TFEX เครื่องมือบริหารความเสี่ยง เพิ่มโอกาสผลตอบแทน แม้ตลาดผันผวน

TFEX เครื่องมือบริหารความเสี่ยง เพิ่มโอกาสผลตอบแทน แม้ตลาดผันผวน

TFEX x ลงทุนแมน
“ซื้อถูกขายแพง” หลักการง่าย ๆ ที่สร้างผลกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ในตลาดหุ้น
แม้จะฟังดูเหมือนง่าย แต่ความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครรู้หรอกว่า
ราคาที่เห็นเป็นจุดต่ำสุดหรือสูงสุดหรือยัง ?
ยิ่งกว่านั้น เมื่อไรก็ตามที่รู้ว่าตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือหุ้นตก
นักลงทุนหลายคนก็ยิ่งใจฝ่อ ไม่รู้จะบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนอย่างไรดี
แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว Pain Point เหล่านี้
ใคร ๆ ก็สามารถบริหารความเสี่ยง พร้อมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนพอร์ตลงทุนได้
ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ในตลาด TFEX
TFEX คืออะไร ?
แล้วจะช่วยบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
TFEX ย่อมาจาก Thailand Futures Exchange
หรือก็คือ ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าคล้ายตลาดหุ้น SET
เพียงแต่สินค้าที่เทรดใน TFEX ไม่ใช่หุ้น
แต่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Futures และ Options ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ทางการเงิน, สินค้าโภคภัณฑ์, สินค้าเกษตร หรือดัชนีต่าง ๆ เช่น
- ตราสารทุน เช่น ดัชนี SET50 และราคาหุ้นรายตัว
- ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย
- สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ โลหะเงิน
- อัตราแลกเปลี่ยน เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา
โดยประโยชน์หลัก ๆ ของ TFEX ที่ส่งผลดีต่อนักลงทุนไทย ก็เช่น
- เพิ่มโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าจะเป็นช่วงตลาดขาขึ้นหรือขาลง
- ช่วยบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
- ลงทุนแบบมาร์จิน (Margin) ได้ ใช้เงินลงทุนน้อย เพราะวางหลักประกันเพียงบางส่วน
ปัจจุบันนี้ TFEX เปิดให้ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 ประเภทหลักคือ ฟิวเจอร์ส (Futures) และ ออปชัน (Options)
อธิบายง่าย ๆ Futures ก็คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ระหว่างคู่สัญญาคือ “ผู้ซื้อ (Long Position)” กับ “ผู้ขาย (Short Position)” ตกลงราคาซื้อขายสินค้าอ้างอิง ณ ปัจจุบัน
โดยต้องส่งมอบสินค้าอ้างอิงและชำระราคา ณ วันที่สัญญาครบกำหนดอายุในอนาคต
ส่วน Options ก็คือ สัญญาซื้อขายสิทธิ
ระหว่างคู่สัญญาคือ “ผู้ขายออปชัน (Short Position)” ให้สิทธิแก่ “ผู้ซื้อออปชัน (Long Position)”
ในการซื้อขายสินค้าอ้างอิงในราคาที่กำหนด (Strike Price) ณ วันที่สัญญาครบกำหนดอายุ
โดยผู้ซื้อจะต้องจ่าย “ค่าพรีเมียม (Premium)” จำนวนหนึ่งให้กับผู้ขาย
เพื่อแลกกับการได้รับสิทธิ ซึ่งสิทธิที่ว่านั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- Call Options คือ การให้สิทธิผู้ซื้อในการ “ซื้อสินทรัพย์อ้างอิง” ที่ระบุไว้จากผู้ขาย
- Put Options คือ การให้สิทธิผู้ซื้อในการ “ขายสินทรัพย์อ้างอิง” ที่ระบุไว้จากผู้ขาย
ทีนี้สงสัยไหมว่า การเทรด TFEX ต้องทำอย่างไร ?
หลังจากเปิดบัญชีซื้อขายกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาด TFEX เรียบร้อยแล้ว
ก่อนเริ่มซื้อขายสินค้าใด นักลงทุนต้องวางเงินหลักประกันในบัญชี อย่างน้อยเท่ากับหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin หรือ IM) ที่กำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละสินค้า ก่อนจะส่งคำสั่งซื้อขายได้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-20% ของมูลค่าสัญญา หรือตามที่โบรกเกอร์กำหนด
เหตุผลที่ต้องวางเงินหลักประกันก่อน เพราะสัญญายังไม่ได้มีการส่งมอบสินค้ากันจริง ๆ
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และทำให้ตลาด TFEX มีเสถียรภาพในการชำระเงินกำไรขาดทุน จึงต้องมีกลไกวางหลักประกันก่อนการซื้อขาย นั่นเอง
หลังจากนั้น นักลงทุนก็สามารถส่งคำสั่งซื้อขาย Futures และ Options ใน TFEX ได้เลย
โดยระบุรายละเอียดต่าง ๆ เช่น สินค้าอ้างอิง, สถานะซื้อ (Long) หรือ ขาย (Short), ราคา, จำนวนสัญญา
จากนั้น ระบบจะจับคู่คำสั่งซื้อขายตามหลัก Price then Time Priority แบบเดียวกับตลาดหุ้น
หาก Matching แล้ว ทุกสิ้นวันทำการ ระบบจะคำนวณเงินกำไรขาดทุน และจะปรับยอดเงินหลักประกันให้เป็นปัจจุบัน เรียกว่า Mark to Market จนกว่าจะปิดสถานะ
โดยกำไรขาดทุนดังกล่าว คำนวณจาก “ราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวัน” หรือ Daily Settlement Price
หากมีผลกำไร จะมีการโอนเงินกำไรเข้าบัญชี แต่หากขาดทุน เงินประกันจะถูกหักออกจากบัญชี
ทำให้เงินประกันเปลี่ยนแปลงทุกวัน
ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามสถานะสัญญา, ผลกำไรขาดทุน, หลักประกันอย่างสม่ำเสมอ
ถึงตรงนี้ ขอยกตัวอย่างสินค้าที่ได้รับความนิยมใน TFEX และใกล้ตัวนักลงทุน
อย่างเช่น การเทรดดัชนี SET50 Futures ซึ่งเป็นสินค้าที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น และนักลงทุนน่าจะคุ้นเคย
สมมติมองว่า ดัชนี SET50 มีแนวโน้มขาขึ้น รายละเอียดที่ต้องระบุหรือต้องรู้ในการเทรด เช่น
- สินค้าอ้างอิง = ดัชนี SET50
- สถานะซื้อ (Long) สมมติที่ราคา 1,000 จุด จำนวน 1 สัญญา
- ตัวคูณดัชนี = 200 บาท (ดัชนี SET50 เปลี่ยนแปลง 1 จุด เท่ากับกำไรขาดทุน 200 บาท)
- หลักประกันขั้นต้น (IM) = 10,000 บาทต่อสัญญา
- หลักประกันรักษาสภาพ (MM) = 7,000 บาทต่อสัญญา
ทีนี้ หากราคา ณ สิ้นวันแรก = 1,005 จุด
กำไร = (1,005 - 1,000) x 200 = +1,000 บาท
ยอดเงินประกันในพอร์ต = IM + กำไร = 10,000 + 1,000 = 11,000 บาท
และหากราคา ณ สิ้นวันต่อมา = 995 จุด
ขาดทุน = (995 - 1,005) x 200 = -2,000 บาท
ยอดเงินประกันในพอร์ต = ยอดเงินประกันในวันก่อนหน้า - ขาดทุน = 11,000 - 2,000 = 9,000 บาท
จะเห็นได้ว่า ยอดเงินประกันในพอร์ต จะเปลี่ยนแปลงทุกวัน
อย่างไรก็ตาม หากเงินประกันลดลงต่ำกว่า MM คือ 7,000 บาท
โบรกเกอร์จะเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มที่เรียกว่า Margin Call ให้เท่ากับ IM คือ 10,000 บาท
แต่ถ้านักลงทุนขาดทุนไปเรื่อย ๆ จนยอดเงินประกันในพอร์ตลดลงไปเรื่อย ๆ ถึงระดับหนึ่ง
และนักลงทุนไม่สามารถวางเงินประกันได้ทันเวลาตามที่กำหนด
โบรกเกอร์จะปิดสถานะของนักลงทุนทันที เรียกว่า Forced Sell นั่นเอง
สรุปแล้ว Long Position หรือ Short Position ควรเลือกใช้อย่างไร ?
หากมองว่า สินทรัพย์อ้างอิงมีแนวโน้มขาขึ้นในอนาคต
ควร Long Position คือการเปิดสถานะซื้อสินค้าอ้างอิงล่วงหน้าเพื่อถือครอง
และค่อยปิดสถานะเพื่อขายสินค้าอ้างอิง เมื่อราคาสูงขึ้น
ตรงกันข้าม หากมองว่า สินทรัพย์อ้างอิงมีแนวโน้มขาลงในอนาคต
ควร Short Position คือการเปิดสถานะขายสินทรัพย์อ้างอิง
เพื่อที่ว่าในอนาคต เมื่อราคาสินค้าอ้างอิงปรับตัวลง ก็สามารถปิดสถานะนี้ด้วยการซื้อสินค้าอ้างอิงในราคาที่ถูกลง
จุดนี้เองที่สะท้อนว่า นักลงทุนมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างของราคาสินทรัพย์อ้างอิง แม้ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม
อย่างไรก็ตามใช่ว่า TFEX จะให้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว
เพราะอย่าลืมว่า สินค้าใน TFEX มี Leverage ได้หลายเท่าตัว
หากนักลงทุนคาดการณ์ผิดทาง หรือ Over Trade ก็อาจทำให้พอร์ตลงทุนเสียหายอย่างหนักได้เหมือนกัน
ดังนั้น คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการศึกษา TFEX ให้เกิดความเข้าใจจริง ๆ ก่อนการลงทุน
สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://setga.page.link/fkHu
#TFEX #Derivatives #TFEXStation #Futures #ลงทุนหุ้น #บริหารความเสี่ยง #ทำกำไร
Tag: TFEX
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon