ทำไมคนไทย ถึงยังคงตกเป็นเหยื่อ การฉ้อโกงทางการเงิน

ทำไมคนไทย ถึงยังคงตกเป็นเหยื่อ การฉ้อโกงทางการเงิน

ทำไมคนไทย ถึงยังคงตกเป็นเหยื่อ การฉ้อโกงทางการเงิน /โดย ลงทุนแมน
เคยสงสัยไหมว่า.. ทำไมถึงมีข่าวคนไทยถูกหลอก แทบไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งที่ในอดีต ก็มีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนัก โดยที่บางครั้ง ถึงขั้นเป็นคดีความโด่งดังด้วยซ้ำ
ซึ่งข่าวที่เรามักได้ยิน หลัก ๆ ก็มักหนีไม่พ้นการหลอกให้โอนเงินหรือหลอกให้ลงทุน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก็คือรูปแบบของการหลอกลวง
ตัวอย่างเช่น แชร์ลูกโซ่ ที่ในอดีตวงแชร์มักจะเกิดในลักษณะของการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก “ของคนใกล้ชิด” ซึ่งมักจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ อย่างในชุมชน ชมรม หรือสถานที่ทำงาน
และดึงดูดลูกแชร์โดยการรับปากว่า จะจ่ายผลตอบแทนสูง โดยอาจไม่ได้บอกรายละเอียดการลงทุน อย่างชัดเจนนัก
แต่แชร์ลูกโซ่ในวันนี้ อาศัยเทคโนโลยีเพื่อให้เข้าถึงเหยื่อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทาง Social Media และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
และจากที่เคยเป็นรูปแบบเดิม ที่แค่รับปากว่าจะให้ผลตอบแทนสูง (ซึ่งคนส่วนมากมักจะรู้ทันแล้ว) ก็เปลี่ยนมามีลูกเล่น เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง (ที่เหยื่อมักจะไม่เข้าใจ)
โดยอาจใช้คำศัพท์เก๋ ๆ ที่อาจเข้าใจยากหรือ Buzzword มาชักชวนให้เหยื่อหลงเชื่อแทน
แม้ที่ผ่านมา ภาครัฐ รวมถึงบรรดาองค์กรต่าง ๆ จะมีการรณรงค์ ไปจนถึงหามาตรการต่าง ๆ มาป้องกัน
แต่การฉ้อโกงก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา..
และถ้าหากให้ยก 3 สาเหตุหลักว่า
ทำไมคนไทยจำนวนไม่น้อย ถึงยังคง “ตกเป็นเหยื่อ” ของการฉ้อโกงเหล่านี้ จะมีอะไรบ้าง ?
1. ขาดความรู้ทางการเงิน
คนไทยจำนวนมาก ยังขาดความรู้ทางการเงิน ทั้งเรื่องการบริหารจัดการเงิน ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุน ผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลของแต่ละทรัพย์สิน ไปจนถึงการประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้
โดยบางคนถึงขั้นยังไม่รู้ว่า ชีวิตตัวเองควรเตรียม “เงินฉุกเฉิน” ให้เพียงพอ เผื่อกรณีที่ขาดรายได้ ไม่มีงานทำ ธุรกิจสะดุด หรือแม้แต่เจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายก้อนโต
ซึ่งจากข่าวที่เราได้ยิน หลายครั้งเงินที่เหยื่อเสียไปนั้น มักเป็น “เงินก้อนสุดท้ายของชีวิต” แสดงให้เห็นว่า หลาย ๆ คนนั้น ไม่ได้มีการเตรียมเงินฉุกเฉินที่พร้อมใช้งานเอาไว้เลย
2. เชื่อในความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะรวยเร็ว ซึ่งอาจมาจากความคาดหวังของครอบครัว หรือแรงกดดันทางสังคม
ทำให้มักตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง ที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ผลตอบแทน 30% ในหนึ่งสัปดาห์
โดยที่ไม่ได้ฉุกคิดถึงความเป็นไปได้ หรือความผิดปกติใด ๆ เลย
และถ้าหากเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ (ปลอม ๆ) จากการลงทุน ก็จะยิ่งกระตุ้นความโลภให้เหยื่อตัดสินใจลงทุนได้มากขึ้น
ยิ่งถ้าการลงทุนนั้น มีส่วนผสมของความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง เพิ่มเข้าไปด้วย
ความเสียหายนั้น ก็จะยิ่งมากเป็นทวีคูณด้วย..
3. เชื่อใจคนมากเกินไป
หลายครั้งที่การหลอกลวง มักมีต้นเหตุมาจากผู้คนที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว หรือคนที่มีชื่อเสียงอย่าง อินฟลูเอนเซอร์ ที่เราเห็นตามสื่อต่าง ๆ
การมาในรูปแบบของคนใกล้ชิด หรือคนที่ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือเหล่านี้ ทำให้เหยื่อบางราย ตัดสินใจที่จะลงทุนโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ดี
เพราะคิดว่าคนเหล่านั้น สกรีนมาให้แล้ว หรืออาจคิดว่าคนที่มีชื่อเสียง คงไม่เอาชื่อเสียงของตัวเองมาเสี่ยงอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้การหลอกลวง ขยายวงอย่างรวดเร็ว..
นอกจากนี้ การหลอกลวงบางครั้ง มาพร้อมกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้วิธีการขู่จะดำเนินคดี
ทำให้เหยื่อที่กลัวและไม่ทันคิด ตกหลุมพรางของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไปอย่างน่าเสียดาย
จะเห็นว่าทั้ง 3 สาเหตุนี้ ล้วนเป็นสาเหตุที่มาจากมุมของเหยื่อเองทั้งสิ้น ซึ่งวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ
- เพิ่มความรู้ทางการเงิน
- ไม่โลภเกินไป
- ไม่เชื่อใครง่าย ๆ
- ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า บนโลกนี้ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ
โดยก่อนที่จะลงทุนหรือโอนเงินอะไร เราควรจะต้องคิดให้ดี ยิ่งถ้าหากเป็นธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง ก็ยิ่งควรตั้งสติ คิดให้รอบคอบ ใช้เหตุและผลเข้ามาประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น
เพราะไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปนานแค่ไหน เรื่องแบบนี้ ก็จะยังคงมีมาอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่การแก้ไขจากทางภาครัฐ อาจยาก และมักจะไม่ทันการณ์
ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด จึงต้องมาจากตัวเราเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon