สรุปวิธีประเมินผู้บริหาร และวิธีที่ผู้บริหาร ใช้ยักยอกเงินออกไปจากบริษัทตัวเอง

สรุปวิธีประเมินผู้บริหาร และวิธีที่ผู้บริหาร ใช้ยักยอกเงินออกไปจากบริษัทตัวเอง

สรุปวิธีประเมินผู้บริหาร และวิธีที่ผู้บริหาร ใช้ยักยอกเงินออกไปจากบริษัทตัวเอง /โดย ลงทุนแมน
เวลามีข่าวการทุจริต ในวงการตลาดหุ้น
“ผู้บริหาร” มักจะกลายเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ถูกเพ่งเล็งจากทุกฝ่าย
เพราะผู้บริหาร คือผู้กุมบังเหียน ที่คอยกำหนดทิศทาง และความเป็นไปของบริษัท
ธรรมาภิบาลของผู้บริหาร จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ถ้าไม่อยากขาดทุน หรือถูกโกง
แล้วเราในฐานะนักลงทุน จะวิเคราะห์ผู้บริหารได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
เวลานักลงทุนวิเคราะห์บริษัท ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ จะนิยมวิเคราะห์จากมุมของความแข็งแกร่งของธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ไปจนถึงวิเคราะห์งบการเงิน การเติบโตของรายได้ กำไร และกระแสเงินสด
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์บริษัท จากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ก็เหมือนเรากำลังมองจากกระจกเงาที่สะท้อนผู้บริหารอยู่
ซึ่งถ้าหากผู้บริหาร คิดจะตกแต่งให้ดูดีกว่าความเป็นจริง ก็ย่อมทำได้ไม่ยาก เพราะก่อนที่ข้อมูลเหล่านี้จะมาถึงเรา
ผู้บริหาร คือกลุ่มคนที่เห็นข้อมูลเหล่านี้ กลั่นกรอง และสรุปออกมาให้เราได้เห็น
แม้แต่บทวิเคราะห์ ที่ถูกกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจเต็มไปด้วยข้อมูลที่ปรุงแต่งมาให้ผิดเพี้ยนหรือเกินจริงได้
ในการวิเคราะห์บริษัท เราจึงควรมองไปยังตัวผู้บริหารโดยตรงด้วย เพื่อให้เป็นการตอกย้ำว่า เงาที่สะท้อนออกมาจากกระจกนั้น เป็นจริงแค่ไหน
แล้วเราจะวิเคราะห์ผู้บริหารได้อย่างไร ?
การวิเคราะห์ผู้บริหารนั้น ไม่มีหลักการที่ตายตัว แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้บริหารที่ดี ก็ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. ไม่มีประวัติที่ไม่ดี หรือไม่ชอบมาพากล
2. มีความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
3. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง
เริ่มกันที่ข้อแรก ผู้บริหารที่ดี.. ต้องไม่มีประวัติที่ไม่ดี
ข้อนี้ก็ตรงไปตรงมาเลยว่า ผู้บริหารของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่นั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดอย่าง CEO ไม่ควรจะมีประวัติด่างพร้อย ในเรื่องของการทุจริต หรือปั่นหุ้นใด ๆ เลย
โดยเราสามารถหาข้อมูลได้ จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ว่าผู้บริหารของบริษัทที่เรากำลังสนใจ เคยมีข่าวการเข้าไปพัวพันกับการทุจริตต่าง ๆ หรือการปั่นหุ้น ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือเปล่า
ซึ่งถ้าหากผู้บริหารคนนั้น เคยมีตำหนิแล้วละก็ เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทนั้น หรืออย่างน้อยก็ควรจะตั้งธงเฝ้าระวังไว้
มาถึงข้อที่สอง ก็คือผู้บริหาร ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ที่ตนเองบริหารอยู่ และสามารถทำได้อย่างที่พูดจริง ๆ
โดยเรื่องนี้ เราสามารถดูได้จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารในอดีต ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น, งาน Oppday หรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ
แล้วนำไปเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ ที่แสดงออกมาผ่านผลประกอบการของบริษัท ว่าผู้บริหาร ทำสิ่งที่เคยให้สัมภาษณ์ได้มากน้อยแค่ไหน
และถ้าทำไม่ได้ตามเป้า ผู้บริหารได้มีการสื่อสารเรื่องนั้นอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่
มาถึงข้อสุดท้าย นั่นก็คือเรื่องของพฤติกรรมผู้บริหาร
ผู้บริหาร ก็คือลูกจ้างของผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น ผู้บริหารที่ดี ควรโฟกัสเฉพาะในเรื่องของการทำธุรกิจ และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคน
แต่ที่ผ่านมา กลับมีผู้บริหารบางคน ใช้ตำแหน่งในการสร้างผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
ซึ่งในท้ายที่สุด ก็มักจบไม่สวยนัก โดยเฉพาะกับผู้ถือหุ้น
แล้วพฤติกรรมของผู้บริหารแบบไหน ที่เราควรระวัง ?
- ซื้อสินทรัพย์แปลก ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ทำธุรกิจสื่อ แต่ผู้บริหารกลับนำเงินของบริษัท ไปซื้อที่ดินในราคาสูง ซึ่งวิธีการนี้ เป็นวิธีการยอดนิยมในการพร่องเงินออกจากบริษัท
นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีที่ผู้บริหาร ใช้เงินของบริษัทซื้อสินทรัพย์ไว้ใช้ส่วนตัว เช่น คอนโดมิเนียมหรู หรือรถยนต์หรู
หรือกรณี ซื้อทรัพย์สินหรือกิจการ ที่แพงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล และไม่คุ้มค่าในเชิงการลงทุน
รวมไปถึงกรณีผู้บริหารประกาศเพิ่มทุนถี่ เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการ-ธุรกิจต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ แต่สุดท้ายก็ขาดทุนเป็นประจำ
- เพิ่มทุนหรือกู้เงินเพื่อลงทุน แต่ยกเลิกกะทันหัน
เวลาบริษัทต้องการจะลงทุนโครงการใหม่ ๆ หรือแม้แต่ซื้อกิจการอื่น ถ้าหากว่าเงินสดของบริษัทมีไม่เพียงพอ ก็มักตามมาด้วยการเพิ่มทุนหรือกู้เงิน
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง บริษัทอาจมีการยกเลิกดีลที่ประกาศไว้อย่างกะทันหัน โดยอาจจะอ้างว่าดีลไม่มีความคุ้มค่า
ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนั้นจริง ผู้บริหารก็ควรชำระหนี้เงินกู้คืน หรือแม้แต่นำเงินที่เพิ่มทุนมาทำการจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืน เสมือนกับว่าเป็นการคืนเงินส่วนนั้นให้แก่เจ้าหนี้หรือผู้ถือหุ้น
แต่ถ้าหากผู้บริหาร แสดงท่าทีนิ่งเฉยกับเงินก้อนนั้น
ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า ผู้บริหารกำลังใช้เงินผิดจุดประสงค์ และอาจมีจุดประสงค์บางอย่างที่ไม่ได้ทำเพื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง..
- ปล่อยกู้เงินแก่บริษัทอื่น ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
การปล่อยกู้เงินถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูว่าผู้ที่กู้เงินนั้น “เป็นใคร”
ซึ่งถ้าหากผู้กู้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัท รวมถึงไม่ใช่บริษัทลูก
เราก็ควรจะระวังไว้ว่า อาจมีการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทเข้าแล้ว..
นอกจากนี้ หากบริษัทมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้นกู้ระยะยาว, อสังหาฯ, หุ้นสามัญ เราก็ควรจะพิจารณาว่า มีสัดส่วนมากเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับเงินสดที่บริษัทมีอยู่
เพราะแม้ว่าผู้บริหารจะไม่ได้ตั้งใจโกงเงินจากการลงทุน แต่สุดท้ายแล้ว สภาพคล่อง คือสิ่งที่ทำให้บริษัทเดินต่อไปได้ แม้ผลประกอบการจะขาดทุนก็ตาม
- มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างผิดหูผิดตา
ในยุคนี้หลาย ๆ บริษัท เลือกที่จะเจาะตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ สร้างการเติบโตของรายได้และกำไร ซึ่งก็มักมีการซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น ที่ดิน, อาคาร, เครื่องจักร เพื่อใช้ในธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า สินทรัพย์ที่อยู่ในต่างประเทศเหล่านี้ อาจเล็ดลอดการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีไปได้ และอาจเป็นช่องทางหนึ่ง ในการพร่องเงินออกจากบริษัท
ถ้าหากบริษัทที่เราสนใจ มีการใช้เงินซื้อหรือลงทุน กับสินทรัพย์และธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นแบบผิดหูผิดตา โดยเฉพาะในประเทศแปลก ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย หรือติดตามข่าวสารได้ยาก
เราก็ควรจะสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น
- ให้ความสำคัญกับราคาหุ้น มากจนเกินไป
หน้าที่ของผู้บริหาร คือการบริหารธุรกิจ ซึ่งถ้าหากธุรกิจมีรายได้และกำไรเติบโต ก็จะนำมาซึ่งมูลค่าบริษัท ที่เพิ่มมากขึ้นเอง
เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารออกมาให้ข่าว สร้างเรื่องราวการเติบโตของบริษัท ชนิดที่เกินความเป็นจริงมากเกินไป
ก็อาจเป็นไปได้ว่า ผู้บริหารคนนั้น กำลังชี้นำราคาหุ้นอยู่
ซึ่งในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริหาร เป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องหมั่นสังเกตเอง
โดยดูได้จากข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัท งบการเงิน รายงานประจำปี ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ของตัวผู้บริหาร
ซึ่งคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น ในการวิเคราะห์ผู้บริหาร เราอาจพิจารณาผู้บริหารได้ด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม
ที่สำคัญคือ นอกจากวิเคราะห์เรื่องความเสี่ยงของพฤติกรรมผู้บริหารแล้ว เราต้องดูให้ครบว่า ผู้บริหารเก่งจริงหรือไม่ และส่อแววทุจริตหรือเปล่า เพราะต่างก็สร้างความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นได้เช่นเดียวกัน
แล้วถ้าผู้บริหารที่เราวิเคราะห์ ดูแล้วเข้าข่ายเรื่องที่กล่าวไป นักลงทุนก็ควรเพิ่มค่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนนั้นไปด้วย
สิ่งที่นักลงทุนควรจำไว้เสมอ เมื่อต้องวิเคราะห์ผู้บริหาร นั่นก็คือ “ไม่ว่าผู้บริหารจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ เราก็ควรหลีกเลี่ยง”
ดังที่เซียนมี่ หรือคุณทิวา ชินธาดาพงศ์ ได้เคยกล่าวไว้ว่า “คนฉลาดที่ไม่ซื่อสัตย์.. น่ากลัวที่สุด”
ทีนี้ถ้าถามว่า ในเรื่องของการทุจริต มีวิธีอะไรบ้าง ที่ผู้บริหารบริษัท สามารถใช้ยักยอกเงินออกไปจากบริษัทตัวเอง ?
เพื่อที่เราในฐานะนักลงทุน จะสามารถรู้และใช้สแกนผู้บริหารได้
โดยผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจสั่งการในบริษัท อาจใช้ช่องทางต่าง ๆ ในการยักยอกเงินออกจากบริษัทที่ตนเองทำงานให้ โดยวิธีที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากบริษัท เช่น ค่ารถส่วนตัว, ค่าที่พักอาศัย, ค่าอาหารการกินเลี้ยง โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือเบิกค่าใช้จ่ายเกินจริง
2. การสร้างรายการค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินเท็จ แล้วยักยอกเงินออกจากบริษัท เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา, ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์หรือเครื่องจักร, ค่าจัดซื้อวัตถุดิบ โดยที่ไม่มีการดำเนินการ หรือการส่งมอบวัตถุดิบจริง ๆ
3. การสร้างรายได้ปลอมของบริษัท เช่น ยอดขายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง,
ลูกหนี้การค้าปลอม
เพื่อให้ผลประกอบการดูดีเกินจริง
แล้วจ่ายผลตอบแทนแก่ตนเอง ในรูปแบบโบนัส เป็นต้น
4. การรับสินบนหรือค่านายหน้าพิเศษ ทั้งในรูปแบบเงินหรือสินทรัพย์ ตลอดจนผลประโยชน์อื่น ๆ จากคู่ค้าของบริษัท และใช้อำนาจของตน ในการเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่ค้าดังกล่าว
5. การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ภายในบริษัท เช่น ให้ข้อมูลการประมูลล่วงหน้า, การล็อกสเป็ก และการรับสินบนจากผู้ประมูล
6. การขายทรัพย์สินของบริษัท ให้แก่บริษัทของตนเอง หรือพวกพ้อง ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก หรือแม้แต่โอนให้ฟรี ๆ
7. การจัดตั้งบริษัทลูก หรือบริษัทของตนขึ้น เพื่อรับเงินจากบริษัทแม่ โดยอาจเป็นการรับงานจากบริษัทแม่ หรือขายสินค้า-ทรัพย์สินแก่บริษัทแม่ ในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อพร่องเงินออกจากบริษัทแม่
8. การใช้อำนาจหน้าที่ ในการสั่งการหรืออนุมัติให้บริษัทจ่ายเงิน ไปจนถึงการปล่อยกู้เงิน ไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่นโดยไม่สมเหตุสมผล
เช่น ปล่อยกู้แก่บริษัทส่วนตัวของผู้บริหาร หรือญาติของผู้บริหาร ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ต่ำมาก ๆ หรือไม่คิดดอกเบี้ยเลย..
โดยวิธีการเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของการฉ้อโกง ที่ล้วนเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของผู้บริหาร ซึ่งมักกลายมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทล้มได้ แม้จะใหญ่แค่ไหนก็ตาม..
ที่สำคัญ ยังถือเป็นการกระทำที่ผิดทั้งในแง่ของจรรยาบรรณ และสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายด้วย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็มีตัวอย่างของการกระทำเหล่านี้ ออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ
ซึ่งนักลงทุนก็ควรจะระมัดระวังการลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารเหลี่ยมหรือไม่ซื่อสัตย์เช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินลงทุนของเรา ต้องสูญหายไปอย่างน่าเจ็บใจ..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
- รายการคุยกับมี่ลงทุนวันนี้มีอะไร EP12 : การวิเคราะห์ผู้บริหาร - Money Chat Thailand!
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon