Ray-Ban ผลิตโดยผู้อพยพชาวเยอรมัน

Ray-Ban ผลิตโดยผู้อพยพชาวเยอรมัน

Ray-Ban ผลิตโดยผู้อพยพชาวเยอรมัน / โดย ลงทุนแมน
แว่นกันแดด หลายคนต้องนึกถึงแว่นตา Ray-Ban
รู้ไหมว่า Ray-Ban นั้นผลิตโดยชาวเยอรมัน 2 คนที่อพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น Ray-Ban ยังเคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ที่มาของเรื่องเป็นยังไง ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ray-Ban คือ บริษัท Bausch & Lomb ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย John Jacob Bausch และ Henry Lomb ชาวเยอรมันที่อพยพมาสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1853
ในช่วงแรกทั้งคู่เปิดร้านเล็กๆ ทำธุรกิจในการผลิตเลนส์สายตา
ปัจจุบัน BAUSCH + LOMB (เปลี่ยนจากโลโก้ Bausch & Lomb ในปี 2010) ถือเป็นผู้ผลิตคอนแทคเลนส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในบริษัทที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเพราะมีอายุกว่า 165 ปี
เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 1929 กองทัพอากาศของอเมริกาได้ขอให้ทาง Bausch & Lomb ช่วยออกแบบและผลิตแว่นตาชนิดพิเศษให้กับนักบิน เนื่องจากระหว่างที่นักบินทำการบินในระดับสูง พวกเขามักจะมีปัญหาเรื่องการมองเห็น
Bausch & Lomb ใช้เวลาในการพัฒนาหลายปีจนได้แว่นตาแบบจำลองขึ้นในปี 1936
และหลังจากนั้นก็สามารถผลิตแว่นตายี่ห้อ Ray-Ban ได้สำเร็จในปี 1937 ซึ่งรุ่นที่ใช้สำหรับนักบินนั้น ต่อมาได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นรุ่นในตำนานที่ชื่อว่า Ray-Ban รุ่น Aviator
แล้วรู้ไหมว่า Ray-Ban ยังได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย ในช่วงระหว่างปี 1939-1945
เมื่อแว่นตา Ray-Ban ได้ถูกส่งไปให้ทหารอเมริกันที่กำลังเข้าร่วมสงคราม เพื่อช่วยป้องกันดวงตา จากแสงและฝุ่นต่างๆ ในสนามรบ
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วใครเป็นคนเริ่มทำให้แว่นตา Ray-Ban มีชื่อเสียงจนโด่งในยุคแรก ใช่ดาราไหม คำตอบคือไม่ใช่
เพราะเขาคือ นายพลดักลาส แมกอาร์เธอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ลงภาพของแมกอาร์เธอร์ ขณะที่นำเครื่องบินลงจอดที่ฟิลิปปินส์ พร้อมส่วนแว่นตา Ray-Ban รุ่น Aviator
ในปี 1956 Ray-Ban ได้ออกแว่นกันแดดรุ่น The Wayfarer ถือเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ว่ากันว่าในช่วงนั้น 3 เรื่องที่คนส่วนใหญ่พูดถึงคือเรื่อง เครื่องบิน ดนตรีร็อคแอนด์โรลและแว่นตา Ray-Ban รุ่น The Wayfarer
ในช่วงระหว่างปี 1982-1987 แว่นตา Ray-Ban ได้ถูกคนดังนำไปสวมใส่ในหนังและรายการทีวี เฉลี่ยแล้วกว่า 60 เรื่องต่อปี
โดยเฉพาะในปี 1983 นั้น หนังที่ทอม ครูซเล่นในเรื่อง Risky Business เขาได้ใส่แว่นตารุ่น The Wayfarer ในปีนั้นยอดขายแว่นตาของ Ray-Ban ได้เพิ่มขึ้นกว่า 50% เลยทีเดียว
ปัจจุบัน Ray-Ban ไม่ได้เป็นของ BAUSCH + LOMB แล้ว เนื่องจากในปี 1999 บริษัทได้ขายแบรนด์ Ray-Ban มูลค่ากว่า 21,120 ล้านบาท ให้กับบริษัทผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในโลกของอิตาลีที่ชื่อว่า Luxottica Group S.p.A.
รายได้และกำไรของ Luxottica Group S.p.A.
ปี 2016 รายได้ 354,354 ล้านบาท กำไร 33,072 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 357,123 ล้านบาท กำไร 40,482 ล้านบาท
ครั้งแรกที่ผู้อพยพชาวเยอรมัน 2 คนก่อตั้งแบนรด์ Ray-Ban นั้นเชื่อว่าเขาก็คงไม่คิดว่าวันหนึ่งแว่นตายี่ห้อนี้จะสร้างมูลค่าได้มากมายและมีอิทธิพลกับคนทั่วโลกได้ขนาดนี้
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้เราเห็นในเรื่องการออกแบบสินค้า
ถ้าวันนี้เราลองมุ่งมั่นทำสินค้าให้มีดีไซน์ที่ทุกคนใส่แล้วดูดีเหมือน Ray-Ban สิ่งที่เราทำอาจจะดูเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ไม่แน่อนาคตอาจจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนเราอาจจะนึกไม่ถึงก็เป็นได้..
----------------------
<ad> ถ้าอยากลองหาซื้อแว่น Ray-Ban ของแท้ ทุกรุ่น ราคามาตรฐาน มีรับประกัน ลองมาแวะชมแว่นได้ที่ opticana ร้านแว่นตาที่ดีที่สุดในกรุงเทพ fb.com/opticanathailand
ใครอยากหาแว่นที่ดีที่สุด เลนส์ที่ดีที่สุดให้เหมาะสมตามลักษณะการใช้งาน เชิญมาที่ opticana
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon