เกาหลีใต้กับไทย เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เหมือนกัน แต่วันนี้ รวยไม่เท่ากัน

เกาหลีใต้กับไทย เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เหมือนกัน แต่วันนี้ รวยไม่เท่ากัน /โดย ลงทุนแมน
28 ปีก่อน วิกฤติต้มยำกุ้งทำร้ายไทยกับเกาหลีใต้
แทบไม่ต่างกัน
- สกุลเงินประเทศ​อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จนควบคุมไม่ได้
- คนกู้เงินจากต่างประเทศ อยู่ดี ๆ หนี้ที่กู้มา เพิ่มขึ้นเท่าตัว แบบไม่ทันตั้งตัว
- เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง จนพยุงค่าเงินไม่ไหว
- รัฐบาลต้องกู้เงินจาก IMF มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แม้วันนั้นทั้งคู่สะดุดครั้งใหญ่ แต่ก็ต่างฟื้นกลับมาได้
โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่กลับมาผงาดขึ้นอย่างโดดเด่น กลายเป็นประเทศที่มี GDP สูงเป็นเบอร์ต้น ๆ ในเอเชีย
แถมเกาหลีใต้ ยังขึ้นชื่อว่าเป็น ประเทศแห่งนวัตกรรมของโลก อีกด้วย
ซึ่งวันนี้ขนาดเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ใหญ่คิดเป็น 3 เท่าของไทย
และรายได้ของคนเกาหลีใต้โดยเฉลี่ย มากกว่าคนไทย คิดเป็นเกือบ 5 เท่า
วิกฤติต้มยำกุ้งทำร้ายทั้งคู่ มากแค่ไหน
และเกาหลีใต้ กลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยกับเกาหลีใต้ มีภาพสวยงามที่คล้ายกันมาก เพราะเศรษฐกิจไม่เคยโตต่ำกว่า ปีละ 8% บางปีมากกว่า 10% ก็มี
แถมกลยุทธ์การพัฒนาประเทศตอนนั้นก็แทบไม่ต่างกัน
เพราะทั้งคู่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
ดึงเงินจากการส่งออกต่างประเทศเข้ามา
แต่ความสวยงามในบางครั้ง ก็มักซุกซ่อนปัญหาอะไรบางอย่างไว้ข้างใต้เสมอ
ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติ ทั้งสองประเทศมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง โดยมีเหตุผลหลักจากการส่งออกที่ลดลง แต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น
เมื่อนำเข้ามากกว่าส่งออก พอรวมกันแล้ว ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น การเปิดเสรีทางการเงินให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามา จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่าย
ในฝั่งไทย อนุญาตให้มีการจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ หรือ BIBF ในปี 1993 เพื่อเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก

ส่วนฝั่งเกาหลีใต้ เริ่มให้เอกชน
และสถาบันการเงินเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศง่ายขึ้น
แต่การทำแบบนี้ ก็ทำให้ธุรกิจในประเทศเริ่มกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าภายในประเทศมาก แถมยังเป็นการก่อหนี้ระยะสั้น เพื่อนำมาลงทุนโครงการต่าง ๆ ในประเทศ
ซึ่งแทบไม่ต้องกังวลว่า อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวน
จนเงินกู้เพิ่มแบบไม่ตั้งตัว เพราะไทยกับเกาหลีใต้ พยายามรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้
ฝั่งธุรกิจในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่อย่าง
แชโบล เริ่มกู้เงินมาทำธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจนั้นอาจขาดทุนหรือไม่ทำกำไรตามที่คาดไว้
หนี้ต่างประเทศจึงเพิ่มจาก 1.4 ล้านล้านบาท เป็น
4 ล้านล้านบาท ภายในเวลาแค่ 5 ปี ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 58% เป็นหนี้สินระยะสั้น
ส่วนฝั่งไทย ก็มีการกู้ยืมเงินไปลงทุนโครงการอสังหาฯ
ต่าง ๆ จนทำให้เกิดการเก็งกำไรบ้าน อาคาร ที่ดิน รวมถึงในตลาดหุ้น และเกิดเป็นฟองสบู่ตามมา
ซึ่งก็ไม่ต่างจากเกาหลีใต้ ที่ไทยมีหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปีก่อนเกิดวิกฤติ มีหนี้ต่างประเทศมากถึง 3.1 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินระยะสั้น
จนในปี 1997 สัญญาณของความวิกฤติก็ได้เริ่มขึ้น
เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินไทยและเกาหลีใต้ เริ่มไม่คงที่
ทำให้ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ ตัดสินใจ
นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปแทรกแซงค่าเงิน
เพื่อให้กลับมาอยู่ในระดับคงที่เหมือนเดิม
แต่การทำแบบนี้ มันคือฝันร้ายการเงินของประเทศนั้น
เพราะนี่คือการละเมิดกฎทองคำ Impossible Trinity
ที่ประเทศใดก็ตาม ไม่สามารถทำ 3 อย่างนี้พร้อมกันได้
- กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่
- ปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
- กำหนดนโยบายการเงินได้อย่างอิสระ
ไทยและเกาหลีใต้ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีไปแล้ว จึงไม่สามารถใช้นโยบายการเงินอย่างอิสระได้
ก็คือ นโยบายการเงินของประเทศ ควรจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ
แต่ธนาคารกลางของไทยและเกาหลีใต้ ยังคงนโยบายการเงิน เช่น ปรับอัตราดอกเบี้ย ที่ไม่ตามนโยบายของต่างประเทศ
เมื่อประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ขาดดุลมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เริ่มไม่มั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจ และเริ่มเรียกคืนหนี้ที่ปล่อยกู้คืน ซึ่งถ้าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกของตลาดในตอนนั้น สกุลเงินบาท/วอน ต้องอ่อนค่าลง
ธนาคารกลางไทยและเกาหลีใต้ จึงต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ มาซื้อเงินบาท/วอน แต่การพยุงค่าเงินไปเรื่อย ๆ หมายถึงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง
ไทย
- ปี 1996 มีเงินทุนสำรอง 1,299,506 ล้านบาท
- ปี 1997 มีเงินทุนสำรอง 95,700 ล้านบาท
เกาหลีใต้
- ปี 1996 มีเงินทุนสำรอง 1,108,106 ล้านบาท
- ปี 1997 มีเงินทุนสำรอง 685,011 ล้านบาท
จนสุดท้ายไม่ไหว ต้องยอมแพ้ และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแทน
เมื่อลอยตัวค่าเงิน ค่าเงินก็อ่อนอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ คนกู้เงินจากต่างประเทศ จึงมีหนี้เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ล้มละลาย เพราะชำระหนี้ที่กู้มาไม่ได้แล้ว และจำเป็นต้องปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงจำใจขายกิจการให้ต่างชาติ
จากวิกฤติที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยกับเกาหลีใต้ จึงหันไปกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ
ถึงตรงนี้ ก็คงเห็นแล้วว่า ทั้งไทยและเกาหลีใต้ ก็เจอปัญหาวิกฤติที่แทบไม่ต่างกัน
แต่ถ้าเราไปดูขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
จากวันนั้นถึงวันนี้ จะพบว่า
เกาหลีใต้
- ปี 1997 ขนาดเศรษฐกิจ 19.1 ล้านล้านบาท
- ปี 2024 ขนาดเศรษฐกิจ 58.5 ล้านล้านบาท
ไทย
- ปี 1997 ขนาดเศรษฐกิจ 5.0 ล้านล้านบาท
- ปี 2024 ขนาดเศรษฐกิจ 17.6 ล้านล้านบาท
ซึ่งในปีเกิดวิกฤติ คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว
เพียง 417,000 บาทต่อปี
มาวันนี้ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 1,207,000 บาทต่อปี
ส่วนไทยในปีเกิดวิกฤติ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 83,000 บาทต่อปี
มาวันนี้ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 268,000 บาทต่อปี
แม้วันนั้นกับวันนี้ รายได้ของคนเกาหลีใต้ ยังคิดเป็น 5 เท่าของคนไทยเช่นเดิม
แต่ช่องว่างรายได้ต่อหัว ในเชิงตัวเลขนั้น จะเห็นว่าเกาหลีใต้ ทิ้งห่างไทยออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ
คำถามคือ แล้วทำไมเศรษฐกิจสะดุดล้มพร้อม ๆ กัน
แต่เกาหลีใต้ ยังทิ้งห่างไทย ไปมากขนาดนี้ ?
จริง ๆ แล้ว หลังเกิดวิกฤติ ทั้งสองประเทศก็ทำอะไรคล้ายกัน ไล่ตั้งแต่การปรับโครงสร้างสถาบันการเงินในประเทศให้มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น
เพิ่มเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม
เพื่อให้สามารถรับมือและจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ
ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีมากขึ้น
รวมไปถึงการทิ้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่
มาเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงได้
ในระดับที่เหมาะสมแทน
แต่สิ่งที่เกาหลีใต้ ทำเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วยกัน คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้แข่งขันได้มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น การให้กลุ่มแชโบลทำเฉพาะธุรกิจ
ที่ตัวเองถนัด ปล่อยธุรกิจที่ไม่ทำกำไรหรือไม่ถนัดทิ้งไป
รวมถึงหันมาเน้นธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมขั้นสูงมากขึ้น
ซึ่งเกาหลีใต้ ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของประเทศ จนปัจจุบันเงินตรงนี้คิดเป็น 2-5% ของ GDP ประเทศ หรือราว 1-3 ล้านล้านบาทต่อปี
ทำให้ตอนนี้ เกาหลีใต้กลายเป็น 1 ใน 5 ประเทศ
ที่มีสัดส่วนงบประมาณการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP
สูงสุดในโลก
เมื่อเทียบกับไทยแล้ว เราใช้เงินตรงนี้ 1% ของ GDP
ซึ่งคิดเป็นเงินราว 180,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น
หรือพูดอีกอย่างคือ ไทยลงทุนวิจัยและพัฒนาน้อยกว่าเกาหลีใต้ราว 5-16 เท่าเลยทีเดียว
และหนึ่งในหมัดเด็ดสำคัญของเกาหลีใต้ หลังวิกฤตินั่นคือ เน้นพัฒนาการส่งออกวัฒนธรรมใหม่ ๆ เช่น ซีรีส์ เพลง หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ
โดยมีการสนับสนุนผ่านกองทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และมีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ร่วมกับภาคเอกชน
ไม่ว่าจะเป็น KOCCA ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อวางแผนทิศทางคอนเทนต์ และสำรวจความต้องการของตลาดในต่างประเทศ
รวมไปถึงองค์กรการท่องเที่ยวเกาหลี เพื่อวางแผนให้นักท่องเที่ยว มาแกะรอยตามซีรีส์แต่ละเรื่อง
ส่วนผู้ผลิตซีรีส์ ก็จะมีการเขียนบทละครที่มีความโดดเด่นและสมจริง ซึ่งในแต่ละตอน ก็จะมีการแทรกเนื้อหาโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ แบบเนียน ๆ ลงไปอีกด้วย เช่น โซจู, มาม่าเกาหลี, กิมจิ ฯลฯ
ซึ่งสุดท้ายก็ส่งเสริมทั้งภาคการท่องเที่ยว, การส่งออก และอุตสาหกรรมความงาม ของเกาหลีใต้
และด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ทำให้เพลงและซีรีส์เกาหลี ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล
จนปัจจุบัน ภาพจำเกาหลีใต้ของใครหลายคน ก็คงเป็นพระเอก นางเอกซีรีส์ นักแสดง วงศิลปิน ที่ดังไปทั่วเอเชีย รวมถึงระดับโลกแล้ว
ในขณะที่ไทย หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็มีการกู้เงินจากญี่ปุ่น 53,000 ล้านบาท มาอัดฉีดเศรษฐกิจ กับลดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีน้ำมันลง
พร้อมจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างหนี้เสียเอกชน
เพิ่มทุนธุรกิจ SME รวมทั้งให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ปล่อยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านกว่า 5,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ก็ดูเหมือนว่า เกาหลีใต้ทิ้งห่างไทยออกไปเรื่อย ๆ แม้จะเจอวิกฤติต้มยำกุ้งเหมือนกันก็ตาม
เรื่องนี้ก็น่าจะตรงกับคำพูดที่ว่า พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ซึ่งคงใช้กับเกาหลีใต้ได้ไม่ผิดนัก
เพราะใช้วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในการพลิกประเทศ
ไปข้างหน้าได้จนถึงทุกวันนี้..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-The Financial Crisis in Korea: Causes and Challenges by Yoon Je Cho
-World Bank
-https://www.bot.or.th/th/our-roles/special-measures/Tom-Yum-Kung-lesson.html
-https://www.koreaherald.com/article/3212370
-https://www.bok.or.kr/eng/main/contents.do
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/South_Korea_and_the_International_Monetary_Fund
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon