สรุปการเคลมประกันคอนโดฯ จากเหตุแผ่นดินไหว ครบ จบ ในโพสต์เดียว

สรุปการเคลมประกันคอนโดฯ จากเหตุแผ่นดินไหว ครบ จบ ในโพสต์เดียว

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยทุกคนตระหนักว่า ความเสี่ยงภัยที่ไม่อาจคาดหมายได้อีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็คือ แผ่นดินไหว
ซึ่งทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยก็อาจจะเจอปัญหาเหมือน ๆ กัน นั่นก็คือความเสียหายของที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ
สำหรับใครที่ได้ทำประกันให้กับห้องชุดของตัวเองเอาไว้ ก็อาจสบายใจไปได้เปลาะหนึ่ง
แต่ทุกคนก็น่าจะมีหลายคำถามอยู่ในใจและอาจสงสัยว่า
ถ้าจะเคลมเอาเงินประกันภัยด้วยตัวเอง จะต้องเคลมกับใคร และทำอย่างไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
เริ่มต้นจาก “ความเสียหายภายในห้องตนเอง” ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวกันก่อน
คำถามแรกคือ ประกันภัยอะไรที่คุ้มครองเหตุแผ่นดินไหวบ้าง ?
คำตอบก็คือ “ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย” โดยจะให้ความคุ้มครองกับทรัพย์สินในรูปแบบ “ระบุภัย” หรือก็คือ ให้ความคุ้มครองกับทรัพย์สินจากภัยที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น
ซึ่งประกันภัยนี้จะให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยจากเหตุภัยพิบัติหลากหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เหตุไฟไหม้เท่านั้น แต่รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวมาด้วยอยู่แล้ว
โดยวงเงินคุ้มครองพื้นฐานที่ คปภ. กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน 20,000 บาท/กรมธรรม์ และเป็นวงเงินที่รวมกับภัยพิบัติอย่างอื่นด้วย
ดังนั้น ในปีนี้ใครที่เคลมเงินเอาประกันภัยในส่วนภัยพิบัติอย่างอื่นไปแล้ว เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม ก็อาจจะเคลมเงินเอาประกันในเหตุแผ่นดินไหวได้ไม่ถึง 20,000 บาท หรือใครที่ซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็สามารถเคลมเงินเอาประกันภัยได้มากกว่า 20,000 บาท ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ซึ่งในส่วนนี้ ถ้าใครมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคาร มักจะมีการทำประกันอัคคีภัย เพื่อเป็นหลักประกันให้กับธนาคารอยู่แล้ว ก็สามารถติดต่อเรื่องเคลมประกันได้เลย
คำถามต่อมาก็คือ ประกันภัยนี้คุ้มครองความเสียหายจากแผ่นดินไหวรูปแบบใดบ้าง ?
คำตอบเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบเบื้องต้น คือ
- ความเสียหายเชิงโครงสร้างอาคาร
เช่น รอยแตกร้าว ทรุด พังเสียหายของผนัง เสา คาน ฝ้าเพดานของอาคาร
ซึ่งจัดเป็นความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว และได้รับความคุ้มครองจากเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้ว
- ความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา โทรทัศน์ ชั้นวางของ ที่พังเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
ส่วนนี้ต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์เพิ่มเติมว่าคุ้มครองถึงความเสียหายในส่วนนี้หรือไม่
- ความเสียหายถึงขั้นไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ต้องออกไปเช่าที่พักอื่นชั่วคราว จนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จ
จัดเป็นความเสียหายต่อเนื่อง และต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์เพิ่มเติมว่าคุ้มครองถึง “ค่าเช่าที่พักชั่วคราว” หรือไม่
ทีนี้ลองมาดูกันว่า แล้วพื้นที่ส่วนกลางใครเป็นผู้รับผิดชอบ..
โดยปกติแล้ว นิติบุคคลของคอนโดฯ จะทำประกันภัยอีกอย่างไว้ก็คือ ประกันภัยความเสี่ยงในทรัพย์สิน หรือ “Industry All Risk (IAR)” เอาไว้
ซึ่งจะคุ้มครองความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวให้กับทรัพย์สินส่วนกลางในคอนโดฯ ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคาร สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนสีเขียว ดาดฟ้า และพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ
รวมถึงความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดจากน้ำด้วย
เช่น ท่อน้ำแตก หรือมีน้ำรั่วซึมตามโครงสร้างอาคารที่แตกร้าวและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
พูดง่าย ๆ ความเสียหายในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลของคอนโดฯ นั่นเอง
ถึงตรงนี้ สำหรับใครต้องการเคลมเอาเงินประกันภัยด้วยตัวเอง ทาง คปภ. ได้ให้คำแนะนำและขั้นตอนเคลมประกันคอนโดฯ เอาไว้ดังนี้
1. ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่า เป็นกรมธรรม์ประเภทไหน และมีเงื่อนไขความคุ้มครองอะไรบ้าง
2. ตรวจสอบห้องชุดของตัวเองอย่างละเอียดและรวบรวมหลักฐาน
- ถ่ายภาพ/วิดีโอ ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของโครงสร้าง รอยแตกร้าวของผนัง เสา ฝ้า เพดาน และเฟอร์นิเจอร์
- จัดทำรายการทรัพย์สินที่เสียหายพร้อมราคาประเมิน
- รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จ รูปภาพทรัพย์สินก่อนเกิดเหตุ (ถ้ามี) และหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ใบเสนอราคาซ่อม
3. แจ้งเหตุไปที่บริษัทประกันภัยหรือธนาคารที่รับประกันภัย พร้อมยื่นหลักฐานเบื้องต้นและเอกสารอื่น ๆ ที่ทางบริษัทประกันภัยร้องขอ พร้อมจดจำเลขที่รับแจ้งเคลมเอาไว้เพื่อใช้ติดตามผล
ในส่วนนี้ ถ้านิติบุคคลของคอนโดฯ เป็นผู้ทำประกันให้แต่ละห้อง นิติบุคคลอาจเป็นผู้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดและติดต่อประสานงานบริษัทรับประกันภัยแทนลูกบ้านก็ได้
4. บริษัทรับประกันภัยรับแจ้งเหตุและเข้าตรวจสอบความเสียหายพร้อมประเมินราคาซ่อมแซม
หลังจากนั้นจะพิจารณาความคุ้มครองตามกรมธรรม์และดำเนินจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน หลังจากที่ตกลงกันได้
สุดท้ายแล้ว หากใครที่ยังมีคำถามคาใจ สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมกับทางบริษัทประกันภัยที่ตัวเองทำไว้ หรือโทรสายด่วน 1186 ของ คปภ. น่าจะชัดเจนที่สุดในช่วงเวลานี้..

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon