ทำไมบางมูลนิธิ ถึงติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทแสวงหากำไร

ทำไมบางมูลนิธิ ถึงติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทแสวงหากำไร

ทำไมบางมูลนิธิ ถึงติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทแสวงหากำไร /โดย ลงทุนแมน
หากเราลองไล่รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ของหลาย ๆ บริษัท
โดยทั่วไป นอกจากชื่อของบุคคลธรรมดาแล้ว
ก็มักจะมีชื่อของบริษัทห้างร้าน กองทุน หรือนิติบุคคลอื่น ๆ เข้ามาติดอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย
และถ้าหากบริษัทไหน เป็นธุรกิจครอบครัว ก็อาจมีชื่อของ Holding Company ที่เป็นของครอบครัวผู้ก่อตั้ง เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แทนการถือหุ้นโดยตรงจากบุคคลในครอบครัว
แต่ในบางครั้ง กลับมีชื่อมูลนิธิ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย
ตัวอย่างเช่น
- Rolex มีมูลนิธิ Hans Wilsdorf Foundation เป็นเจ้าของ
- Inter IKEA Group เจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์ IKEA มีมูลนิธิ Interogo Foundation ถือหุ้นอยู่
แล้วทำไมมูลนิธิ ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กลับมาถือหุ้นของบริษัทเอกชน
รวมถึงมีส่วนร่วมในผลกำไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
มูลนิธิ มักมากับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เช่น กฎหมายในบางประเทศ มีการยกเว้นภาษีให้กับมูลนิธิ ที่ก่อตั้งและดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงการไม่ต้องเสียภาษีจากเงินปันผล ที่ได้จากการถือหุ้นด้วย
ทั้งนี้ การถือหุ้นของมูลนิธิ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ ผลพลอยได้จากการนำมูลนิธิ มาเป็นผู้ถือหุ้น ก็เหมือนการเอานิติบุคคลที่เป็นบริษัท มาถือหุ้น
โดยทั่วไป มูลนิธิมักมีเป้าหมายที่มั่นคง และไม่เน้นผลตอบแทนระยะสั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะถือหุ้นในระยะยาว
เลยจะไม่มีการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ แต่จะขายหุ้นเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
จึงช่วยปกป้องบริษัท (ที่ถูกถือหุ้นอยู่) จากการเข้าครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) จากบุคคลภายนอก ได้อีกทางหนึ่ง
แต่การถือหุ้นโดยมูลนิธิ แตกต่างจากการถือหุ้นโดยบริษัทตรงที่ มูลนิธิมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ว่าไม่แสวงหาผลกำไร
แต่จะเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น สนับสนุนการศึกษาและงานวิจัย ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในด้านต่าง ๆ
ซึ่งมูลนิธิจะมีคณะกรรมการคอยกำกับดูแลการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของมูลนิธิที่ได้กำหนดไว้ โดยไม่ใช่เพื่อผลกำไรของผู้ก่อตั้งมูลนิธิ
ทำให้การถือหุ้นโดยมูลนิธิ จึงมักจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อทิศทางการบริหารบริษัทเลย ต่างกับการถือหุ้นโดยบริษัท ที่มักจะหวังผลกำไรจากการถือหุ้น จึงกดดันฝ่ายบริหารของบริษัทเป็นระยะ ๆ
และในบางครั้ง แม้จะเป็นบริษัทของครอบครัวที่มาถือหุ้นแทนสมาชิก แต่ก็อาจมีปัญหาจากความขัดแย้งภายในครอบครัว ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการแบ่งมรดก
รวมถึงสมาชิกบางคน อาจไม่สนใจที่จะทำธุรกิจแล้ว ทำให้บริษัทเสียทิศทาง หรือดำเนินการผิดจากความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง
การใช้มูลนิธิมาถือหุ้นของบริษัทแทน จึงช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ และทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก หากเกิดความขัดแย้งของคนในครอบครัวขึ้น
อย่างเช่น Rolex มีมูลนิธิ Hans Wilsdorf Foundation ที่ก่อตั้งโดยคุณ Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้ง Rolex
โดยหลังจากที่เขาเสียชีวิต หุ้นทั้งหมดใน Rolex ของเขา ได้ถูกโอนให้มูลนิธิ Hans Wilsdorf Foundation ไป
ซึ่งส่วนแบ่งกำไรที่มูลนิธิได้จากบริษัท ก็มักจะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมการกุศลและส่งเสริมการศึกษา
ที่สำคัญ การมีมูลนิธิเป็นผู้ถือหุ้นและควบคุมกิจการ ทำให้ Rolex แทบจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสมาชิกครอบครัว ในการดำเนินธุรกิจ
แถมยังสามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างยั่งยืน และโฟกัสภาพระยะยาวได้ เพราะไม่ถูกผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ที่มองแต่ผลกำไรในระยะสั้น เข้ามากดดันฝ่ายบริหาร
นอกจากเคสที่มูลนิธิของผู้ก่อตั้ง เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของผู้ก่อตั้งแล้ว บางครั้งเรายังเห็นมูลนิธิ เข้าไปถือหุ้นในกิจการอื่น ๆ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันตั้งแต่แรก
เสมือนเป็น Holding Company ที่กระจายการลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ
แล้วทำไมมูลนิธิ ถึงต้องเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้งบริษัท ทั้งที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ?
คำตอบคือ เพราะตัวมูลนิธิเองก็ต้องกิน ต้องใช้ และมีค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมา
ซึ่งแม้ในบางครั้ง เงินเหล่านั้นอาจได้รับมาจากการบริจาค แต่ก็ไม่สม่ำเสมอ เพราะผู้ก่อตั้งหรือผู้สนับสนุนเก่า ๆ ก็อาจไม่ได้ส่งเงินเข้ามาให้มูลนิธิ ได้ตลอดเวลา
ตัวมูลนิธิเอง จึงต้องมี “อิสรภาพทางการเงิน” เป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นคำว่า “ไม่แสวงหาผลกำไร” ของมูลนิธิ จึงหมายถึงการที่มูลนิธิ ไม่ได้ดำเนินการเพื่อสร้างผลกำไรให้กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อนำผลตอบแทนเหล่านั้น กลับมาช่วยเหลือสังคม
โดยนอกจากเงินบริจาคแล้ว การเข้าถือหุ้นในบริษัท ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สร้างรายได้ให้มูลนิธิ เพื่อนำไปใช้จ่าย และดำเนินการให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของมูลนิธินั่นเอง
ตัวอย่างเช่น มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ของคุณ Bill Gates ที่มีจุดมุ่งหมาย ในการปรับปรุงการบริหารสุขภาพและลดความยากจนทั่วโลก
โดยมูลนิธิแห่งนี้ ถือหุ้นในหลากหลายบริษัท ทั้ง Microsoft, Berkshire Hathaway, Waste Management, Canadian National Railway และ Walmart เป็นต้น
ซึ่งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation แม้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค แต่ก็ยังต้องมีรายได้จากการลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
โดยนำผลกำไรที่ได้มาสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เช่น พัฒนาระบบสาธารณสุข และการเข้าถึงน้ำสะอาด ในประเทศกำลังพัฒนา
ถึงตรงนี้ เราก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมมูลนิธิ ถึงต้องเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ซึ่งก็เพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามายังมูลนิธินั่นเอง
การมีรายได้จากการลงทุน ช่วยให้มูลนิธิสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคเพียงอย่างเดียว
และการที่มูลนิธิ มีอิสรภาพทางการเงิน ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ก็เป็นการรับผิดชอบของมูลนิธิ ในการรักษาเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม ของผู้ก่อตั้ง ให้คงอยู่ต่อไปได้..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon