บสย. ช่วยคนไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้นอย่างไร?

บสย. ช่วยคนไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้นอย่างไร?

บสย. X ลงทุนแมน
“ถ้าพูดถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของคนไทย
สมมติว่าเขาต้องการกู้เงิน 2 ล้านบาท ธนาคารอาจจะขอหลักประกันมูลค่า 1 ล้านบาท
ถ้าเรามีเงินเก็บแค่ 200,000 บาท ก็คงกู้เต็ม 2 ล้านบาทไม่ได้
หลายคนจึงเปลี่ยนแนวไปใช้สินเชื่อส่วนบุคคล บ้านแลกเงิน รถแลกเงิน หรือสินเชื่อบัตรเครดิต เจอดอกเบี้ย 13-17%
ร้ายกว่านั้น ก็เลือกผิดไปกู้นอกระบบ เสียดอกเบี้ยรายเดือนที่สูงลิบ
เห็นไหมว่า ปัญหาหลัก ๆ ของ SMEs คือขาดหลักประกัน”
ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอด 33 ปี ภายใต้การทำงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ที่มองเห็นปัญหา และพยายามหาทางออกที่จะเป็นแสงสว่างให้คนไทย
ลงทุนแมน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถึงเรื่องราวที่ว่านี้
Collateral หรือหลักประกันสำคัญแค่ไหน ?
บสย. อยู่จุดใดในวงจรสินเชื่อคนไทย ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าพูดถึงหลักประกัน หลายคนน่าจะนึกถึงทรัพย์สินที่เรามี เช่น บ้าน, รถ, ที่ดิน ฯลฯ
แต่จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยมี บสย. ที่ทำหน้าที่หลักประกันให้กับคนไทย
ย้อนกลับไปในปี 2534 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ถูกก่อตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกํากับดูแลของกระทรวงการคลัง
หน้าที่หลัก ๆ เลยก็คือ ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
เพื่อให้กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่พอ ได้มีโอกาสได้รับวงเงินกู้ตามความต้องการ
แล้ว บสย. อยู่ตรงไหนของวงจรสินเชื่อคนไทย ?
คุณสิทธิกร เล่าว่า “SMEs ส่วนใหญ่ต้องยื่นกู้อย่างน้อย 3-4 แบงก์ กว่าจะผ่านสักครั้ง
ยิ่งในช่วง 3 ปีแรกของ SMEs จะเป็นช่วงที่เปราะบางมากที่สุด โอกาสเป็นหนี้เสียสูงมาก แต่ถ้าผ่านไปได้ ก็จะแข็งแรงตั้งตัวได้สบาย
หน้าที่ของ บสย. จึงแบ่งเป็น 3 ช่วงหลัก ๆ คือ
1. ช่วงก่อนขอสินเชื่อ
บสย. มีศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินฟรี ๆ สำหรับทุกคนที่ต้องการคำปรึกษาในการขอสินเชื่อ
2. ช่วงขอสินเชื่อ
บสย. จะออกหนังสือค้ำประกัน ในการยื่นกู้กับสถาบันทางการเงิน
ฟรีค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 2 ปีแรก ค่าธรรมเนียมการค้ำฯ เฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี
3. ช่วงหลังขอสินเชื่อไปแล้ว ถ้ากลายเป็น NPL
บสย. มีมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” หรือมาตรการ 4 สี ตามความสามารถในการชำระหนี้ คือ ม่วง เหลือง เขียว ฟ้า มีจุดเด่น อาทิ ตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0%
ถ้าได้เข้ามาปรึกษากับ บสย. นอกจากความรู้ทางการเงิน ก็ยังขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ หรือการแก้ไขปัญหาหนี้เสียด้วย
ตลอด 33 ปีที่ผ่านมา บสย. ค้ำประกันให้ SMEs ไปมากกว่า 800,000 ราย
สัดส่วนกว่า 70% เป็นกลุ่ม Micro SMEs พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการสินเชื่อเฉลี่ย 90,000-120,000 บาท ซึ่งกลุ่มเปราะบางนี้ กำลังขยายตัวมากเรื่อย ๆ”
ดูเหมือนว่าบทบาทหลักของ บสย. คือการเป็นลมใต้ปีกให้กับเหล่า SMEs นั่นเอง
แล้วคนไทยจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน บสย. ได้อย่างไร ?
คุณสิทธิกร ตอบว่า “อยากให้มองว่า บสย. คือ SMEs’ Gateway
เมื่อไรก็ตามที่นึกถึงสินเชื่อ ให้นึกถึง บสย. ก่อนเลย คล้ายเป็นที่ปรึกษาที่จะเตรียมตัวเราให้พร้อมก่อนลงสนามขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ
สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมติดตัวมาด้วย 3 อย่าง คือ
1. แผนธุรกิจ
2. ประวัติทางการเงิน เช่น ภาระหนี้ที่มี, รายการเดินบัญชี 6 เดือน
3. วงเงินที่ต้องการ
แล้วลองมาปรึกษาฟรี ๆ ที่ “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. ได้เลย”
บสย. จะทำหน้าที่ Matching ความต้องการของ SMEs กับสินเชื่อที่เหมาะสมให้
โดยพื้นฐานของ บสย. มีการออกแบบ Product by Segment อยู่แล้ว
ยกตัวอย่าง
- กลุ่ม Smart Gen คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ ไอเดียพร้อม แต่ขาดเงินทุน
- กลุ่มประสบภัยพิบัติอย่างอุทกภัยล่าสุด ที่ต้องการสภาพคล่องในวันที่หลักประกันเสียหายไปหมดแล้ว
หรืออย่างกลุ่ม Smart Farmer ก็โดดเด่นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อาจจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรมากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง
แล้ว บสย. บริหารความเสี่ยงอย่างไร ?
คุณสิทธิกร ตอบว่า “จริง ๆ แล้ว การยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันเริ่มต้น 2 ปีแรก เพื่อช่วย SMEs รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ลดต้นทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ
จากนั้นในปีที่ 3-10 ลูกค้าค้ำประกันค่อยชำระ 1.75% ต่อปี
พูดง่าย ๆ ก็คือ ล้านละ 17,500 บาท เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ บสย. ยังได้พัฒนาแบบจำลองทางสถิติ Credit Scoring เครื่องมือการประเมินสุขภาพทางการเงินของผู้ที่จะขอสินเชื่อ และค้ำประกันสินเชื่อ มาใช้พิจารณาอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งในระดับ SME นิติบุคคล/บุคคลธรรมดา และ ระดับรายย่อย Micro SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ขาดหลักประกัน สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำการเข้าถึงสินเชื่อ ไปพร้อมกับการพิจารณาการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย.
ถึงตรงนี้ คุณสิทธิกร ยังฝากข้อคิดที่น่าสนใจไว้ด้วยว่า..
“หลายคนชอบเอาการทำบัญชี ไปผูกติดกับเรื่องของภาษี
ทั้งที่ความจริงแล้ว การทำบัญชีจะเห็นเลยว่า ต้นทุนขายเท่าไร ตัวเลขกำไรเท่าไร
พอตัวเลขเหล่านี้ชัดเจน โอกาสเดินทางผิดไปสู่สินเชื่อนอกระบบจะน้อยลง
ถ้าวันนี้ ตัวเรายังไม่เข้าใจหรือเข้าใกล้สิ่งเหล่านี้เลย
ลองแอด LINE OA ของ บสย. : @tcgfirst ลงทะเบียนฟรี 24 ชั่วโมง มาตรวจสุขภาพทางการเงินกันก่อนก็ได้
แล้วจะรู้ว่า โอกาสแหล่งเงินทุนของ SMEs เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ ในบ้านเรา”
Reference
-สัมภาษณ์โดยตรง คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยลงทุนแมน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon