AI กับความท้าทายด้านพลังงาน ในมุมมองของ บางจากฯ

AI กับความท้าทายด้านพลังงาน ในมุมมองของ บางจากฯ

AI กับความท้าทายด้านพลังงาน ในมุมมองของ บางจากฯ
บางจาก X ลงทุนแมน
อนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า มนุษย์เราแต่ละคนอาจมี AI ประจำตัว เหมือนอย่าง โทนี สตาร์ก ในหนังเรื่อง ไอรอนแมน ที่มี จาร์วิส AI อัจฉริยะคอยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือแทบทุกเรื่อง จะเป็นไปได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ วันนี้ AI ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในวงจรการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และที่สร้างแรงสั่นสะเทือนกว่านั้นคือ บริษัทระดับโลก รวมถึงในเมืองไทย เลือกจะใช้ AI เข้ามาขับเคลื่อน สร้างความได้เปรียบในธุรกิจอย่างหลากหลายมิติ
ทุกสิ่งในโลกล้วนมี 2 ด้านเสมอ เมื่อการมาของ AI ได้สร้างประโยชน์มหาศาล ผลเสียก็มีมากมายเช่นกัน อย่างที่เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ เช่น AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานคนในบางตำแหน่งงาน หรืออาจทำให้มนุษย์ขาดความคิดเชิงวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ เลือกพึ่งพา AI อย่างเดียว
ส่วนอีกเหตุผลคือ AI เป็นจอมเขมือบพลังงานไฟฟ้า ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าประเด็นนี้หลายคนอาจไม่เคยคิดมาก่อน
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจในงาน Greenovative Forum ครั้งที่ 14 “Crafting Tomorrow's Future with Sustainable Energy and AI”
ทำไม CEO ของบริษัทบางจากมองว่า AI เป็นความท้าทายด้านพลังงานอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ?
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ข้อมูลจาก Goldman Sachs ระบุว่า การใช้ ChatGPT เพื่อสรุปข้อมูล 1 ครั้ง จะใช้พลังงานไฟฟ้าประมวลผลเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้ Google หาข้อมูล 1 ครั้ง
ลองคิดดูว่า หากเปลี่ยนเป็นใช้โปรแกรม AI อื่น ๆ ที่เป็นขั้นสูง จะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6-15 เท่า ขึ้นอยู่กับแต่ละโปรแกรมของ AI
ทีนี้ลองขยับมาดูภาพใหญ่ขึ้นกว่าเดิมนั่นคือ Data Center ที่เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ ทำหน้าที่จัดเก็บและบริหารข้อมูล โดยในยุคที่เราใช้ Cloud เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นการใช้ Data Center 2.0 ที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า 30-100 เมกะวัตต์ ต่อ 1 Data Center ในการทำงาน
หากเป็นการใช้ AI จะต้องใช้ Data Center 3.0 ที่ต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 300-1,000 เมกะวัตต์ ต่อ 1 Data Center ในการทำงาน และ Data Center จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีความเสถียรสูง ในการรองรับการทำงาน เนื่องจากเป็นการทำงานแบบ 24x7 เพื่อไม่ให้เกิดการขัดข้องในการบริการและประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ
ที่น่าตกใจกว่านั้น หากต้องรองรับ OpenAI ที่ใช้เพื่อการพัฒนาและควบคุม AI และครอบคลุมพื้นที่แบบวงกว้าง จำเป็นต้องใช้ Data Center ที่มีพื้นที่กว่า 2 ล้านตารางเมตร และใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 5 กิกะวัตต์ เทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าของโรงกลั่นบางจากรวมกัน 100 โรง
โดยปัจจุบัน Data Center ที่สนับสนุนการใช้งาน AI ทั่วโลก ใช้พลังงานไฟฟ้าราว ๆ 70 TWH เท่ากับ 130% ของการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
และหากประชากรวัยทำงาน 2,000 ล้านคนทั่วโลก พร้อมใจกันใช้ AI เวลาเดียวกัน จะใช้ไฟประมาณ 85,000 TWH เท่ากับการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 1,600 เท่าเลยทีเดียว
การใช้ไฟฟ้ามหาศาลขนาดนี้ ทำให้เราได้เห็นบรรดา Big Tech Company ระดับโลกต่างมาลงทุน Data Center ในประเทศไทย จนทำให้เกิดความกังวลว่า หากประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลาง Data Center อาจเผชิญวิกฤติเหมือนอย่างไอร์แลนด์ ในปี 2023 ที่ Data Center มีการใช้ไฟฟ้าปริมาณเพิ่มขึ้น 400% จนส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนในประเทศ
โดยคุณชัยวัฒน์ เล่าต่อว่า หลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญไปที่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ จนถึงพลังงานนิวเคลียร์ อย่างที่เห็น Google, Microsoft, Amazon ตกลงดีลธุรกิจกับโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในการนำพลังงานไฟฟ้าเพื่อมาขับเคลื่อน AI
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อยในกลุ่มบางจาก ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กำลังมองว่า การมาของ AI ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในปริมาณที่มาก รวมไปถึง Data Center ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์หลายเท่า
ทำให้ ณ เวลานี้ บีซีพีจี เฝ้ามองโอกาสทางธุรกิจตรงนี้ที่เปิดกว้าง และหากมองเห็นโอกาสนั้นแล้วก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรูปแบบลงทุนเอง หรือร่วมมือกับพันธมิตร
อีกเรื่องที่คุณชัยวัฒน์ สรุปไอเดียไว้อย่างน่าสนใจก็คือ แนวคิด DNA Data Storage ที่เป็นการปฏิวัติระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โดย DNA Data Storage หากเทียบให้เห็นภาพเป็นเหมือนเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็ก ซึ่งมีความจุต่อพื้นที่สูง การจัดเก็บและบีบอัดข้อมูล เลียนแบบการทำงานของ DNA ของสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการใช้งานจากพลังงานที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
หากทำได้สำเร็จ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดการใช้พลังงานสำหรับหล่อเลี้ยงการทำงานของ Data Storage ของ AI และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับ Data Center แบบดั้งเดิม
จะเห็นว่า สุดท้ายแล้ว ทางออกของเรื่องนี้ก็คือทุกคนต้องการคำว่า “สมดุล” มนุษย์เองต้องพัฒนาทักษะและวิธีการทำงานร่วมกับ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานมากกว่าจะใช้ AI เพียงอย่างเดียว
ลองคิดดู หากทุกบริษัทในทุก ๆ อุตสาหกรรมหันมาใช้ AI แทนการใช้แรงงานมนุษย์กันหมด
โลกใบนี้ก็จะมีแต่ Supply บริการและสินค้าที่เกิดจาก AI เต็มไปหมด แต่กลับไม่มี Demand หรือกำลังซื้อจากผู้บริโภค เพราะโดน AI เข้ามาแทนที่
ขณะเดียวกัน การมาของ AI จำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล ทำให้มนุษย์เองต้องเตรียมความพร้อมสารพัดวิธี เพื่อให้การใช้พลังงานในอนาคต เกิดความสมดุลทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดก็เพื่อให้ AI + มนุษย์ + พลังงาน + สิ่งแวดล้อม = ความยั่งยืน และคนที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงได้ในอนาคตก็คือ มนุษย์เราทุกคน ที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน
ที่สำคัญคือ เราต้อง ปรับตัว ปรับทัศนคติ ในการใช้ชีวิต ในการใช้ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ตัวเอง ไม่ใช่ให้ AI มา Disruption ตัวเราเองให้หายไป..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon