWh คือ 35,000 ล้าน วัตต์ชั่วโมง
ถ้าให้เฉลี่ยแล้ว 1 ครัวเรือนใช้ไฟ 3 แสน วัตต์ชั่วโมง นั่นหมายความว่า กำลังการผลิตของโรงงานนี้จะเท่ากับ การใช้ไฟของ 117,000 ครัวเรือนรวมกันเลยทีเดียว..
----------------------
ครั้งแรกของประเทศไทย กับแพลตฟอร์ม #SocialKnowledge ที่เชื่อมโยงความคิดดีๆ ของทุกคนเข้าด้วยกัน แอปพลิเคชันนี้ชื่อ "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
References
-https://www.panasonic.com/global/corporate/ir/pdf/2017_full/financial_results_e.pdf
-https://www.panasonic.com/global/corporate/profile/overview.html
-https://news.panasonic.com/global/topics/2017/52043.html
-http://biography.yourdictionary.com/konosuke-matsushita
-http://pumalone.blogspot.com/2013/03/blog-post_544.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/K%C5%8Dnosuke_Matsushita
-https://www.panasonic.com/global/corporate/ir/pdf/panasonic_ar2017_e.pdf
[9978].
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon