ผ่าตัดธุรกิจ Broadcom ทำอะไร ทำไมสำคัญในวงการชิป ?

ผ่าตัดธุรกิจ Broadcom ทำอะไร ทำไมสำคัญในวงการชิป ?

ผ่าตัดธุรกิจ Broadcom ทำอะไร ทำไมสำคัญในวงการชิป ? /โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงบริษัทเบื้องหลัง ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญให้กับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ อย่าง Apple, Tesla, Microsoft, Google หรือ Meta
แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น บริษัทผู้ออกแบบและพัฒนาชิป อย่าง NVIDIA, Intel, AMD หรือ Qualcomm
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกบริษัทหนึ่ง ที่เรียกได้ว่า คร่ำหวอดด้านการออกแบบและพัฒนาชิป แต่เราอาจจะไม่คุ้นชื่อเท่าไรนัก
ซึ่งในปัจจุบัน มูลค่าของบริษัทนี้ แซงหน้าทุกบริษัทที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมด ยกเว้น NVIDIA เพียงบริษัทเดียว..
บริษัทนั้นก็คือ Broadcom
โดย Broadcom มีมูลค่าบริษัทมากถึง 29 ล้านล้านบาท
ถือว่าเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 11 ของโลก
อีกทั้งยังมีมูลค่าบริษัทใกล้เคียงกับ TSMC ผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน
แล้ว Broadcom มีดีอะไร ?
ทำไมถึงกลายเป็นบริษัทพัฒนาชิป ที่มีมูลค่ามากขนาดนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เส้นทางของ Broadcom มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการเป็นแผนกพัฒนาชิปแผนกหนึ่งของ Hewlett-Packard หรือ HP เมื่อปี 1961 หรือ 62 ปีก่อน
มาจนถึงช่วงทศวรรษ 1990s ที่อุตสาหกรรมผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ กำลังเติบโต
HP ก็ได้เห็นโอกาสนี้ จึงตัดสินใจแยกธุรกิจในเครือของตัวเอง
โดยเอาธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ธุรกิจเครื่องมือวัด ธุรกิจวิเคราะห์ผลแล็บเคมี และธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์
ไปแตกเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Agilent Technologies
พร้อมกับ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในปี 1999
ซึ่ง Agilent Technologies ที่ได้ IPO ไปในตอนนั้น สามารถระดมทุนได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท
ถือว่าเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่ามากที่สุด ตั้งแต่ที่ได้ก่อตั้งซิลิคอนแวลลีย์ในเวลานั้น
แต่หลังจากที่ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นาน Agilent Technologies ก็ได้เจอกับวิกฤติดอตคอม ที่เกิดขึ้นในปี 2000
ผลจากวิกฤติดอตคอม ทำให้ Agilent Technologies มีรายได้ตกลงอย่างมาก จนเกิดปัญหาขาดทุน
บริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ปรับโครงสร้างองค์กร และขายธุรกิจหลาย ๆ ส่วนที่อยู่ในบริษัททิ้งไป ไม่ว่าจะเป็น
- ขายธุรกิจเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับ Philips แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2001
- ขายธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับบริษัทจัดการกองทุน 2 แห่ง นั่นก็คือ Silver Lake Technology และ KKR & Co. Inc. ในปี 2005
บริษัทจัดการกองทุน 2 แห่ง ได้ซื้อธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ไปด้วยมูลค่า 110,000 ล้านบาท แล้วตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อว่า Avago Technologies
ซึ่ง Avago Technologies ก็ได้ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี 2009 หรือ 4 ปีต่อมา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Broadcom ในปี 2016
ตั้งแต่ที่ Broadcom ได้ IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ไป
Broadcom ก็ได้เข้าซื้อกิจการเทคโนโลยีอื่น ๆ อยู่หลายบริษัทด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น
- ซื้อบริษัท LSI Corporation บริษัททำเซมิคอนดักเตอร์ และฮาร์ดไดรฟ์เก็บข้อมูล ในปี 2014
- ซื้อบริษัท Symantec บริษัทจัดการด้านความปลอดภัย ของข้อมูลและซอฟต์แวร์ภายในองค์กร เมื่อปี 2019
- ซื้อบริษัท VMware บริษัททำธุรกิจ Cloud Storage และเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ในปี 2023
ซึ่งการที่ Broadcom ซื้อบริษัทเทคโนโลยีเข้ามาเรื่อย ๆ แบบนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ Broadcom มีธุรกิจที่หลากหลายขึ้น และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ของบริษัทเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบัน Broadcom มีธุรกิจอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ นั่นคือ
- ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ (Software Infrastructure)
โดย Broadcom จะทำทั้งธุรกิจรับออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แล้วส่ง Outsource ว่าจ้างให้โรงงานข้างนอกผลิตให้อีกทีหนึ่ง
ดังนั้น หากพูดถึงคู่แข่งของ Broadcom แน่นอนว่าหลัก ๆ ต้องเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก
อย่าง NVIDIA, Qualcomm, AMD และ Intel จากสหรัฐอเมริกา
MediaTek จากไต้หวัน
Samsung จากเกาหลีใต้
แม้จะมีคู่แข่งเยอะ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Broadcom ก็มีนวัตกรรมเด่น ๆ มากมาย มาใช้สู้ในสมรภูมิ อย่างเช่น
- Optical Mouse Sensor อุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจจับพื้นผิว สำหรับเมาส์คอมพิวเตอร์แบบเรืองแสง ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน
Broadcom เป็นบริษัทแรกที่พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ เพื่อส่งออกขายอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 1999
โดยลูกค้ารายแรกที่ใช้ Optical Mouse Sensor ของ Broadcom ก็คือ Microsoft นั่นเอง
ซึ่งต่อมาในปี 2009 Broadcom สามารถผลิต Optical Mouse Sensor แล้วส่งออกได้มากกว่า 1,000 ล้านชิ้น
- ชิป ASIC หรือ Application Specific Integrated Circuit
เป็นวงจรชิปความเร็วสูง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ จึงมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า ชิปประมวลผล CPU และ GPU
เช่น ไว้เป็นชิปประมวลผลสำหรับ Data Storage หรือ Cloud Center เอาไว้ใช้กับ AI หรือ Machine Learning ไปจนถึงการนำเครื่องที่มีชิป ASIC ไปขุดเหมืองบิตคอยน์
Broadcom ได้พัฒนาชิปแบบ ASIC มาตั้งแต่ปี 2006
โดยชิปตัวแรกที่ Broadcom ได้พัฒนา เป็นเทคโนโลยีระดับ 65 นาโนเมตร
แต่มี Bandwidth หรือความเร็วในการรับส่งข้อมูล อยู่ที่ 12.5 Gbps
ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลเท่านี้ เทียบเท่ากับว่าเราสามารถใช้ชิป ASIC รุ่นนี้ ดาวน์โหลดภาพยนตร์ขนาดความละเอียด 4K สัก 1 เรื่อง จะใช้เวลาเพียง 13 วินาที
ล่าสุด Broadcom ก็สามารถพัฒนาชิปแบบ ASIC ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีขนาดเล็กกว่า 7 นาโนเมตร แถมมี Bandwidth หรือความเร็วในการรับส่งข้อมูล อยู่ที่ 51.2 Tbps
ด้วยความเร็วเท่านี้ สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์ขนาดความละเอียด 4K ได้มากกว่า 300 เรื่อง ภายใน 1 วินาทีเท่านั้น..
ซึ่ง Broadcom ก็เป็นบริษัทแรกที่สามารถทำชิป ASIC ประสิทธิภาพสูง ส่งออกขายได้เป็นจำนวนมาก
และล่าสุดปีนี้ ก็มีข่าวว่า Broadcom กำลังซุ่มพัฒนาชิป AI ขั้นสูงที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 5 นาโนเมตร
- FBAR Filters หรือ Film Bulk Acoustic Resonator
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนี้ จำเป็นต้องมีอย่างมากในสมาร์ตโฟนที่รองรับสัญญาณ 5G
FBAR Filters จะทำหน้าที่เป็น Frequency Filtering หรือก็คือ เป็นตัวกรองคลื่นความถี่
เพื่อหาความถี่ในการรับส่งข้อมูลที่เหมาะสม ให้กับอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน
เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้ สามารถรับส่งข้อมูล และประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดย Broadcom ก็ได้พัฒนาชิ้นส่วน FBAR Filters สำหรับสมาร์ตโฟน มาขายตั้งแต่ปี 2013 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน
จนกระทั่งในขณะนี้ Broadcom ก็ได้เป็นเจ้าตลาดผู้พัฒนา และผลิตชิ้นส่วน FBAR Filters ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยแบรนด์สมาร์ตโฟนรายใหญ่ทั่วโลก อย่าง Apple, Samsung และ Oppo ก็ใช้ชิ้นส่วน FBAR Filters จาก Broadcom เช่นกัน
และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Broadcom ก็ได้พัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ 5G Radio Switch
ซึ่งก็คือชิ้นส่วนที่จะช่วยประมวลผลให้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต สามารถปรับความถี่ เพื่อให้รับข้อมูลในรูปแบบของสัญญาณ 5G ได้
จากทั้งหมดนี้ เห็นได้ว่า Broadcom เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาชิ้นส่วน 5G บนสมาร์ตโฟนได้ ซึ่งมีเพียงแค่ไม่กี่บริษัทบนโลกเท่านั้น ที่มีเทคโนโลยี 5G เหล่านี้
จน Broadcom กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ไฟแรง ที่มีเทคโนโลยี 5G สำหรับสมาร์ตโฟน ต่อจากคู่แข่งในปัจจุบัน อย่าง
- Qualcomm จากสหรัฐอเมริกา
- MediaTek จากไต้หวัน
- Tsinghua Unigroup จากจีน
และในปี 2023 Broadcom ก็เนื้อหอมไปอีก
เพราะ Apple ได้เข้ามาทำข้อตกลงกับ Broadcom ด้วยมูลค่า หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อพัฒนา ออกแบบ และผลิตชิ้นส่วน 5G ให้กับอุปกรณ์สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต
โดย Broadcom พัฒนาชิป 5G Radio Switch, FBAR Filters ไปจนถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับ Wireless ที่สำคัญ ๆ ร่วมกับ Apple
นอกจากนี้ Broadcom ยังรับจ้างผลิตชิ้นส่วน FBAR Filters ให้กับ Apple เองด้วย
โดยผลิตที่โรงงานของ Broadcom เอง ที่เมืองฟอร์ตคอลลินส์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า จากข้อตกลงที่ได้ทำกับ Apple ทำให้ Broadcom เริ่มตั้งไลน์ผลิตชิ้นส่วนด้วยตัวเองอย่างจริงจัง เป็นครั้งแรก
และก็ต้องบอกว่า สำหรับการวิจัย พัฒนา และผลิตชิ้นส่วน 5G นั้น Apple เองก็ต้องการร่วมมือกับซัปพลายเออร์ภายในประเทศตัวเองมากขึ้น
เพื่อลดการพึ่งพาซัปพลายเออร์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนจากประเทศอื่น อย่าง TSMC ของไต้หวัน และ Samsung ของเกาหลีใต้
ทีนี้ เรามาดูรายได้และกำไรของ Broadcom ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2021
รายได้ 930,500 ล้านบาท
กำไร 218,200 ล้านบาท
อัตรากำไร 23%
ปี 2022
รายได้ 1,125,500 ล้านบาท
กำไร 380,400 ล้านบาท
อัตรากำไร 34%
ปี 2023
รายได้ 1,214,200 ล้านบาท
กำไร 477,400 ล้านบาท
อัตรากำไร 39%
ซึ่งหากเราไปดูสัดส่วนรายได้ของ Broadcom ทุก ๆ 100 บาท ก็จะมาจาก
- ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ 79 บาท
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ 21 บาท
ที่น่าสนใจคือ Broadcom มีอัตรากำไรที่สูงมาก
หลัก ๆ เป็นเพราะบริษัทมีนวัตกรรม ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาด จึงมีความสามารถในการกำหนดราคา และยอดขายเติบโต
ในขณะเดียวกัน Broadcom ก็มีความสามารถในการควบคุมต้นทุน จนรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ไหลลงไปเป็นกำไร
สุดท้ายนี้ ด้วยนวัตกรรมที่มีอยู่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างชิป ASIC ที่เป็นเหมือนสินค้าเรือธงของ Broadcom
ที่ต้องพัฒนาให้เร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อย ๆ
ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ไว้รองรับเทคโนโลยี 5G
ทั้งหมดนี้ทำให้ Broadcom ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรม จนกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
สูงกว่าบริษัท HP อดีตบริษัทแม่ผู้ที่แตก Broadcom เป็นบริษัทใหม่ออกมา ถึง 23 เท่า
สำหรับราคาหุ้นย้อนหลังของ Broadcom
1 ปีย้อนหลัง +91%
5 ปีย้อนหลัง +447%
ซึ่งถ้าเราใช้เงิน 1 ล้านบาท ซื้อหุ้น Broadcom เมื่อ 10 ปีก่อน
ในตอนนี้มูลค่าของหุ้น Broadcom ที่เราถือ จะกลายเป็น 18 ล้านบาท เลยทีเดียว..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เมื่อปี 2017 Broadcom เคยเสนอซื้อกิจการของ Qualcomm ทั้งหมด ด้วยมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท
แต่บริษัท Qualcomm กลับปฏิเสธดีลนี้ทันที..
ซึ่งตอนนี้ Qualcomm มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 6.1 ล้านล้านบาท
—-----------------------
Broadcom เป็น 1 ใน 30 บริษัทที่จะอยู่ใน MEGAWORLD30
เปิดจอง IPO กองทุน MEGAWORLD30 วันที่ 11-17 ธ.ค. 2567 นี้
- ร่วมเป็นเจ้าของ 30 บริษัทชั้นนำระดับโลก MEGAWORLD30 เสนอขาย 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดสะสมมูลค่า ( MEGAWORLD30-A) และชนิดเพื่อการออม ( MEGAWORLD30-SSF)
MEGAWORLD30 เป็นกองทุนที่จะเข้าไปลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้
-ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) หรือ
-ตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq Stock Market: NASDAQ) หรือ
-ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange: HKEx) หรือ
-ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange: TSE) หรือ
-ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่มยูโรโซน (Eurozone) เฉพาะหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบในดัชนี EURO STOXX 50
กองทุนมีการบริหารแบบ Rules based Approach โดยพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด และมีสภาพคล่อง
รวมถึงปัจจัยที่ผู้จัดการกองทุนพิจารณาเพิ่มเติม เช่น คัดเลือกจากอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และ/หรือ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ผู้จัดการกองทุนกำหนด เป็นต้น จำนวน 30 บริษัท เช่น Nvidia, Apple, Microsoft, Meta, ASML, TSMC, Novo Nordisk, Tencent, Netflix, LVMH และ Hermès*
โดยกองทุนจะมีการลงทุนที่ส่งผลให้มี Net Exposure ในตราสารทุนข้างต้นโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในรูปของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ ยูโร ฮ่องกงดอลล่าร์ และ/หรือ เยน ตามรอบการปรับสมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุน (Rebalance) และการปรับรายชื่อหลักทรัพย์
กองทุนรวมนี้ มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
*บริษัทดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามเกณฑ์การลงทุนและสภาวะการณ์การลงทุน ณ ขณะนั้น
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดและเริ่มต้นลงทุนได้ที่ บลจ.ทาลิส 02-0150215, 02-0150216, 02-0150222 หรือ www.talisam.co.th และผู้สนับสนุนการขายหลายราย
คำเตือน: กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน และควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน SSF กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร และการลงทุนในกองทุนรวมตราสารแห่งทุนอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon