ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งการล้มละลาย

ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งการล้มละลาย

ดีทรอยต์ จากเมืองแห่งยานยนต์ สู่เมืองแห่งการล้มละลาย /โดย ลงทุนแมน
Ford Motor, General Motors และ Chrysler
3 บริษัทนี้ ในอดีตเคยถูกขนานนามว่า Big 3 แห่งวงการรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา
และรู้ไหมว่า ทั้ง 3 ชื่อนี้ มีจุดเริ่มต้นในเมืองเดียวกัน ที่ชื่อว่า “ดีทรอยต์”
ดีทรอยต์ เคยเจริญรุ่งเรือง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของรถยนต์แบรนด์ดังมากมาย จนได้ฉายาว่า เมืองแห่งยานยนต์ (The Motor City)
แต่ ดีทรอยต์ ในวันนี้ กลับถูกเรียกว่า เมืองแห่งการล้มละลาย
ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับเมืองแห่งนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ดีทรอยต์ เป็นเมืองที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในรัฐมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา
ในปี 2025 ดีทรอยต์ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 629,830 คน หรือประมาณ 6% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในรัฐมิชิแกน
ถ้าพูดถึงเมืองดีทรอยต์ สิ่งแรกที่คนอเมริกันและคนทั่วโลกจะนึกถึง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายบริษัท ก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันที่นี่
ในปี 1903 Henry Ford ก่อตั้งบริษัท Ford Motor หลังจากที่เขาสามารถพัฒนารถยนต์สี่ล้อคันแรกได้สำเร็จ
และ Ford Motor ยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตรถยนต์ได้แบบ Mass Production ซึ่งทำให้สามารถขายรถยนต์ได้ในราคาถูก จนส่งผลให้คนในสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกเริ่มหันมาใช้รถยนต์เดินทางบนท้องถนนแทนการนั่งรถม้า
ในปี 1908 William Durant อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทขนส่งด้วยรถม้า ก็ได้ก่อตั้งบริษัท General Motors (GM) เจ้าของรถยนต์แบรนด์ดัง เช่น Chevrolet
ในปี 1925 Walter Chrysler อดีตพนักงานด้านรางรถไฟ ก็ได้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Chrysler ซึ่งปัจจุบัน Chrysler เป็นบริษัทลูกของ Stellantis บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ที่มีแบรนด์ในเครือมากมาย เช่น Jeep, Peugeot, Maserati, Fiat
ช่วงต้นทศวรรษที่ 20 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เติบโตอย่างรวดเร็ว ชนชั้นกลางเริ่มมีรายได้มากขึ้น ขณะที่รถยนต์ของบริษัทอเมริกันทั้ง 3 บริษัทที่ผลิตออกมา เริ่มมีราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนปี 1950
ในขณะที่ Ford, GM และ Chrysler ก็มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถูกขนานนามว่า Big 3 แห่งวงการรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา
พอเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจของเมืองดีทรอยต์ ที่เป็นที่ตั้งของทั้ง 3 บริษัท ก็ขยายตัวตามไปด้วย และเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดประชากรให้หลั่งไหลเข้ามาที่เมืองแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ปี 1900 ประชากรในเมืองดีทรอยต์ เท่ากับ 285,704 คน
ปี 1950 ประชากรในเมืองดีทรอยต์ เท่ากับ 1,849,568 คน
แต่ใครจะไปคิดว่า ดีทรอยต์ ที่กำลังรุ่งเรืองในตอนนั้น กำลังจะเจอกับพายุที่โหมเข้าใส่อย่างไม่หยุดยั้ง..
พายุลูกแรก คือ วิกฤติการณ์น้ำมันในปี 1973
เมื่อกลุ่ม OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไปสู่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน
เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมาก
เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง ทำให้ต้นทุนในการจะขับรถยนต์ออกนอกบ้านแต่ละครั้งเพิ่มสูงขึ้นมาก จนส่งผลต่อยอดขายของรถยนต์
และในแง่การผลิตรถยนต์ที่มีน้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต พอราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
พายุลูกที่สอง คือ การเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมา หลังจากฟื้นตัวจากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี 1945 ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเด่นของญี่ปุ่น ก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์
ไม่นาน ประสิทธิภาพของรถยนต์ญี่ปุ่น ก็พัฒนาขึ้นมาเทียบเท่ารถยนต์แบรนด์อเมริกัน
ที่สำคัญคือ ต้นทุนในการผลิตโดยเฉพาะค่าแรงในญี่ปุ่น ถูกกว่าในสหรัฐอเมริกามาก
ทำให้รถยนต์จากญี่ปุ่นมีราคาถูกกว่า และสามารถเข้ามาตีตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ
พายุสองลูกที่โหมเข้าใส่ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของดีทรอยต์ ค่อย ๆ ตกต่ำนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ผลกระทบของเรื่องนี้ รุนแรงถึงขนาดทำให้บริษัท Chrysler 1 ใน 3 บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เกือบล้มละลายในช่วงปลายทศวรรษ 1970
ส่วนบริษัท Ford Motor และบริษัท General Motors ก็มีสถานะการเงินที่สั่นคลอนในช่วงเวลาดังกล่าว
หลายบริษัทยานยนต์ทั้งเล็กและใหญ่ เริ่มไล่พนักงานออกและปรับลดค่าแรง
บางรายย้ายฐานการผลิตออกจากดีทรอยต์ ไปยังเมืองอื่นหรือประเทศอื่น ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพื่อให้สามารถแข่งขันภายในอุตสาหกรรมได้
แรงงานในเมืองดีทรอยต์จำนวนไม่น้อย ต้องตกงาน ไม่มีรายได้ จนต้องย้ายออกไปหางานที่เมืองอื่น
ทำให้ประชากรในเมืองดีทรอยต์ เหลือเพียง 600,000 คน หรือหายไปเกือบ 3 เท่าจากจุดสูงสุดในปี 1950
ประชากรที่ลดลง เศรษฐกิจภายในเมืองที่ตกต่ำ และการที่หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตออกไป
เรื่องทั้งหมดนี้ตามมาด้วยปัญหาคือ รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์ เริ่มเก็บภาษีได้น้อยลง
เมื่อเก็บภาษีภายในรัฐได้น้อยลง รัฐบาลท้องถิ่นก็เริ่มขาดงบประมาณที่จะนำไปใช้บริหารงาน จ่ายสวัสดิการ และเงินเกษียณอายุให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ยังทำให้จำนวนตำรวจในเมืองลดลง เพราะไม่มีงบประมาณจ่ายเงินเดือนให้ตำรวจ
เป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดอาชญากรรมของเมืองดีทรอยต์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา
บทสรุปของเรื่องนี้ คือ ในปี 2013 รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์ ต้องยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อขอความคุ้มครองการล้มละลาย หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นของดีทรอยต์มีหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการล้มละลายของรัฐบาลท้องถิ่น ที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีว่า ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของบางสิ่ง อาจไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
ดังนั้น ถ้าวันนี้เรากำลังอยู่บนความสำเร็จ ก็อย่าได้ชะล่าใจ
เหมือนอย่างกรณีของ ดีทรอยต์
จากเมืองที่เคยรุ่งเรืองเป็นอาณาจักรแห่งรถยนต์ กลับกลายเป็นเมืองล้มละลาย ไปเสียแล้ว..
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon