ไทยกำลังเป็น เต่าแห่งอาเซียน ไล่ตามเพื่อนบ้าน ในอุตสาหกรรมชิป

ไทยกำลังเป็น เต่าแห่งอาเซียน ไล่ตามเพื่อนบ้าน ในอุตสาหกรรมชิป

ไทยกำลังเป็น เต่าแห่งอาเซียน ไล่ตามเพื่อนบ้าน ในอุตสาหกรรมชิป /โดย ลงทุนแมน
วันก่อน มีข่าวดีว่าไทย กำลังจะมีโรงงานผลิตชิป
ต้นน้ำแห่งแรก ที่จังหวัดลำพูน
แต่รู้ไหมว่า ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง
สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนามแล้ว ไทยยังตามหลัง
ในอุตสาหกรรมชิปแบบไม่เห็นฝุ่น
แถมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยยังเสียส่วนแบ่งการ
ส่งออกชิปในตลาดโลก สวนทางกับเพื่อนบ้าน
ในอาเซียน ที่มีส่วนแบ่งการส่งออกเพิ่มขึ้นแทน..
ไทยตามหลังเพื่อนบ้านมากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ลงทุนนอก 5 ต.ค. งานรวมความรู้ ลงทุนต่างประเทศ ดูรายละเอียด และจองบัตรได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024
╚═══════════╝
ปีที่แล้ว ถ้าเราไปดูสัดส่วนการส่งออกแผงวงจรรวมหรือชิปทั่วโลก จะพบว่า
- จีน 34%
- ไต้หวัน 17%
- สิงคโปร์ 11%
- เกาหลีใต้ 9%
- มาเลเซีย 8%
ซึ่งตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมการส่งออกชิปเกินครึ่งโลก ถึงมาจากทวีปเอเชีย
คำตอบก็เพราะว่า การผลิตและตรวจสอบการทำงานของชิปส่วนใหญ่ทำในเอเชีย แต่การออกแบบและวิจัยชิปส่วนใหญ่ มาจากทวีปยุโรปกับอเมริกา
แต่คำถามต่อมาคือ แล้วไทยหายไปไหน ?
ในปีเดียวกัน ไทยส่งออกแผงวงจรรวมหรือชิป
คิดเป็น 1% ของทั่วโลกเท่านั้น
น้อยกว่าเวียดนาม ที่ส่งออกแผงวงจรรวมหรือชิป
3% ของทั่วโลกเสียอีก
พูดง่าย ๆ คือ ไทยส่งออกชิปน้อยกว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซียหลายเท่าตัว
ที่น่าสนใจกว่านั้น เวียดนามเคยส่งออกชิปใกล้เคียงกับไทย แต่พอผ่านไปแค่ 10 ปี กลับส่งออกเพิ่มขึ้น 3 เท่า จนแซงหน้าไทยไปแล้ว..
แล้วทำไม ไทยถึงตามหลังเพื่อนบ้าน ในอุตสาหกรรมชิป ?
เหตุผลแรกเลย คือ
“ไทยเน้นผลิตของราคาถูก ในอุตสาหกรรมชิป”
ของราคาถูกที่ว่านี้ ก็คือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เอาไปใส่ในชิปอีกทีหนึ่ง เช่น ทรานซิสเตอร์
โดยปัจจุบัน แม้ไทยครองส่วนแบ่งการส่งออกชิ้นส่วน
ตรงนี้แค่ 3% ของทั้งโลก แถมยังตามหลังเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะดี แต่ถ้าวัดในการแข่งขันของสงครามชิป การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าน้อยกว่าการส่งออกชิปประมวลผล หรือชิปหน่วยความจำ
หรือพูดอีกอย่างคือ ไทยกำลังผลิตวัตถุดิบราคาถูก
ให้กับอุตสาหกรรมชิป ที่กำลังเติบโตไปทั่วโลก
แถมปัจจุบัน ไทยยังเน้นส่งออกชิปทั่วไป ที่มีความซับซ้อนน้อย ต่างจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ส่งออกชิปที่มีความซับซ้อนมากกว่า
เหตุผลต่อมา คือ
“ไทยมีส่วนร่วม ในอุตสาหกรรมชิปน้อย”
ปัจจุบัน ประเทศในอาเซียนที่มีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมชิประดับโลกมากที่สุด นั่นคือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย
โดยสิงคโปร์ได้เปรียบด้านความเป็นเมืองท่า บวกกับนโยบายเขตอุตสาหกรรมของรัฐบาล ทำให้ผู้ผลิตชิประดับโลก เข้ามาตั้งโรงงานและคลังเก็บสินค้าสำหรับการส่งออก
ตัวอย่างเช่น
- UMC ผู้ผลิตชิปไต้หวัน อันดับ 3 ของโลก
- GlobalFoundries ผู้ผลิตชิปจากสหรัฐฯ อันดับ 4 ของโลก
- Infineon ผู้ผลิตชิปเฉพาะทางจากเยอรมนี
ส่วนมาเลเซีย กลายเป็นผู้นำธุรกิจตรวจสอบการทำงานของชิป ด้วยการตั้งเขตอุตสาหกรรมปลอดภาษีในช่วงปี 1970
จนตอนนี้มีบริษัทชิประดับโลกเข้ามาตั้งโรงงานมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น
- Intel บริษัทผลิตชิปจากสหรัฐฯ
- Hewlett Packard (HP) จากสหรัฐฯ
- OSRAM จากเยอรมนี
ทำให้บริษัทท้องถิ่นของมาเลเซีย เริ่มเปิดให้บริการรับตรวจสอบการทำงานของชิปมากขึ้น เช่น Inari Amertron Berhad ที่มีมูลค่าบริษัทหลักแสนล้านในปัจจุบัน
พอเป็นแบบนี้ เมื่อธุรกิจผลิตและตรวจสอบชิป ถูกประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนทำไปหมดแล้ว ทำให้ไทยรวมไปถึงเวียดนาม ทำได้แค่งานประกอบชิปที่ไม่ซับซ้อน และมูลค่าเพิ่มต่ำ
เช่น การตัดแผ่นเวเฟอร์ ที่เอาไปผลิตชิปต่อ
หรือการเอาชิปไปติดตั้งบนแผงวงจรพิมพ์ ที่เป็นแผ่นรอง
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมชิปที่น้อย แถมยังทำได้แค่งานที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ทำให้ไทยยังตามหลังเพื่อนบ้านในอาเซียนอยู่ห่างไกล
และเหตุผลสุดท้าย คือ
“ไทยพึ่งพาการนำเข้าชิปสูง เพื่อต่อยอดในประเทศ”
เวียดนามและไทย ต่างเป็นประเทศในอาเซียน ที่ขาดดุลการค้าชิป หรือพูดอีกอย่างคือ มีการนำเข้าชิปมากกว่าส่งออกชิปไปต่างประเทศ
เพราะสองประเทศนี้ เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญ
หลายอย่างระดับโลก ที่ต้องเอาชิปมาประกอบจำนวนมาก
โดยเฉพาะไทย ที่เป็นแหล่งผลิตรถยนต์อันดับ 10
ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
แถมยังเป็นประเทศที่ส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มากเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศเวียดนาม
ซึ่งพออุตสาหกรรมชิปในไทย ไม่ได้มีการผลิตในประเทศมากพอ จึงจำเป็นต้องนำเข้าชิปมาเป็นชิ้นส่วนสำคัญของการประกอบรถยนต์และคอมพิวเตอร์แทน
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าไทยจะล้าหลังเพื่อนบ้านอยู่มาก
แต่รู้ไหมว่า ไทยก็มีบริษัทวิจัยและออกแบบชิปเฉพาะทาง
ที่ใช้กับสัตว์แห่งเดียวในอาเซียนอย่าง บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SICT
ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้มีโรงงานผลิตชิปของตัวเอง เพราะทำแค่วิจัย พัฒนา และออกแบบชิป แล้วค่อยจ้างคนอื่นผลิตให้แทน
แต่ถ้าดูภาพรวมแล้ว ไทยก็ยังตามหลังอุตสาหกรรมชิป เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่มีจุดแข็งและจุดเด่นที่ต่างกันออกไป
เหมือนกับเต่าที่กำลังคลานไปอย่างช้า ๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกับกระต่าย ที่กำลังวิ่งนำหน้าไทยไปแล้ว
ถ้าเป็นในนิทานกระต่ายกับเต่า กระต่ายประมาทและทะนงตัวเองว่าวิ่งไวกว่า เลยชะล่าใจด้วยการนอนหยุดพักระหว่างทาง จนเต่าแซงเข้าเส้นชัยไปในที่สุด
แต่เกมในอุตสาหกรรมชิปปัจจุบัน เพิ่งอยู่ในช่วงต้น ยังไม่มีใครกำหนดเส้นชัยที่ชัดเจน เพราะเป็นตลาดที่กำลังโตไปเรื่อย ๆ
การแข่งขันนี้ จึงยังไม่มีกระต่ายหรือเต่าตัวไหน ที่เข้าเส้นชัย
ซึ่งในอนาคต การแข่งขันของอุตสาหกรรมชิปในอาเซียน จะมีตอนจบเช่นเดียวกับนิทานกระต่ายกับเต่า
หรือสุดท้ายแล้ว กระต่ายที่วิ่งเร็วอยู่แล้ว ก็คงวิ่งต่อไปโดยไม่มีทางชะล่าใจ และไม่ปล่อยให้เต่าแซงหน้าได้ เหมือนในนิทาน..
╔═══════════╗
ลงทุนนอก 5 ต.ค. งานรวมความรู้ ลงทุนต่างประเทศ ดูรายละเอียด และจองบัตรได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/longtunnork2024
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.worldstopexports.com/computer-device-exports-country/
-https://www.statista.com/statistics/584968/leading-car-manufacturing-countries-worldwide/
-https://assets.ey.com/content/dam/ey-sites/ey-com/en_us/topics/technology/ey-asean-semiconductor-publication.pdf?download
-https://www.oxfordeconomics.com/resource/asean-how-to-climb-the-semiconductor-value-chain/
-https://www.trademap.org
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon